สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ พระพุทธรูปอีกสมัยหนึ่งที่มีพุทธลักษณะงดงามอ่อนช้อย แต่คงไว้ซึ่งความสง่างามสมเป็นรูปสมมติแทนพระพุทธองค์ กอปรกับพระพักตร์ที่เอิบอิ่มเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทุกครั้งที่ได้พบเห็นสักการะบูชา ทำให้ระลึกนึกไปว่าได้เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง นั่นคือ “พระพุทธรูปสุโขทัย” ย้อนหลังไปเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ชนชาติไทยที่มีอาณาเขตอยู่โดยรอบกรุงสุโขทัย นำโดยพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ได้ร่วมมือกันเข้าต่อสู้กับพวกขอมที่ชอบขูดรีดเก็บส่วยอากรจากชาวบ้านจนพวกขอมพ่ายแพ้ไปในที่สุด พ่อขุนผาเมืองจึงเชิญพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัย ทรงพระนามว่า "พ่อขุนศรีอินทราทิตย์" ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง จากศิลาจารึกหลักที่ 1 ให้ข้อมูลว่า สมัยที่กรุงสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดคือสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์พระร่วง ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง พระองค์ก็สามารถขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางไปจนถึงมลายู อีกทั้งการศาสนา พระองค์ทรงเลื่อมใสหลักธรรมคำสอนแห่งพุทธศาสนาจากพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช และทรงอาราธนามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทยังกรุงสุโขทัย และพระพุทธรูปองค์แรกที่ได้รับอาราธนามาจากลังกาด้วย ซึ่งนับเป็นต้นแบบในการสร้างถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาสืบต่อมา เป็นที่เชื่อกันว่าคือ "พระพุทธสิหิงค์" นั่นเอง นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำการก่อสร้างศาสนวัตถุทางพุทธศาสนาไว้มากมาย อาทิ พระอุโบสถ วิหาร ตลอดจนเจดีย์และพระพุทธรูป ฯลฯ ตัวอย่างที่หลงเหลือถึงปัจจุบันและได้รับยกย่องให้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงทั่วโลกก็คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ซึ่งเราท่านทุกคนรู้จักกันดี พระพุทธรูปสุโขทัย เริ่มสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 มาเฟื่องฟูในสมัยพระยาลิไท เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความสนพระทัยในการศึกษาทางพุทธศาสนาอย่างมาก จนสามารถพระราชนิพนธ์หนังสือ "ไตรภูมิพระร่วง" จนสำเร็จได้ อีกทั้งได้รับสมญานามว่า "พระมหาธรรมราชา" ซึ่งมีความหมายว่า ทรงใช้ "ธรรม" เป็นเครื่องมือในการขยายพระราชอำนาจ จะสังเกตได้จากโบราณสถานและโบราณวัตถุอันเป็นปูชนียสถานและปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนามากมายที่สร้างขึ้นในสมัยของพระองค์ อันนับได้ว่าเป็น “ยุคทองของศิลปกรรมสุโขทัย” ทีเดียว มีอาทิ พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปหล่อสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งประดิษฐานในวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้อาราธนามาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร มาจนถึงปัจจุบัน พุทธลักษณะของพระพุทธรูปสุโขทัย นอกจากได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปจากประเทศลังกาดังกล่าวแล้ว ยังต้องอาศัยฝีมือของนายช่างไทยในสมัยนั้นที่ได้ใช้จินตนาการอันบรรเจิดในการรังสรรค์พระพุทธรูปที่มีพุทธศิลปะเฉพาะ ซึ่งฉีกแนวคิดออกจากอิทธิพลเดิมๆ จนมาเป็นพระพุทธรูปที่งดงามและถือเป็นศิลปะอันบริสุทธิ์ อันประกอบด้วยพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ พระเกศ ทำเป็นอย่างเปลวเพลิงสูง พระศก ขมวดเป็นก้นหอยเล็ก และพระพักตร์ เป็นหน้านางหรือหน้ารูปไข่ พระเนตรหลุบต่ำ ทำให้ได้รับความรู้สึกจากพระพักตร์อันเต็มไปด้วยพระเมตตา พระวรกายโดยรวมดูชะลูดอย่างมีทรง และเน้นกล้ามเนื้อดูพองามที่พระนาภี พระกรทั้งสองข้างแสดงปางมารวิชัย ทอดลงมาที่พระเพลาอย่างอ่อนช้อย และเล่นนิ้วพระหัตถ์แต่พองาม ดูไม่แข็งกระด้าง การซ้อนของพระเพลา งอนขึ้นเล็กน้อยและดูรับกันทั้งสองข้าง สังฆาฏิ ทอดยาวลงมาเสมอพระนาภี และปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ และฐานองค์พระ ส่วนมากมักทำเป็นลักษณะฐานเขียง "พระพุทธรูปสุโขทัย" ซึ่งนายช่างผู้ประติมากรรมได้รังสรรค์งานศิลปะและบรรจงสร้างขึ้นอย่างประณีตนั้น แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธองค์อย่างแน่วแน่ โดยได้สอดแทรกทั้งจิตและวิญญาณลงไปในผลงานนั้นด้วย จึงออกมาเป็นพระพุทธรูปที่งดงามอ่อนช้อยมีชีวิตชีวาอันเป็นพุทธลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งผู้ที่ได้สัมผัสพบเห็นแล้วก่อเกิดความศรัทธาและความปีติได้อย่างน่าอัศจรรย์ครับผม