ปศุสัตว์ เผยเนื้อหมูแพงจากหลายปัจจัย ส่งผลให้ระบบผลิตได้ลดลงแต่ความต้องการยังคงเพิ่มต่อเนื่อง ​วันที่ 29 ธ.ค.64 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวในประเด็นเนื้อหมูปรับราคาแพงสูงขึ้นในท้องตลาด โดยสาเหตุมาจากปัจจัยเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารสัตว์ ยาในการรักษาโรค แล้วยังมีปัจจัยเรื่องการพบโรคระบาดในสุกรที่ก่อความเสียหายต่อสุกรมีชีวิตที่จะเข้าสู่ตลาดเนื่องจากต้องมีการทำลายสุกรมีชีวิตเพื่อควบคุมโรค ส่งผลทำให้สุกรขาดตลาด รวมทั้งก่อนหน้านี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยและรายกลางเกิดความตื่นตระหนกต่อข่าวของการเกิดโรคระบาดในสุกรจึงได้เร่งขายสุกรมีชีวิตออกจากฟาร์มทำให้ปัจจุบันสุกรมีชีวิตในระบบการผลิตมีปริมาณที่ลดลง จึงทำให้ปัจจุบันราคาจำหน่ายเนื้อสุกรเพื่อการบริโภคมีราคาที่สูงขึ้น ​กรมปศุสัตว์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพสัตว์ ได้ดำเนินการกำจัด ควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์อย่างต่อเนื่อง รายงานสถานการณ์ของโรคระบาดในสุกรของประเทศไทยจากระบบการเฝ้าระวังโรคระบาดทั้งเชิงรุกและเชิงรับ พบว่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2561 – 2564 ประเทศไทยมีการระบาดของโรคที่สำคัญในสุกร ได้แก่ โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) Porcine reproductive and respiratory syndrome เป็นโรคหรือกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกรจำนวน 707 ครั้ง โรคอหิวาต์สุกรหรือ Classical Swine Fever (CSF) จำนวน 24 ครั้ง และโรคปากและเท้าเปื่อย (Food and Mouth disease : FMD) จำนวน 11 ครั้ง ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังคงสถานะปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) แต่ยังคงมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีการเกิดโรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ กรมปศุสัตว์จึงมิได้นิ่งนอนใจยังคงดำเนินงานตามแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อเป็นการรักษามูลค่าของอุตสาหกรรมการผลิตสุกรไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท สำหรับกรณีราคาเนื้อสุกรที่ปรับสูงขึ้นในท้องตลาดนั้น แนวโน้มเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพสัตว์ในฟาร์มสุกรที่ต้องมีการควบคุมและกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ทำให้มีปริมาณสุกรที่ลดลง ต้องมีการพักคอกสัตว์ก่อนทำการเลี้ยงรุ่นการผลิตใหม่ และต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และการปรับระบบการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เพื่อเป็นการควบคุมโรคซึ่งเป็นข้อจำกัดในเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยซึ่งบางรายไม่มีระบบการควบคุมโรคทำให้ไม่นำสุกรมาลงเลี้ยงเพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคทำให้เสียหาย จึงส่งผลให้ปริมาณในระบบการผลิตสุกรในประเทศไทยลดลงแต่ยังมีความต้องการในตลาดที่สูง ดังนั้นจึงทำให้ราคาเนื้อสุกรในท้องตลาดปรับตัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว กรมปศุสัตว์จะได้หารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดหาแนวทางแก้ไขต่อไป ​อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการควบคุมโรคและลดความเสียหายให้เกิดน้อยที่สุด ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรเป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคระบาดในสุกรเพื่อสามารถควบคุมการระบาดของโรคให้อยู่ในวงจำกัด และขอให้ติดตามข่าวสารการแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิดจากกรมปศุสัตว์ หากพบสุกรที่สงสัยว่าป่วยหรือตายด้วยโรคระบาด หรือด้วยอาการผิดปกติไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ทันที หรือผ่านทางแอพพลิเคชั่นมือถือ “DLD 4.0” หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 063 225 6888 เพื่อเข้าทำการตรวจสอบทันที นอกจากนี้ หากประชาชนต้องการบริโภคเนื้อสุกรขอให้เลือกซื้อเนื้อสุกรที่มาจากแหล่งผลิตและผู้จำหน่ายที่ได้รับสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” และต้องนำมาปรุงสุกทุกครั้งก่อนการบริโภคเพื่อสุขอนามัยที่ดีและขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยจากการบริโภคเนื้อสุกร ไม่ต้องตื่นตระหนกกับข่าวสารที่มีข้อมูลไม่แน่ชัด หากพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือประชาชนทั่วไปต้องการทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับภาคปศุสัตว์หรือข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สามารถติดตามผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ “DLD 4.0” หรือ www.dld.go.th ได้ตลอดเวลา