“กษิต”จวกสิ้นศักดิ์ศรีปล่อยเครื่องบินรบพม่าประชิดแดนไทยซัด “ประยุทธ์-ดอน”หูบอดยืนข้างกองทัพหม่องฆ่าประชาชน “หมอซินเทีย”ชี้ระบบสาธารณสุขพม่าพังทลาย กสม.แนะรัฐเอาให้ชัดนโยบายมนุษยธรรม
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก เนื่องจากกองทัพพม่าบุกโจมตีกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU ) ทำให้มีชาวบ้านจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยงในประเทศพม่า หนีข้ามแม่น้ำเมยมาหลบภัยในฝั่ง อ.แม่สอด จำนวนหลายพันคน ว่า ก่อนหน้านี้ทุกคนต่างทราบดีว่าหลังสิ้นฤดูมรสุม กองทัพพม่าจะต้องทำการกวาดล้างใหญ่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารในพม่า รวมทั้งกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่างก็ทราบดี ซึ่งรัฐบาลไทยร่วมอาเซียนพยายามบอกให้ทหารพม่ายุติการใช้ความรุนแรง แต่ พล.อ.มิน ออง หล่าย ผู้นำทหารพม่ากลับนิ่งเฉย แถมนายดอนยังเดินทางเข้าไปประเทศพม่าโดยขนข้าวสารไปมอบให้ โดยไม่รู้ว่าได้หารืออะไรกันบ้าง
นายกษิต กล่าวว่าพวกตนได้ร่วมกันลงชื่อทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง แต่นายกรัฐมนตรีและนายดอนไม่ได้ทำอะไรเลยที่จะแก้ปัญหาผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น แถมยังใช้กฏหมายตรวจคนเข้าเมืองจับกุมคนที่หนีการปราบปรามจากทหารพม่าเข้ามาในไทย ซึ่งเราอยากให้ยกเลิกกฏหมายนี้เพราะเป็นสถานการณ์พิเศษ
“พวกเราพยายามบอกคุณประยุทธ์ และคุณดอน รวมถึงแม่ทัพนายกอง แต่เหมือนพวกเขาจะเป็นคนหูบอดเพราะไม่ได้ทำอะไรเลย พอตอนนี้เกิดสถานการณ์สู้รบซึ่งกองทัพพม่าส่งเครื่องบินรบมาไล่ฆ่าคนที่อยู่บริเวณนั้น ก็ยังไม่มีการจัดระบบหรือแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งๆที่ตลอดประวัติศาสตร์ของบ้านเราได้ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพไว้มากมาย ทั้งคนกัมพูชา เวียดนาม ลาวและพม่า แต่รัฐบาลไทยชุดนี้กลับนิ่งเฉยเพราะไม่ได้ดูประวัติศาสตร์ ปล่อยให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกทหารพม่ายิงโดยไม่ยอมเปิดพรมแดนด้านมนุษยธรรม และไม่แยแสเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” นายกษิต กล่าว
นายกษิตกล่าวถึงกรณีที่เครื่องบินรบของพม่าสามารถบินเข้ามาประชิดชายแดนไทย ว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีอธิปไตยและความมั่นคงชายแดนของประเทศ เพราะหากเครื่องบินรบของไทยไปบินเลียบชายแดนประเทศเพื่อนบ้านก็คงไม่มีใครยอมเช่นกัน แต่รัฐบาลชุดนี้กลับยอมให้ทหารพม่านำเครื่องบินรบมาใกล้ชายแดนมาก นอกจากนี้ยังมีปืนใหญ่ข้ามมาตกจนทำให้บ้านเรือนราษฏรไทยได้รับความเสียหาย
“ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมคุณประยุทธ์ คุณดอน ถึงไม่ออกมาเรียกร้องเพื่อให้แนวชายแดนเป็นเขตปลอดการบิน (No Fly Zone ) ขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติก็ไม่ได้ทำอะไร พวกเขานิ่งเฉยกันได้อย่างไร เขาเกรงใจทหารพม่าเกินไป โดยไม่ได้คิดถึงมนุษยธรรม ไม่คิดถึงคนที่ถูกทหารพม่ายิงทิ้ง รัฐบาลพม่าเห็นว่าคนกะเหรี่ยงเป็นหอกข้างแค่มาโดยตลอดจึงต้องกำจัดทิ้ง จึงมีคำถามว่าเราจะยืนข้างประชาชนพม่า หรือยืนข้างแม่ทัพนายกองพม่าที่ยึดประเทศนี้มาแล้ว 40-50 ปี” นายกษิต กล่าว
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การที่เห็นเพื่อนมนุษย์ตายต่อหน้าแล้วไม่ทำอะไรเลย และยังเกรงใจแม่ทัพนายกกองพม่าที่ฆ่าคนมากกว่า เท่ากับสมรู้ร่วมคิดกับแม่ทัพนายกองพม่าที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งวันหนึ่งอาจถูกฟ้องต่อศาลโลกได้ด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์มองว่าเป็นเรื่องภายในของพม่า นายกษิต กล่าวว่า หากรัฐบาลเพื่อนบ้านประเทศหนึ่งกำลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีถือว่าเป็นเรื่องภายในของเขา แต่หากเขาฆ่าคนในประเทศของเขาถือว่าเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือบริเวณชายแดนไทยเราได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆ เราจึงมีสิทธิเต็มที่ว่ากระทบต่อความมั่นคง และเรื่องมนุษยธรรมอยู่เหนือเรื่องการแทรกแซงกิจกรรมภายในเพื่อให้ความโหดร้ายยุติลง เพราะทหารพม่ามีอาวุธครบมือทั้งที่ได้รับจากรัสเซียและจีน ดังนั้นเราต้องเห็นใจประชาชนพม่าที่หนีการถูกเข่นฆ่า
ขณะเดียวกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกเอกสารข่าวเผยแพร่แสดงความห่วงใยในสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมทั้งแนะรัฐบาลเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัย-ไม่ผลักดันกลับสู่อันตราย โดยระบุว่าความไม่สงบจากการสู้รบในประเทศเมียนมาบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาที่ยังคงเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นเหตุให้ชาวเมียนมาบางส่วนซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์หนีภัยข้ามแม่น้ำเมย จ.ตาก เข้ามายังพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนประเทศไทย และต้องประสบความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ขาดอาหาร น้ำสะอาดและยารักษาโรคที่เพียงพอ ขณะที่ชุมชนชาวไทยบริเวณชายแดนมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเกิดความหวาดกลัวจากเสียงสู้รบและอากาศยานทางการทหารอยู่เป็นระยะ กสม. ได้ติดตามสถานการณ์ ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องด้วยความห่วงกังวลยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของบุคคลและชุมชน
เอกสารเผยแพร่ของ กสม.ระบุว่า ที่ผ่านมา กสม.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนข้อมูล/ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงลงพื้นที่หมู่บ้านชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รับฟังข้อมูลจากภาคประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน จากกรณีความไม่สงบที่เกิดขึ้น
ในเบื้องต้น กสม. มีความเห็นว่า ในการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา รัฐบาลไทยควรเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเคารพต่อหลักสากลการห้ามผลักดันกลับสู่อันตราย (Non-Refoulement) อย่างเคร่งครัด และกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมาซึ่งมีทั้งแรงงาน ผู้หนีภัยทางการเมือง และผู้หนีภัยจากการสู้รบ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 รวมถึงการป้องกันและรักษาโรค โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ควรมีมาตรการในการดูแลเพื่อให้เข้าถึงการตรวจคัดกรอง การรักษา รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ด้วย
กสม.ระบุดด้วยว่า ควรผลักดันให้เกิดกลไกท้องถิ่นที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนจิตอาสา ฯลฯ ในการระดมสิ่งของความช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบ เนื่องจากชุมชนไทยบริเวณชายแดนซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับผู้หนีภัยต้องการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้หนีภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์สู้รบในประเทศเมียนมาด้วย สำหรับการป้องกันภัยอันตรายให้แก่ชุมชนไทยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีการดูแลด้านความปลอดภัย เช่น การทำบังเกอร์ป้องกันภัยแก่ชุมชน จัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ และซักซ้อมความเข้าใจแก่ประชาชนในชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากความไม่สงบด้วย ทั้งนี้ กสม.มีแผนที่จะลงพื้นที่เพื่อประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้นกับทางจังหวัดตากและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วย
ขณะที่ พ.ญ.ซินเทีย หม่อง ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิกและได้รับรางวัลแมกไซไซปี 2545 กล่าวว่า ตลอดแนวชายแดน เราบอกไม่ได้เลยว่าประชาชนมีความปลอดภัย การสู้รบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 การใช้กำลังทหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ประชาชนในชุมชนชาติพันธุ์ แต่หมายถึงประชาชนในพม่าทั้งประเทศต่างตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย ทั้งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐชิน และเมืองต่างๆ ในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ด้านสาธารณสุข ครู ต่างได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร มีการจับกุม คุมขังสังหาร ไม่ใช้แค่ตามแนวชายแดนแต่เกิดขึ้นทั่วประเทศพม่า
“ประชากรที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไม่มีความปลอดภัย มีการทิ้งระเบิด ยิงอาวุธหนักอย่างต่อเนื่อง เราอยู่ตรงนี้ก็ได้ยินเสียง ในสถานการณ์แบบนี้ต่างมีความเครียด จะหาที่ปลอดภัยตรงไหน จะอยู่อย่างไรให้ยังคงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สตรี เด็ก ผู้พิการ เราเห็นภาพบางคนเป็นประชาชนชาติพันธุ์ บางคนเป็นชาวพม่า ทุกคนล้วนแล้วแต่ถูกกดทับและกระทำย่ำยีโดยเผด็จการทหารพม่า สถานการณ์แบบนี้เป็นภาวะที่ตึงเครียดมาก ทุกคนจำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ทำอย่างไรที่จะดูแลกลุ่มเปราะบาง สตรีมีครรภ์ สตรีแรกคลอด ทารก นอกจากนี้ต้องดูแลความปลอดภัยให้แก่เด็กผู้หญิง สตรี ให้มีพื้นที่ปลอดภัย อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีไม่ต้องเผชิญปัญหาการละเมิด”พ.ญ.ซินเทีย กล่าว