การสร้างสังคมประชาธิปไตยเราต้องเข้าใจคำว่าพลเมือง มีความหมายแตกต่างจากคำว่า ประชาชน และ คำว่า ราษฎร อย่างไร ทั้งๆที่พลเมืองก็คือประชาชนในประเทศ คำตอบก็คือ พลเมืองจะแสดงออกถึงการรักษาสิทธิ เสรีภาพ ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการแสดงออกจะต้องมีหลักพื้นฐานสำคัญ 3 ประการ คือ
•เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
•เคารพสิทธิ เสรีภาพ และกฎกติกาของสังคมที่เป็นธรรม
•รับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ
ประเทศไทยมีระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม การมีส่วนร่วมทางตรงคือ การเมืองภาคพลเมือง เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การทำประชาพิจารณ์ รวมไปถึงการทำเวทีประชาคมต่างๆ ส่วนการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่หลายคนรู้จักกันดีนั้นเป็นการมีส่วนร่วมทางอ้อม การที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง ย่อมเกิดจากประเทศไทยมีพลเมืองที่ดี ที่ทำหน้าที่และรักษาสิทธิของตนเองอย่างมีอารยะ พร้อมๆกับการปฏิรูปค่านิยมใหม่ ให้คนไทยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ละเมิดต่อผู้อื่น ภายใต้บริบทของสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดย ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่1 มีบทบาทในการพัฒนาการเมืองและสร้างความสามัคคีปรองดองให้คนในชาติ ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย กอ.รมน.ภาค และจังหวัด ในการจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างแนวคิดตามประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ผ่านวิถีชีวิตของชุมชนต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง
พล.ท.อุดม โกษากุล ผอ.ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวถึงการเตรียมวิทยากรพลเมืองประชาธิปไตย ว่า “ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่1 กอ.รมน.มีบทบาทหน้าที่ ในเรื่องการดำเนินการด้านความมั่นคงแห่งรัฐ โดยยึดกรอบยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี ในแผนย่อยเรื่องการรักษาความสงบภายในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย การบูรณาการ ผสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนส่งเสริมความมั่นคงสถาบันหลักของชาติ การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ การพัฒนาการเมืองและสุดท้ายการสร้างความรัก ความปรองดอง และความสามัคคีของคนในชาติ กิจกรรมในวันนี้จัดให้มีการอบรมสัมมนาเรื่องการเตรียมวิทยากรพลเมืองประชาธิปไตย ซึ่งผู้เข้าอบรมประกอบไปด้วย กอ.รมน.จังหวัด และ กอ.รมน.ภาค โดยมีวิทยาการจากสถาบันประปกเกล้าเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ และเทคนิคต่างๆ กิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียมวิทยาการขบวนการเพื่อสร้างการขับเคลื่อนกลุ่ม เวทีสานเสวนา หัวข้อการอบรมในครั้งนี้ประกอบด้วย การให้ความรู้ในเรื่องหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีไทย การสร้างพลเมืองยุคใหม่ยุคดิจิทัล พลเมืองกับการมีส่วนร่วมในทางการเมือง การเรียนรู้ประชาธิปไตยอย่างง่ายๆ ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่ประชาชน จุดประสงค์หลักในวันนี้คือการให้ความรู้ในเรื่องในการเป็นวิทยาการขบวนการสานเสวนานั้น ท่านต้องมีความรู้อะไรบ้าง กระตุ้นให้เกิดการแสดงความคิดเห็น วิทยาการต้องไม่เป็นผู้ชี้นำตามที่ตัวเองต้องการ แต่มองเห็นประโยชน์และความคิดเห็นของกลุ่มผู้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นศูนย์กลาง
และในการดำเนินงานในปี 2564 ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมเยาวชนประชาธิปไตยผ่านเวทีสานเสวนา ในโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ กิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชนประชาธิปไตย กิจกรรมสานเสวนาการมีส่วนร่วมในกลุ่มอาชีพในพื้นที่ 77 จังหวัด นอกจากการเข้ารับฟังและช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องการประกอบอาชีพแล้วยังสอดแทรกความรู้และสร้างความตระหนักรู้ในหน้าที่พลเมืองประชาธิปไตย ภาครวมของความสำเร็จในปี 2564 ทางกอ.รมน.มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามที่ได้ตั้งไว้ ทั้งเรื่องตัวชี้วัดและการประเมินค่า สามารถดำเนินงานครอบคลุมทุกกลุ่มตามที่ตั้งไว้ ทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปและเยาวชน ความสำเร็จในปี 2564 นี้จะถูกนำไปถอดบทเรียน เพื่อนำไปสู่แนวทางการดำเนินงานในปี 2565 ต่อไป ”
การประกอบอาชีพที่ สมารถสร้างรายได้ สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างความมั่นคงแห่งรัฐได้ การประกอบอาชีพโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงให้กับตนเองและชุมชน
ปัจจุบันเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการอาหารโลก ก็คือ โปรตีน ที่นำมาทดแทนเนื้อสัตว์ค่ะ ซึ่งมีแนวโน้มที่ขยายตัวอีกในอนาคต เนื่องจากการอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นตัวการสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทางเลือกอื่นนอกจากเนื้อสัตว์จริงๆ กลายมาเป็นที่นิยมมากขึ้นมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดลพบุรี ได้สนับสนุนการเพาะพันธุ์เห็ด ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลบางงา อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี โดยมีปารชญ์เพื่อความมั่นคง ที่จะทำหน้าที่ต่อยอด องค์ความรู้ขยายผลให้แก่คนในชุมชน
นายวินัย จำปาทอง ต้นแบบเกษตรกรที่ยั่งยืนทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยยึดความพอเพียง กล่าวว่า “การทำเห็ดต้องทำให้รอด ไม่ใช่ทำให้รวยเดินตามรอยพ่อหลวงที่ท่านรับสั่งว่าเศรษฐกิจพอเพียงทำน้อยได้มาก เลี้ยงตัวเองด้วยเห็ด ตอนแรกเพาะเห็ดในตะกร้า และขยายเป็นแบบคอนโดได้ผลผลิตที่ดี และได้เข้าการอบรม ดูงานเรื่องการทำเห็ดจากทาง กศน.และได้รับการส่งเสริมจาก กอ.รมน. ทาง กอ.รมน.นำประชาชนเข้ามาศึกษาดูงาน และได้ฝึกอบรมให้ประชาชนเหล่านั้น นำความรู้ไปต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพต่อไป ” นับเป็นการสร้างอาชีพรายได้ให้ ที่ยั่งยืนกับคนในชุมชน
นอกจากอาชีพการเพาะเห็ดแล้ว อาชีพการเผาถ่านจากไม้โกงกาง ก็นับว่าเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และยังสามารถเป็นสิ่งค่าส่งออกไปสู่ต่างประเทศอีกด้วย พื้นที่ชุมชนบ้านยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพในการเผาไม้ทำฟืน โดยมีการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มาอย่างยาวนาน และหนึ่งในนั้นก็คือผืนป่าโกงกางที่มีเป็นจำนวนมากในพื้นที่ และได้มีการนำไม้โกงกางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถ่าน พร้อมกับการส่งเสริมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ให้มีความอุดมสมบูรณ์โดยการนำของผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับประชาชนในพื้นที่
นายปริญญา ดรุณศรี กำนัน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวถึงความเป็นมาของการทำถ่านจากไม้โกงกาง ว่า “ชาวบ้านตำบลญี่สาร อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่เป็นป่าชายเลน มีอาชีพทำฟืนเป็นอาชีพดั้งเดิม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดอาชีพเผาถ่านจากไม้โกงกาง พื้นที่ในตำบลยี่สารจะเป็นพื้นที่ปลูกป่าโกงกางทั้งพื้นที่ การทำถ่านไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ เนื่องจากถ่านเป็นเชื้อเพลิง มีความต้องการตลอดไป การทำถ่านจะทำให้เราได้เรียนรู้ตั้งแต่การปลูก การตัด จนถึงกระบวนการการเผา การทำถ่านทำให้เกิดประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทางตรงคือรายได้ ทางอ้อมคือได้ระบบนิเวศกลับคืนมา เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและอนุบาลสัตว์น้ำ”
ในปัจจุบันส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนร่วมกันปลูกสวนป่าโกงกาง สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เกิดอุตสาหกรรมการเผาถ่านจากไม้โกงกาง มีพื้นที่ปลูกป่าโกงกางในกรรมสิทธิ์กว่า 1,000 ไร่ผลผลิตถ่านจากชุมชนยี่สารนอกจากขายในประเทศแล้วยังสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ เนื่องจากถ่านจากไม้โกงกางเป็นถ่านที่ให้ความร้อนสูง เผาไหม้นานและมีขี้เถ้าน้อยการทำถ่านจากไม้โกงกางเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ ที่มั่นคงให้กับสมาชิกในชุมชน
ความมั่นคงแห่งรัฐที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เพราะพลเมืองรู้จักสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากการมีรายได้ที่มั่นคง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รายการเดินหน้าปฏิรูป ออกอากาศวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม 2564 ทาง ททบ.5 เวลา 16.30-17.20 น.