ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ความหวังทำให้มีชีวิตอยู่ แต่ความฝันทำให้ชีวิตมีความสุข
อนงค์นาถเป็นคนชอบคำคมและสุภาษิต ตอนที่ทำงานในโรงงานที่สมุทรปราการ พอมีเวลาว่างหรือวันหยุดเธอชอบไปพักผ่อนตามวัด ไปทำบุญถวายสังฆทานบ้าง ปล่อยนกปล่อยปลาบ้าง ตามความเชื่อว่าเกิดชาติหน้าชีวิตจะได้ดีกว่านี้ หลายวัดชอบเขียนคำคมและสุภาษิตต่าง ๆ ไว้ตามต้นไม้และศาลา เธอก็จำมาคิดมาใช้กับชีวิตขอตัวเอง มีวัดหนึ่งเอาสุภาษิตฝรั่งมาติดไว้ ตอนนั้นเธอเริ่มเรียนภาษาอังกฤษในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนใกล้ ๆ โรงงานมาบ้าง ก็พอจะอ่านภาษาอังกฤษได้นิดหนึ่ง เธอก็จดมาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่เธอชอบมากก็คือ “Still hope, still Life. - เมื่อยังหวังก็ยังมีชีวิต” และ “ Ten scars make a man. – สิบแผลเป็นสร้างคนให้เป็นคน” โดยเฉพาะอันหลัง ที่ตอนแรกเธอก็ไม่รู้ความหมายอะไรมากนัก จนได้ไปคุยกับพนักงานฝ่ายบุคคลที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยมา เขาก็อธิบายให้ฟังว่า คนเราต้องต่อสู้ชีวิต บางคนต้องผ่านปัญหาและอุปสรรคแทบเป็นแทบตายมาหลายครั้ง สุภาษิตนี้จึงมีความหมายว่า คนที่ประสบความสำเร็จ แม้จะต้องทุกข์ยากสักปานใดก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ เหมือนนักรบที่บาดเจ็บและฝากแผลเป็นไว้ตามร่างกายนับสิบแผล แต่ยังเอาชีวิตรอดมาได้ นั่นแหละคือยอดคน วีรบุรุษและวีรสตรีทั้งหลายต่างก็ต่อสู้มาแบบนั้น
หลังจากที่อนงค์นาถได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน เธอก็ทำงานอย่างขันแข็ง ซึ่งในตำแหน่งนี้ต้องเข้าร่วมประชุมกับทางอำเภอบ่อยมาก แม้จะเป็นเพียงนักปกครองท้องที่ตัวเล็ก ๆ สภาพและฐานะก็ประมาณลูกจ้างประจำคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นข้าราชการใหญ่โตอะไร เงินเดือนก็ไม่กี่พันบาท ต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำของแรงงานทั่วไปด้วยซ้ำ แม้จะถูกเรียกให้ดูโก้หรูว่า “ผู้ช่วยนายอำเภอ” แต่ก็ทำงานเกินกว่าตำแหน่งนั้นมาก เพราะต้องรับนโยบายของทุกกระทรวงมาปฏิบัติ ถ้านับจำนวนเจ้านายตามจำนวนกรมของทุกกระทรวงที่มอบหมายงานต่าง ๆ ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทำนั้น ก็ราว ๆ 200 กรม คือมีเจ้านาย 200 กว่าคน และด้วยความใกล้ชิดลูกบ้าน ก็ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ในยุคที่ทุกคนมีมือถือก็จะต้องเปิดเครื่องไว้ตลอด แต่อนงค์นาถก็ไม่ย่อท้อเบื่อหน่าย เพราะเธออาจจะคิดไม่เหมือนใคร โดยกำนันผู้ใหญ่บ้านบางคนคิดว่า ตำแหน่งนี้ก็คือตำแหน่งที่มีอิทธิพล หรือเพื่อรักษาอิทธิพลนั้นไว้ โดยเฉพาะกำนันผู่ใหญ่บ้านที่สืบทอดตำแหน่งกันมาจากปู่ย่าตายายหรือลุงป้าน้าอา ที่จะต้องครองอิทธิพลในพื้นที่ต่อไป เพราะบางคนก็ร่ำรวยมาจากการเป็นนายหน้าติดต่อกับทางราชการ เช่น เป็นผู้ประมูลงานรับเหมา หรือวิ่งเต้นติดต่อเรื่องต่าง ๆ รวมถึงเป็นนายทุนให้กู้ยืมและขายหวยใต้ดิน ส่วนเธอนั้นคิดว่าเธอมีบุญมาก จากคนที่ไม่มีอะไร กำพร้าพ่อแม่ ไม่มีเทือกเถาเหล่ากอ มีแต่สองมือสองเท้าและหนึ่งใจ ความรู้ก็ไม่มากแค่ ปวช.ที่ได้มาจากการศึกษานอกโรงเรียน แต่ได้ทำบุญช่วยเหลือคน คือได้เป็น อสม.ก่อน จากนั้นก็ได้มาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เธอต้องทำงานท่ามกลางการดูหมิ่นเหยียดหยามมากมาย และยิ่งเธอชนะเลือกตั้งเข้ามาในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านนี้ได้ด้วยการจับผิดคู่แข่งที่เป็นเจ้าถิ่น เธอก็ยิ่งต้องต่อสู้อย่างหนัก เธอถูกปล่อยข่าวว่าเป็นลูกโสเภณี คลอดลูกแล้วทิ้ง และพ่อก็น่าจะเป็นแมงดาที่ไม่ได้รับผิดชอบดูแลอะไร ญาติพี่น้องก็พากันรังเกียจ ไม่มีใครคบหรือนับญาติด้วย แต่เมื่อเธอทำผลงานเอาใจใส่ดูแลชาวบ้านด้วยดี คำกล่าวหาเหล่านั้นก็ทำอะไรเธอไม่ได้ แต่ก็ยังมีการจับผิดเธออยู่เป็นระยะ ทั้งเรื่องบ้านและที่ดินที่เธอเช่าหลวงอยู่ ก็บอกว่าเธอได้มาโดยมิชอบ สวมสิทธิ์ของคนอื่น รวมถึงเรื่องที่เธอคบชู้สู่ชาย ชอบเลี้ยงเด็กและคนงานหนุ่ม ๆ เอาปรนเปรอกามารมณ์ ซึ่งเรื่องที่ดินเธอก็มีลูกหลานของย่านิดและปู่ชิดยืนยันว่าเป็นสิทธิ์ของเธอจริง ๆ ส่วนเรื่องที่มีผู้ชายเข้าออกในบ้านเธอหรือที่เธอไปหาคนเหล่านั้น ก็ปรากฏว่าเป็นเด็กที่เธออุปการะให้เสื้อผ้าข้าวของหรืออาหารและเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างนั้น ก็คือพวกเด็กยากจนหรือคนงานที่มาขอความช่วยเหลือจากเธอ เพราะมีคนแนะนำว่าเธอเป็นนักสู้เรื่องความเป็นธรรมและชอบช่วยเหลือผู้คน โดยเฉพาะคนยากคนจนแบบที่เธอเคยเป็นมาตอนเด็ก ๆ ที่เธอหวังว่าหากเธอได้ช่วยเด็กและคนเหล่านั้นแล้ว ก็จะเป็นกุศลผลบุญทำให้เธอไม่กลับไปมีชีวิตแบบนั้นอีกในชาติหน้า
ในวันที่มีการอบรม “ว่าที่บัณฑิต” คือผู้ใกล้จะจบในหลักสูตรกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และก่อนจะจบนักศึกษาจะต้องมากินมานอนที่มหาวิทยาลัยร่วมกับเพื่อน ๆ อีก 400 กว่าคนที่มหาวิทยาลัย ผมได้เป็นอาจารย์ประจำกลุ่มที่มีเธอเป็นสมาชิกกลุ่มอยู่ด้วย จึงได้มีการพูดคุยถามไถ่ถึงเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยความห่วงใย เพราะได้ทราบถึงชีวิตที่ทุกข์ยากลำบากของเธอมาพอสมควรตั้งแต่ที่ได้ไปพักโฮมสเตย์ของเธอตอนที่ไปสอนวิชาต่าง ๆ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรานั้นแล้ว เธอบอกว่าตอนนี้เธอมีปัญหาใหญ่อยู่เรื่องหนึ่ง ก็คือนักการเมืองใหญ่ในจังหวัดกำลังรวบรวมบรรดากำนันผู้ใหญ่บ้าน นัยว่าเพื่อเตรียมทำศึก “ช้างชนช้าง” ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยได้มีคู่แข่งเป็นลูกชายของนายทุนใหญ่ภาคตะวันออก ที่มีกิจการค้าขายข้ามชาติและมีโรงงานอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นด้วย กำลังคิดจะมาลงสมัครในนามพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล รวมถึงที่กระทรวงมหาดไทยได้ “กะพริบไฟเขียว” ส่งสัญญาณเพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ ดูแลและให้การสนับสนุนว่าที่ผู้สมัครคนนี้ให้ดีด้วย ซึ่งเธออึดอัดและไม่สบายใจมาก ผมจึงบอกว่าให้เธอยึดคติที่ว่า “สุจริตคือเกราะบังศาสตร์พ้อง” ที่หมายความว่า ให้เธอทำอะไรด้วยความสุจริตและยึดถือความถูกต้องเป็นที่ตั้ง ผมบอกเธอว่าผมก็ยึดคตินี้มาตลอดชีวิตการทำงาน และเอาตัวรอดจาก “น้ำเน่า” ในทางการเมืองนี้เรื่อยมา ยกตัวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เราจะช่วยใครก็ได้ที่คน ๆ นั้นทำตัวถูกต้อง ถ้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ต้องไม่คดโกงหรือใช้อิทธิพลข่มขู่คุกคามบีบบังคับใคร และถ้าเราทำตัวอย่างนี้แล้วเราจะอยู่ในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านไม่ได้ก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะตำแหน่งเหล่านี้คือหัวโขน ไม่จีรังยั่งยืนอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับคนโกงหรือผู้มีอิทธิพลก็ไม่อาจจะอยู่ค้ำฟ้า มันก็ต้องมีวันหมดอำนาจอิทธิพล หรือที่สุดมันก็ต้องตายไปจากโลกนี้ ไม่มีทางจะอยู่ค้ำฟ้าตลอดไปได้
ผมบอกเธอว่าจงอย่าแค่หวัง แต่ขอให้ฝันไว้เสมอ ฝันว่าชีวิตที่เหลืออยู่เราต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราก็จะมีความสุขไปทั้งชีวิต ไม่เพียงแต่เป็นความสุขของเรา แต่เป็นความสุขของสังคมรอบตัวเรานั้นด้วย