ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “มนุษย์ทุกคนมักมีปัญหาของชีวิตดำรงอยู่โดยตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นในมิติดังกล่าวนี้ถือเป็นความยากลำบาก เป็นอุปสรรคอันสำคัญต่อการดำเนินชีวิตให้อยู่ได้ทั้งสภาวะที่เริงร่าและสุขสงบด้วยหัวใจที่อิ่มเอม และเต็มไปด้วยความสุขแท้ในความหมายแห่งความเป็นเสรี” “อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้” (Freedom from the known) บทบันทึกแห่งคำสอนสู่ความเป็นเสรีที่ลึกซึ้งและสื่อถึงความเข้าใจในก้นบึ้งแห่งปมปริศนาที่สับสนและกักขังจิตวิญญาณภายในของมนุษย์ให้โดดเดี่ยวและเคี่ยวกรำอยู่กับปัญหานานาประการของ “จ.กฤษณมูรติ” (J.Krishnamurti) ปราชญ์แห่งยุคสมัยคนสำคัญชาวอินเดีย ซึ่งถูกถ่ายทอดแปลเป็นภาษาไทยด้วยมิติภาษาแห่งความเข้าใจในศรัทธาที่ลึกซึ้งโดย “สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์”... หนังสือแห่งการบันทึกเล่มนี้ ได้ถูกยกย่องให้เป็นพื้นฐานของคำสอนทั้งหลายทั้งปวงของท่าน... เป็นดั่งความคิดรวบยอดที่อธิบายสอนสั่งแด่เพื่อนมนุษย์ให้ตระหนักและหลุดพ้นจากห้วงเหวของความทุกข์แห่งความยากลำบากที่ก่อเกิดและรุกรานเข้าสู่กายและใจจนมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกต้องไร้หวัง หมดพลังใจที่จะต่อสู้ และขาดพุทธิปัญญาที่จะเยียวยาแก้ไขด้วยลำพังตนเอง จากประโยคคำพูดของท่าน “กฤษณมูรติ” ที่ว่า “ชีวิตของเราช่างตื้นเขินและว่างเปล่า... เราต่างเป็นคนมือสอง” ถือเป็นคำกล่าวเชิงท้าทายและตีแสกหน้าความมีอยู่และเป็นอยู่อันแท้จริงของเหล่ามนุษย์ยุคใหม่ที่หลงใหลพอใจและรับเอากระแสแห่งทัศนคติอันบางเบาและตื้นเขินจากภายนอกมาเป็นสมบัติทางปัญญาของตนอย่างสยบยอมและเซื่องๆ ไร้ชีวิตชีวา... แทนการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อแสวงหาทางออกแห่งการหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ของตนด้วยตนเอง... ดูเหมือนว่าจู่ๆ เราก็พากันสยบยอมให้สิ่งอันไร้สาระคุณค่า และมืดมนกรูกันเข้ามามีอำนาจเหนือเราอย่างเบ็ดเสร็จ... ไม่ว่าจะในทางจิตใจ... สติปัญญา ตลอดจนฐานรากแห่งการยึดพยุงความมั่นคงของชีวิต... เหตุนี้ความเป็นเสรีของมวลมนุษย์จึงถอยไปไกลจากวิถีแห่งความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้นทุกที... นั่นหมายถึงว่าความเป็นอิสระเสรีอันแท้จริงจะเกิดขึ้นกับความเป็นมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ผู้นั้นต้องรู้จักแสวงหาตนเองอันหมายถึงว่ามนุษย์แต่ละคนต้องหมั่นเฝ้าสังเกตถึงความเป็นไปภายในแห่งตน... เฝ้ามองและสังเกตดูความทุกข์ ความสุข... รู้สึกถึงความยินดีเมื่อประสบกับความสำเร็จ และรู้จักถึงการระงับความเจ็บปวดผิดหวัง เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคและความล้มเหลว รวมทั้งต้องตระหนักถึงความหวาดกลัวและหวั่นวิตกยามที่ชีวิตต้องประจันหน้ากับมิติของความเป็นศัตรูแห่งกายและใจ... วิถีแห่งการแสวงหาตนเองเช่นนี้เท่านั้นที่ “กฤษณมูรติ” ระบุว่าจะทำให้ก่อเกิดการเป็นอิสระจากพันธนาการทั้งปวง... ... คงยากอย่างยิ่งที่มนุษย์เกิดมาแล้วจะรู้ซึ้งถึงสิ่งเหล่านี้โดยทันที เหตุนี้การพยายามขยับเข้าใกล้ขั้นตอนแห่งการเรียนรู้นัยแห่ง “การรู้จักตนเอง” จึงเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่เป็นตัวผสานเชื่อมโยงขั้นสำคัญอันหมายถึง... “การปฏิวัติโดยสิ้นเชิง”... เป็นการปฏิวัติที่มีน้ำหนักยิ่งใหญ่กว่าการการปฏิวัติใดใดในแง่มุมของสังคม เพราะมันคือพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงด้านใน อันเกิดจากการที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งสามารถบรรลุและเข้าถึงอิสรภาพในทางจิตวิญญาณ... ไม่ตกเป็นทาสอันมัวเมาของเกียรติยศแห่งชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ อันเป็นหลุมพรางที่หมักหมมของกิเลสในความเป็นตัวตน... ว่ากันว่า “ตราบใดก็ตามที่เราไม่สามารถจะหลุดพ้นและเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ได้ นั่นก็หมายถึงว่าเราต้องตกเป็นทาสของความเป็นจารีต สังคม ผู้ปกครอง ตลอดจนวังวนแห่งสิ่งโฆษณาอันมัวเมาประเภทต่างๆ” อยู่อย่างนั้น บทบันทึกทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้... “กฤษณมูรติ” ได้เน้นย้ำไปที่ประเด็นสำคัญๆ ต่อชีวิตหลายประเด็นซึ่งล้วนแล้วแต่น่าขบคิด ใคร่ครวญ และลงมือปฏิบัตินับแต่การปฏิวัติโดยสิ้นเชิง ที่ได้กล่าวถึงไปเบื้องต้นที่รวมเข้ากับการแสวงหาของมนุษย์ การเรียนรู้ถึงตัวเรา ความเป็นทั้งหมดของชีวิต การแสวงหาความเพลิดเพลิน ความกลัวและจุดจบของความกลัว ความรุนแรงแห่งชีวิต การอิงอยู่กับสิ่งอื่น การอยู่อย่างที่เราเป็น อิสระจากสิ่งที่รู้ ความรัก การดูและการฟัง การเป็นผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต จุดเริ่มต้นของความคิด ความเงียบของจิตและสมาธิ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนนำเราไปสู่การค้นหาแสงสว่างให้กับตนเอง... การค้นหาเพื่อการค้นพบอันเป็นข้อประจักษ์แห่งการ “รู้ รับรู้ เรียนรู้ และรู้สึก” ทั้งนี้และทั้งนั้นก็สืบเนื่องมาจากว่า... เราคือมนุษย์ซึ่งเป็นอย่างที่เคยเป็นมานานนับล้านๆปี มีทั้งละโมบ ขี้อิจฉา ขี้กังวล ก้าวร้าว สิ้นหวังและอาจมีประกายแห่งความปีติและความพึงพอใจเกิดขึ้นอยู่เป็นครั้งคราว ภาวะตรงนี้ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มนุษย์เรานั้นเป็นได้ทั้งความรุนแรงและสันติ... แม้โลกภายนอกจะเจริญด้วยวัตถุนิยมและเทคโนโลยีขั้นสูงสุดล้ำสมัย แต่ในทางจิตใจที่อยู่ลึกลงไปภายใน เราไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดใดเกิดขึ้นเลย ข้อสำคัญโครงสร้างหลักๆของสังคมทั่วโลกต่างก็ถูกสร้างขึ้นด้วยบุคคลผู้มีโครงสร้างภายในอันแกว่งไกวของจิตใจเช่นนั้น เป็นสัมพัธภาพที่เกิดแก่ประสบการณ์และประวัติศาสตร์ที่หมักหมมและกัดกินตัวตนของทุกบุคคลอย่างไม่รู้ตัว... นั่นคือขอบข่ายเบื้องต้นของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าสังเกตอยู่เสมอว่า “อะไรกำลังเกิดขึ้นจริงๆ ภายในและภายนอกตัวเรา ภายใต้วัฒนธรรมแห่งการแข่งดีแข่งได้... แห่งการแสวงหาอำนาจ ฯลฯ” อันถือเป็นขอบข่ายที่ถูกเรียกว่าการมีชีวิตอยู่ ซึ่งได้แสดงผลลัพธ์ปรากฏออกมาให้เห็นถึงความขัดแย้งในระบบสัมพันธ์ในทุกๆ รูปแบบ แต่กับการที่เรารู้ก็ย่อมดีกว่าไม่รู้อะไรเลย ในมิติที่เต็มไปด้วยความสับสนซับซ้อนเช่นนี้... ปรากฏการณ์แห่งความขัดแย้งนำไปสู่ความเกลียดชัง การเป็นปฏิปักษ์ ความโหดร้ายทารุณแห่งสงครามอันไม่รู้จบรู้สิ้น... เราต่างรู้จักขอบเขตของชีวิตอันเป็นความทุกข์นี้ดี... เราสัมผัส... เราใกล้ชิด... แต่ประเด็นสำคัญกลับเป็นว่าเราไม่สามารถเข้าใจถึงการดิ้นรนต่อสู้อย่างมากมายในชีวิต... เราต่างกลัว และพยายามหนีให้พ้นจากมันด้วยวิถีทางอันซับซ้อนต่างๆ... และในความเป็นที่สุดเราต่างตกใจกลัวต่อสิ่งที่เราไม่อยากเกี่ยวข้องกับมัน กลัวต่อความตาย กลัวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “เรากลัวทั้งสิ่งที่เรารู้จักและไม่รู้จัก” นั่นคือชีวิตประจำวันที่แสนจะโศกเศร้าของเรา “เราแต่ละคนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสงครามในทุกครั้ง เพราะว่าความก้าวร้าวในชีวิตของเรา ชาตินิยมของเรา ความเห็นแก่ตัวของเรา ความลำเอียงของเรา อุดมคติของเรา... ทั้งหมดนี้ล้วนแบ่งแยกพวกเราออกจากกัน ต่อเมื่อเราตระหนักถึงสิ่งนี้อย่างแท้จริงเช่นเดียวกับที่เราซึมซาบถึงความหิวหรือความเจ็บปวดโดยต้องเข้าถึง ไม่ใช่สักแต่นึกเอา นั่นจึงจะหมายถึงการร่วมรับผิดชอบต่อความยุ่งยากทั้งมวลที่ปรากฏอยู่” “กฤษณมูรติ” ปรารถนาและมุ่งมั่นตั้งใจอย่างยิ่งที่จะให้ทุกๆ คนในโลกนี้ได้ดำเนินการฝึกทักษะเชิงประสบการณ์... เป็นการฝึกทักษะให้หนีพ้นจากกรอบการรับรู้ที่ซ้ำซาก ชาชิน และไม่พัฒนา เพราะตราบใดที่เรายังคงติดบ่วงอยู่กับการป้อนความรู้และความคิดจากครูของเรา... จากตำรับตำรา จากเหล่านักบุญ จากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง... เราต่างพากันเชื่อในข้อเสนออันเป็นเหมือนค่าตอบแทนใจที่อยู่นิ่งโดยไม่กระตือรือร้นที่จะแสวงหาแล้ว นั่นก็เท่ากับว่า... เราพากันมีชีวิตอยู่แค่เฉพาะบนถ้อยคำอันเป็นสัญญะที่แสดงให้เห็นถึงว่า... ชีวิตของเราช่างตื้นเขินและว่างเปล่า... เราต่างเป็นดุจคนมือสอง (Seconded people) ทั้งนี้ก็เพราะว่า “เรามีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นเพียงคำบอกเล่า ไม่ว่าจะเนื่องมาจากความโน้มเอียงของเรา... แนวโน้มเฉพาะชีวิตของเราหรือถูกบังคับให้ยอมรับโดยสภาพการณ์และสภาพแวดล้อมก็ตามที... เราล้วนเป็นผลิตผลของอิทธิพลทั้งหมด ไม่มีอะไรใหม่ในตัวเรา ไม่มีอะไรที่เราได้ค้นพบเพื่อตัวเราเอง ไม่มีสิ่งที่เป็นต้นแบบ อันเป็นความดั้งเดิมและกระจ่างแจ้ง” “กฤษณมูรติ” ตอกย้ำถึงการเรียนรู้ของมนุษย์ด้วยข้อตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของเวลา... ข้อตระหนักในเชิงความหมายและมิติอันแท้จริงที่คาบเกี่ยวกันอย่างลึกซึ้งระหว่างเวลากับการเรียนรู้... โดยเฉพาะกับเงื่อนไขที่ว่า... นับช่วงเวลาเป็นพันๆปีที่ผ่านมา เราต่างไม่ได้เรียนรู้เลยว่ามีวิถีชีวิตอื่นๆอีกที่ดีกว่าการเกลียดชังและการฆ่ากันเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ช่วยกันทำให้มันน่ากลัว แต่ถ้าเราคิดจะแก้ไข... ประเด็นหลักสำคัญก็คือเราต้องสามารถดูกาลเวลาได้ด้วยความใหม่ ด้วยความไร้เดียงสาของจิตที่เราได้เข้าถึงแล้ว... แน่นอนว่าในทุกวันนี้เราต่างสับสนอยู่กับปัญหาต่างๆและหลงอยู่ในความสับสนนั้น... แต่ “กฤษณมูรติ” ได้ให้ข้อคิดอันเป็นสัจธรรมตรงนี้ว่า “ถ้าเราหลงอยู่ในป่า... เราทำอย่างไรเล่า... เราหยุดอยู่กับที่ใช่หรือไม่”... เพราะการหยุดอยู่กับที่จะสามารถทำให้เราฟื้นคืนสติ... และจะค่อยๆหันไปมองรอบๆเพื่อตั้งสติและทำความเข้าใจ แต่ถ้าเรากลับเตลิดเปิดเปิง สับสน ควบคุมสติไม่ได้ เราก็จะหลงทางในชีวิตมากขึ้น... ซึ้งเหตุนี้ยิ่งเราไล่ตามมันไป ยิ่งต้องการร้องขออ้อนวอน เราก็กลับจะไม่ได้รับอะไรคืนมา... ความจำเป็นอันแรกสุดในสถานการณ์เช่นนี้ก็คือต้อง “หยุดลงภายในอย่างแท้จริง” เพราะเมื่อเกิดการหยุดลงภายในจิตใจแล้ว... จิตของทุกๆ คนก็จะสงบแจ่มใส จนสามารถเฝ้าดูและเข้าใจปัญหาในเรื่องของกาลเวลาได้จริงๆ... เพราะแท้จริงปัญหาทั้งหลายของชีวิตและโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นแต่ในกาลเวลาเท่านั้น... นั่นหมายถึงแก่นของความจริงที่ว่า เมื่อเราเผชิญกับชีวิตเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างไม่สมบูรณ์ ความไม่สมบูรณ์ที่มาพร้อมกับเรื่องนั้นๆ ก็จะทำให้เกิดปัญหา และเมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาในมิติที่ท้าทายด้วยการตอบสนองของอารมณ์ความรู้สึกที่แบ่งแยกกระจัดกระจาย เราก็จะเอาแต่หลีกหนี และขาดความใส่ใจอย่างเต็มที่ที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและยินดีที่รู้จักกับความเป็นเวลาหรือกาลเวลาที่แท้จริง “กาลเวลาคืออะไร?... กาลเวลาไม่ใช่เวลาตามเข็มนาฬิกาหรือตามความเป็นวันเดือนปีหรอก หากแต่เป็นเวลาในทางจิตใจ... เป็นช่องว่างระหว่างความคิดและการกระทำ... ความคิดเกิดขึ้นและเป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง... มันจะคงอยู่อย่างมั่นคง ส่วนการกระทำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดเสมอ... ไม่เป็นทั้งของอดีตหรืออนาคต แต่การกระทำจะเป็นปัจจุบันอยู่อย่างนั้น... มันอาจจะเป็นอันตราย เป็นสิ่งที่ผันผวนไม่แน่นอน แต่หากเรายอมทำตามความคิด... เราก็หวังได้ว่ามันจะให้ความมั่นคงปลอดภัยแก่เราในช่วงเวลานั้นๆ ... จงดูสิ่งนี้ในตัวคุณเอง” ดูเหมือนว่าเมื่อความรู้เกิดขึ้นจากสำนึกแห่งการเรียนรู้ในสภาวะแห่งความไม่รู้ต่างๆ อันเป็นเงื่อนปมที่ตอกตรึงอยู่กับชีวิต... มนุษย์ผู้แสวงหา... มนุษย์ผู้เข้าใจถึงคุณค่าแห่งกาลเวลาก็ย่อมเกิดผัสสะถึงความเป็นอิสรภาพ... ไม่รู้สึกถึงว่าชีวิตเต็มไปด้วยความเปล่ากลวง... และไม่ดูแคลนตัวเองในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ถึงขนาดว่า “เราล้วนต่างเป็นคนมือสอง” อีกต่อไป... เราจะกระจ่างแจ้งขึ้นด้วยแสงสว่างทางปัญญา ด้วยจิตที่แสวงหา... จิตอันปราศจากกฎระเบียบ ปราศจากกฎเกณฑ์ ปราศจากความคิด ปราศจากการข่มใจ ปราศจากหนังสือ... ปราศจากครูหรือผู้นำใดใด... มันคือการเข้าถึงอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว... ซึ่งอาจเป็นทั้งเรื่องส่วนตัวและไม่ใช่ส่วนตัว... มันเป็นดั่งความรัก... เป็นดั่งดอกไม้ที่เต็มไปด้วยกลิ่นหอม และมีส่วนร่วมกับทุกคน... เป็นความใหม่ที่สดใสของชีวิต... ไม่มีอดีตและอนาคต แต่สถานะแห่งอิสรภาพจะเกิดขึ้นไปอยู่เหนือความยุ่งเหยิงทั้งหลายทั้งปวง “เมื่อไม่มีจุดศูนย์กลาง เมื่อนั้นจึงมีความรัก” นั่นคือข้อเปรียบเทียบเชิงสัจธรรมที่ “กฤษณมูรติ” ถือเป็นคำอธิบายในเชิงสรุปถึงมิติแห่งอิสรภาพผ่านสถานะแห่งการเรียนรู้อันเป็นเสรีอย่างถึงที่สุด... ของบทบันทึกอันทรงคุณค่าแห่งหนังสือเล่มนี้ เราจำเป็นต้องทำให้ชีวิตของเราอิ่มเต็ม ไร้ความตื้นเขินที่เปล่ากลวง... ต้องพยายามฝึกฝนสถานะแห่งตนให้หลุดพ้นจากภาวะของการเป็นคนมือสอง... ผู้ไร้คุณค่าทั้งกายและจิตแห่งการเรียนรู้สร้างสรรค์ซึ่งขาดความศรัทธา... อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธกันไม่ได้หรอกว่าในชีวิตของคนเราแต่ละคนนั้นล้วนมีเงื่อนปมแห่งความไม่รู้ซุกซ่อนอยู่ภายในใจอย่างมากมายและเอ่อท้น... แท้จริงมันคือสิ่งที่ทำให้เรามีแต่ถอยห่างออกไปจากตัวเอง... มัวแต่คอยหยิบยืม ลอกเลียน และจดจำอย่างลวกๆเอาจากภายนอกที่เต็มไปด้วยมายาจริตต่างๆนานาอย่างงมงายไร้สติ.... โดยปราศจากวิถีแห่งการไตร่ตรองและคิดคำนึงที่อยู่ลึกลงไปถึงแก่นแท้ “ความจริงของคนคนหนึ่ง... อาจไม่เป็นจริงสำหรับคนอีกคนหนึ่ง” มันจะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าเราต่างเลือกที่จะเชื่อตามๆกันไปจนกลายเป็นสูตรสำเร็จของชีวิต คุณต้องเห็นมันด้วยตัวคุณเอง แต่การที่คุณจะทำเช่นนั้นได้ “คุณต้องมีอิสรภาพในการดู อิสรภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนอิสรภาพในการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยทั้งหมด” ทุกๆเงื่อนไขล้วนเกิดขึ้นและสามารถจะมองเห็นได้โดยตรงก็ต่อเมื่อเราทุกผู้ทุกคนล้วนมี “จิตที่เงียบลง” เท่านั้น