ด้วยวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายๆ หน่วยงานต่างต้องเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในด้านต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมต่างต้องปรับโครงสร้างกันอย่างมากมาย เพื่อให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งลดภาระหนี้สินที่คงอยู่ในการเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่ง เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดย นายสานต่อ มุทธสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ผู้จัดการกองทรัสต์ (REIT Manager) ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DREIT) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ DREIT ได้มีมติให้ขายโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ (D2CM) ให้กับบริษัท ทรัพย์ ทีซีซี โฮเทล เชียงใหม่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) ในราคา 435 ล้านบาท หลังจากประเมินความเหมาะสมในการขายทรัพย์สิน ที่จะทำให้กองทรัสต์สามารถรับรู้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งเงินที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินดังกล่าว จะนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทรัสต์ รวมถึงชำระหนี้เงินกู้ยืมบางส่วน และ/หรือเป็นแหล่งเงินลงทุนในการปรับปรุงทรัพย์สิน และ/หรือลงทุนในทรัพย์สินที่มีศักยภาพเพิ่ม ซึ่ง นายสานต่อ กล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างทรัพย์สินภายใต้การบริหารของกองทรัสต์ DREIT มีเป้าหมายในการสร้างสมดุลให้กับกลุ่มทรัพย์สินที่เราเข้าไปลงทุน เช่นเดียวกับการตัดสินใจขายโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้พอร์ตการลงทุนกระชับและเหมาะสมมากขึ้นแล้ว กองทรัสต์ยังสามารถรับรู้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินอีกด้วย ด้านนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารทรัพย์สินของกองทรัสต์ (Hotel Operator) กล่าวต่อว่า การขายทรัพย์สินของกองทรัสต์ DREIT ในครั้งนี้ ถือเป็นข้อตกลงในลักษณะของการเป็นพันธมิตรร่วมธุรกิจที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เนื่องจากกลุ่มผู้ลงทุนใหม่มองว่าพื้นที่ตั้งของโรงแรมอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปร่วมพัฒนากับสินทรัพย์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันได้เป็นอย่างดีในอนาคต และดำเนินการพัฒนายกระดับบริเวณถนนช้างคลาน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่กลุ่มดุสิตธานีก็มองหาโอกาสการลงทุนอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต โดยในระหว่างนี้ กลุ่มดุสิตธานีจะยังคงบริหารงานโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ เพื่อรักษาสัดส่วนการตลาดและรักษาแบรนด์ไว้ในจังหวัดเชียงใหม่ไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่ากลุ่มผู้ลงทุนใหม่จะทำการพัฒนาสินทรัพย์ต่อไป ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วน นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และโรงแรมในเครือฟอร์จูน กล่าวว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยและภาคการท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 ดังนั้นการขยายธุรกิจโรงแรมจึงยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นเมืองท่องเที่ยว ด่านการค้าชายแดน แหล่งนิคมอุตสาหกรรม มุ่งเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อรองรับดีมานด์ของกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ หลังพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบันเปลี่ยนไป นิยมเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และสัมผัสกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ แต่ก็ยังคงชอบโรงแรมที่พักเน้นความสะดวกสบายและสะอาดเป็นสำคัญ ขณะที่ นายเชิดชัย กมลเนตร รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจเโรงแรม ซี.พี.แลนด์ กล่าวว่า ตามแผนลงทุนโรงแรมของบริษัทในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ตั้งแต่ปี 2565-2569 ตั้งเป้าพัฒนาโรงแรมใหม่อีก 39 แห่ง ใช้เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 13 แห่ง กระจายใน 9 จังหวัด คิดเป็นห้องพักรวม 2,000 ห้อง ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท ทำให้ในปี 2569 บริษัทจะมีโรงแรมรวม 52 แห่ง เติบโต 4 เท่าเมื่อเทียบกับจำนวนโรงแรมในปัจจุบัน เน้นเจาะลูกค้าคนไทยเป็นหลัก 60-70% ส่วนอีก 30% เป็นลูกค้าต่างชาติ เนื่องจากประวัติศาสตร์ของภาคท่องเที่ยวไทยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤต คนที่หนีก่อนคือลูกค้าต่างชาติ ขณะที่ลูกค้าคนไทยนั้นยังอยู่ สำหรับโรงแรมใหม่ 39 แห่งดังกล่าวที่เตรียมพัฒนา มากกว่า 30 แห่งอยู่ในกลุ่มบัดเจ็ต โฮเทล ภายใต้แบรนด์ฟอร์จูน ดี และ ฟอร์จูน ดี พลัส ขนาดห้องพักไม่เกิน 79 ห้อง กระจายในต่างจังหวัด ด้วยเเงินลงทุนรวมค่าที่ดินประมาณ 60-70 ล้านบาทต่อแห่ง หวังเจาะฐานลูกค้าในหัวเมืองใหญ่ เช่น เมืองท่องเที่ยว เมืองชายแดน แหล่งนิคมอุตสาหกรรม รองรับการเข้าพักระยะสั้นและตลาดการจัดประชุมสัมมนา ด้วยการชูจุดขายราคาเข้าถึงง่าย 700-1,200 บาทต่อห้องต่อคืน โดยทั้งสองแบรนด์แตกต่างกันตรงที่ ฟอร์จูน ดี จะไม่มีบริการอาหารเช้า ส่วนฟอร์จูน ดี พลัส จะเพิ่มบริการอาหารเช้าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ตลาดบัดเจ็ตโฮเทลถือเป็นบลูโอเชียน ของการทำโรงแรม