การใช้เครื่องสำอางมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อความสวยงาม และเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับวัยรุ่น หรือคนทำงานจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้ตลาดเครื่องสำอางของไทยในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มของเครื่องสำอางในปัจจุบันนิยมใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่ได้จากพืชสมุนไพร มาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือสูงกว่าเครื่องสำอางที่ใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบ อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย รวมถึงช่วยลดการนำเข้าสารเคมีบางชนิดจากต่างประเทศ
หนึ่งในพืชสมุนไพรที่น่าสนใจและมีการศึกษากันอย่างแพร่หลายคือ พืชในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ได้แก่ ขิง ขมิ้นชัน ว่านนางคำ และไพล เป็นต้น ทีมวิจัยของหลักสูตรวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง โดยอาจารย์ฤทธิพันธ์ รุ่งเรือง (หัวหน้าทีมวิจัย) คณาจารย์ และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จึงได้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยใช้เทคโนโลยีการ เอนแคปซูเลชั่น (Encapsulation) เป็นการห่อหุ้มสารสกัดด้วยพอลิเมอร์ชีวภาพ และผ่านการทำแห้งแบบพ่นฝอยให้อยู่ในรูปผงแห้งที่เพิ่มคุณสมบัติในการละลาย และอายุการเก็บรักษาสารสกัดให้ยาวนานขึ้น โดยที่สารสกัดไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนัง
อาจารย์ฤทธิพันธ์ รุ่งเรือง
จากกระบวนการดังกล่าว ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องสำอาง คือ โฟมล้างหน้าสมุนไพรชนิดผง “เคอคูมา คลีนซิ่ง แคปซูล” เป็นผลิตภัณฑ์ล้างหน้าแบบผงแห้ง ใช้สำหรับทำความสะอาดผิวหน้า มีน้ำหนักเบาและสามารถพกพาได้ง่าย ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ “The 47th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
รศ.ดร.ทัศนีย์ พาณิชย์กุล
ทั้งนี้ยังพัฒนาเป็น เคอร์คูมา ฟิกเซอร์ ฟาวเดชัน เพลส พาวเดอร์ คือ ผลิตภัณฑ์แป้งพัพอัดแข็งที่ใช้สีเหลืองจากขมิ้นชันทดแทนสีสังเคราะห์ ตัวแป้งที่พัฒนาสามารถควบคุมความมันบนใบหน้า และมีประสิทธิภาพในการกันแดด ผลงานชิ้นนี้ได้เหรียญเงิน จากการประกวดในงาน Thailand New Gen Inventors Award (I-New Gen Award 2020) จากงานวันนักประดิษฐ์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผลงานวิจัยของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ส่งประกวดและได้รับรางวัล
นอกจากนี้ ทางหลักสูตรวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี นำโดย รศ.ดร.ทัศนีย์ พาณิชย์กุล (ประธานหลักสูตรฯ) ผศ.ดร.วิทวัส รัตนถาวร ผศ.ณัฐพร บู๊ฮวด และอาจารย์ฤทธิพันธ์ รุ่งเรือง ในการดำเนินการจัดการเรียนรู้โดยให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้กับชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีและรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตสุพรรณบุรี ได้มีการนำผลงานของอาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ที่ใช้พืชเศรษฐกิจฐานราก เช่น ขมิ้นชัน ทองพันชั่ง มะเขือเทศเชอร์รี่ และว่านหางจระเข้ ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดสุพรรณบุรี เช่น วิสาหกิจชุมชนแอลยี่สิบสาม เป็นผลิตภัณฑ์ L23 Whitening perfume body lotion และวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง เป็นผลิตภัณฑ์ Suan Kluay U Thong Cherry Tomato Hand Sanitizer Gel ภายใต้โครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัย จังหวัดสุพรรณบุรี” ของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
อาจารย์ฤทธิพันธ์ รุ่งเรือง หลักสูตรวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาเขตสุพรรณบุรี



