เมื่อเวลา 17.09 น. วันที่ 20 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณพระตำหนักคำหยาด ตำบลคำหยาด อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง มีประชาชนที่ทราบข่าวได้เดินทางมายังพระตำหนักคำหยาด เพื่อดูปรากฎการณ์มหัศจรรย์ที่หนึ่งปีมีครั้งเดียว โดยที่พระอาทิตย์ตกส่องผ่านช่องหน้าต่างทะลุช่องประตูพระตำหนักคำหยาด ช่วงเวลามหัศจรรย์ 1 ปีมีครั้งเดียว อาทิตย์ตก ส่องหน้าต่างทะลุประตู พระตำหนักคำหยาด เผยเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนในการชดเชยแสงเข้าตัวอาคาร ช่วงหน้าหนาวจะมืดเร็ว
ซึ่งเป็นปรากฏการณ์โบราณสถานพระตำหนักคำหยาดสัมพันธ์กับการโคจรของดวงอาทิตย์จะเกิดในเดือนธันวาคม ช่วงสัปดาห์ที่เกิดทักษิณายัน ดวงอาทิตย์ขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ 114 องศา และตกด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 246 องศา เมื่ออยู่ด้านในพระตำหนักคำหยาดก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน จะเห็นดวงอาทิตย์ที่กรอบช่องหน้าต่างช่องกลางมุขหลังด้านท้ายพระตำหนักฯ เดิมผนังทาสีแดง จะสะท้อนแสงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามาสว่างไสวงดงาม
ซึ่งปัจจุบันสีแดงที่ผนังลบเลือนไปตามกาลเวลา โครงสร้างโบราณสถานที่นับเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนในการชดเชย เเละเพิ่มแสงเข้าสู่ตัวอาคารในช่วงหน้าหนาวที่ความมืดมิดมาเยือนเร็ว วางองศาของพระตำหนักฯ ได้ใกล้เคียงตำแหน่งการโคจรของดวงอาทิตย์ที่คำนวณในยุคปัจจุบัน สามารถรับชมได้อีก 2 วันในวันที่ 21 และ22 ธันวาคม 2564 ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น.เป็นต้นไป
พระตำหนักคำหยาดเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ ขุนหลวงหาวัด พระมหากษัตริย์องค์ที่ 32 (บางแห่งนับว่าเป็นพระองค์ที่ 33) ราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา พระตำหนักหลังนี้เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับระยะหนึ่งก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับวัดประดู่ทรงธรรม พระตำหนักคำหยาด อยู่ถัดจากวัดโพธิ์ทอง ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2.5 กิโลเมตร พระตำหนักตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สภาพปัจจุบันมีเพียงผนัง 4 ด้าน เครื่องบนไม่มีเหลือ ยกพื้นสูง มีใต้ถุนและเจาะช่องใต้ถุน เป็นรูปประตูโค้งแหลมตามแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีมุขย่อกระเปาะด้านหน้าทางทิศตะวันออก ด้านศิลปกรรม เช่น ลวดลายประดับซุ้มจรนำหน้าต่าง มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง ภายในทาดินแดงปูพื้นกระดาน

