ด้วยพันธกิจของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่มีเป้าหมายให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตแบบยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งถือเป็นฐานรากของประเทศ มีฐานทุนทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากร ที่สามารถนำมาบริหารจัดการให้เกิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวได้ โดย ได้ใช้องค์ความรู้จากเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand เข้าไปพัฒนาและยกระดับให้แก่ชุมชน สร้างจุดสนใจให้นักท่องเที่ยว ล่าสุด นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาติ หรือ UNWTO ประกาศให้ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ได้รับรางวัล Upgrade Programme ภายใต้การประกวดรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวยอดเยี่ยม (Best Tourism Village) ประจำปี ค.ศ. 2021 ซึ่ง บ่อสวก เป็นชุมชนต้นแบบที่ อพท. พัฒนามาเกือบ 10 ปี มีจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ คือ วัฒนธรรม วิถีชีวิต โดย ได้พัฒนาให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมการทำเครื่องปั้นดินเผา งานจักสานไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อีกทั้งยังเป็นแหล่งโบราณคดีเตาเผาโบราณ มีภูมิปัญญาการทอผ้าที่ได้ต่อยอดไปสู่แบรนด์ น่านเน้อเจ้า ทั้งนี้ นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวต่อว่า การได้รับรางวัลระดับสากลของชุมชนตำบลบ่อสวกจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับชุมชนและประเทศไทย เพราะทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนา ของ อพท. ที่มีเป้าหมายให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตแบบยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งถือเป็นฐานรากของประเทศ มีฐานทุนทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากร ที่สามารถนำมาบริหารจัดการให้เกิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวได้ สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ทาง อพท. และจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ฉลองเพชรบุรี เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) ของ UNESCO จัดกิจกรรม Phetchaburi City of Gastronomy : CHA-AM Food Festival ครั้งที่ 1 ตอกย้ำเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ยูเนสโก โดยมีภาคีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์นานาชาติร่วมแลกเปลี่ยนความคิด พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแห่งอาหาร นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงงานดังกล่าวว่า เป็นการย้ำเตือนและสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องจากที่ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้เพชรบุรีเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ประจำปี 2564 (City of Gastronomy) และยังเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการตามแผนที่นำทาง (Roadmap) และพันธกิจของการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) ที่ร่วมจัดกิจกรรมระดับนานาชาติทางด้านอาหารของเมืองเพชรบุรี เพื่อมุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเมืองสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งว่า การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน การจัดงานครั้งนี้ของจังหวัดเพชรบุรี จึงถือเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล ในการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และแสดงถึงความพร้อมที่จะเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว ด้าน นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวต่อว่า นอกจาก อพท. ซึ่งเป็นหน่วยผลักดันและขับเคลื่อนให้จังหวัดเพชรบุรีมีมาตรฐานได้ตามข้อกำหนดของยูเนสโกจนได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ แล้ว ยังได้รับการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัดเพชรบุรี อาทิเช่น หอการค้าจังหวัดเพชรบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี นักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) จังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานภาครัฐที่เป็นกำลังสำคัญทั้งท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบุรี ขณะที่ อพท. ยังมีบทบาทเป็นหน่วยงานผู้ประสาน จึงได้ ร่วมสนับสนุนกิจกรรมระดับนานาชาติทางด้านอาหารของเมืองเพชรบุรี ซึ่งดำเนินการภายใต้กิจกรรมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จังหวัดเพชรบุรี ประจำปีงบประมาณ 2564 ส่วน นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง มีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาเที่ยวจังหวัดเพชรบุรีเพิ่มมากขึ้น และจากการได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก พื้นที่และชุมชนจะได้รับประโยชน์มากมายมากขึ้น เป็นผลดีต่อการเป็นเมืองท่องเที่ยวด้านอาหาร มีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยวได้อีกหลายประเภทต่อไป