ปังไม่ไหว กับการแข่งขันล่ามแปลภาษานานาชาติ ถ้วยรางวัลหยุนซาน ครั้งที่ 1 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีนายกิตติพันธ์ ปงเปงกาศ และนายทิพย์กร จอมพล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาภาษาจีน วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนจากประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันในรอบแรก และได้รับรางวัลที่ 1 และ 2 จากการแข่งขันดังกล่าว ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัยการค้าและภาษาต่างประเทศกวางตุ้ง ประเทศจีน Guangdong University of Foreign Studies(广东外语外贸大学) แข่งขัน เพื่อสานต่อความฝัน นายกิตติพันธ์ ปงเปงกาศ (อัพ) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาภาษาจีน วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กิจกรรมนี้ทางมหาวิทยาลัยการค้าและภาษาต่างประเทศกวางตุ้ง ได้ส่งหนังสือเชิญเข้าร่วมกิจกรรมมาทางภาควิชาฯ ตอนนั้นพอทราบข่าวผมก็สนใจจึงได้ไปปรึกษากับอาจารย์ครับ คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ฝึกใช้ภาษาจีน “ผมมีระยะเวลาในการเตรียมตัวประมาณหนึ่งเดือนครับ และประกอบกับนี่เป็นการแข่งขันเกี่ยวกับทักษะด้านการแปลเป็นเครั้งแรกด้วย จึงค่อนข้างกดดัน และไม่รู้ว่าควรจะเริ่มฝึกซ้อมเน้นเรื่องอะไร ส่วนไหนดี ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่ภาคครับ อาจารย์จัดตารางฝึกซ้อม และฝึกแปลร่วมกัน พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคนิคและแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังด้วยครับ การแข่งขันครั้งนี้เป็นรูปแบบออนไลน์ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสแตนบายเป็นอย่างดีกรณีมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น ซึ่งผมเองก็เหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นครับทำให้ต้องรีบประสานงานกับทีมงานที่ประเทศจีนด้วย เขาก็ให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดี ในฐานะที่ผมเป็นนักศึกษาจากประเทศไทยที่เรียนภาษาจีน การแข่งขันครั้งนี้ทำให้ผมได้พิสูจน์ตัวเอง ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ได้สร้างชื่อเสียงให้ต่างชาติได้รู้ว่าการเรียนภาษาจีนของเด็กไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติอื่นๆ เลย ผมอยากขอขอบคุณครอบครัวที่สนับสนุนการเรียนภาษาจีนของผม ขอบคุณอาจารย์ที่คอยพร่ำสอน เพื่อนๆ ที่คอยให้กำลังใจ หลังจากนี้ผมก็จะมุ่งมั่นและตั้งใจไปทางนี้ให้สุดความสามารถ เส้นทางการเป็นนักแปล เป็นล่าม ประสบการณ์ครั้งนี้แม้หาไม่ได้จากห้องเรียน แต่มันเริ่มต้นมาจากในห้องเรียน หากถามว่าผมนำอะไรจากในห้องเรียนไปปรับใช้ ก็คงเป็นเรื่องของการสื่อสาร ทักษะต่างๆ ที่เรียนมาทั้งด้านการพูดและคิดวิเคราะห์ เมื่อเราจะต้องสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจ และถูกต้องนั้น มันไม่ใช่เพียงการแปลที่ตรงตัว แต่กระบวนการทางการฟัง พูด คิด วิเคราะห์ก็สำคัญ ทักษะเหล่านี้ผมยังคงต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ แต่จาการแข่งขันครั้งนี้ มันสร้างแรงบันดาลใจที่ดีมากๆ กับความฝันของผมครับ” การหาประสบการณ์นอกห้องเรียน เป็นประโยชน์กับตัวผู้เรียนเอง เราจะได้นำความรู้ความเข้าใจจากในห้องเรียนออกมาทบทวน ใช้มันเพื่อทดลองงาน “ผมเปรียบเทียบการเรียนรู้ของผม เหมือนกับการแข่งขันกีฬา การเรียนในห้องเรียนคือการเก็บชั่วโมงฝึกซ้อม เป็นการขุน เป็นการเตรียมตัว จากการแข่งขันครั้งนี้ การเตรียมตัวของผม ผมก็ตอบไมได้ว่ามันมากพอแล้วหรือยัง แต่ก็เก็บทุกนาทีเพื่อฝึกซ้อม หยิบคำศัพท์ เทคนิคจากการเรียนมาใช้ให้มากที่สุด ดังนั้น ผมจึงมองว่าการเรียนเป็นการตั้งเป้าหมายที่สำคัญมาก หากเป้าหมายเราไม่ชัด ก็จะทำให้หลงทาง หรือต้องหยุดกลางคันได้ ประสบการณ์และบรรยากาศการแข่งขันครั้งนี้ จะอยู่ในความทรงจำของผมอย่างขึ้นใจ มันเหมือนการได้ออกไปเผชิญหน้ากับสนามจริง แม้ระยะเวลาในการแข่งขันจริงๆ จะใช้เพียงไม่กี่นาทีเท่านัน แต่นั่นคือการกำหนดชะตาและความมุ่งมั่นของเราเลยครับ ตอนที่เขาเปิดระบบเสียงพูดภาษาจีนความยาว 2 นาทีนั้น เราจะต้องแปลเป็นภาษาไทยทันที จบหนึ่งบทก็จะมีบทต่อไปมาให้แปลต่อ ช่วงเวลานั้น บททดสอบของเราง่ายหรือยากก็ตอบไม่ได้ แต่เราต้องทำออกมาให้ดีที่สุด นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่าการเตรียมตัวเป็นอย่างดีนั้น สำคัญที่สุดครับ” เรียนเพื่อนำไปใช้ นายทิพย์กร จอมพล (หลง) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาจีน วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เมื่อทราบจากอาจารย์ว่าจะมีการแข่งขันออนไลน์ ด้านการแปลล่าม รู้สึกสนใจอยากเข้าร่วมการแข่งขันครับ อยากมีประสบการณ์นอกห้องเรียน อยากได้ทดลองนำความรู้ที่เรียนมาไปใช้ “ปกติแล้วผมมีความสนใจด้านการแปลล่ามครับ ทำงานด้านนี้อยู่ด้วยครับ แต่ก็จะไม่ประมาท ก็ตั้งใจเตรียมตัวเป็นอย่างดี ด้วยนี่คือการแข่งขันระดับนานาชาติ หากผมได้เข้าร่วมนั่นก็หมายถึงว่าผมคือตัวแทนของคนไทย คือหน้าตาของประเทศไทย ดังนั้น ความท้าทายนี้ ประสบการณ์แบบนี้หาได้ยากครับ เมื่อมีโอกาสจึงไม่พลาดที่จะสมัครเข้าแข่งขันทันที การเตรียมตัวของผมจะมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาครับทั้งแปลจากไทยเป็นจีน และจีนเป็นไทย ผมเริ่มศึกษาหาข้อมูลความรู้รอบตัวต่างๆ ทั้งเรื่องการเมือง การเรียน ประวัติศาสตร์ และอีกหลายๆ หัวข้อ เพื่อเป็นข้อมูล เป็นคลังคำศัพท์ ด้วยการแข่งขันครั้งนี้เป็นรูปแบบออนไลน์ แต่ความตืนเต้นและความกดดันไมได้น้อยลงไปนะครับ สำหรับตัวผมเองคิดว่าการแข่งขันแบบได้เจอหน้าจะสะดวกกว่า เช่นครั้งนี้ ผมพบปัญหาอยู่บ้างครับ เรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์การสื่อสาร มันมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เกิดการสะดุด และไม่เสถียร แต่ทุกอย่างก็ผ่านมาด้วยดี” ความรู้สึกภูมิใจกับผลการแข่งขันในครั้งนี้ อาจตอบได้เพียงว่า ภูมิใจที่สุดครับ ผมเป็นคนไทยที่เรียนภาษาจีนมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ใดใดก็ตาม ความรู้ที่ติดตัวมานั้น ผมได้พิสูจน์ผ่านความตั้งใจและความพยายามนี้ เราเรียนรู้ เราสั่งสมประสบการณ์ เพื่อจะได้มีความรู้ มีงานทำ มีต้นทุนทางด้านภาษาที่ดี ปกติในชีวิตประจำวัน ผมต้องเรียนและทำงานไปด้วยกัน แต่ปัจจัยข้อนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการเตรียมตัวครับ แม้ว่าผมจะไม่ได้รางวัล ผมก็จะรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ครับ