"แม้ความเป็นเลิศทางการวิจัย (Research) จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การมุ่งสู่การเป็นเลิศทางวิชาชีพดนตรี ผลงานการแสดง (Performance) ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน และเพราะนักศึกษาคือ "อนาคต" ของความเปลี่ยนแปลง "การฟังเสียงของนักศึกษา" จึงเป็น "หัวใจสำคัญ" ของการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายของการนำพา วิทยาลัยดุริยางศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งสู่ "สถาบันแห่งความเป็นเลิศทางดนตรี" ที่เป็นเลิศทางผลงานการแสดง (Performance) และต่อยอดด้วยความเป็นเลิศทางการวิจัย (Research) สู่เป้าหมาย 1 ใน 50 บนเวทีโลกให้ได้ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมีนักศึกษาร่วมก้าวสู่จุดหมาย" อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศหลังเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารวาระ 2 ไปพร้อมๆ กับ 2 ข่าวดีล่าสุด คือการได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในองคาพยพของเครือข่าย SEADOM - Southeast Asian Directors of Music ปี 2021-2023 ในฐานะ Executive Council Member และการร่วมผลักดันให้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็น "สถาบันดนตรีสถาบันแรกของเอเชีย" ที่ได้รับการรับรองอย่างสมบูรณ์จนครบทุกหลักสูตรจาก "MusiQuE" สถาบันรับรองคุณภาพหลักสูตรดนตรีของยุโรป แหล่งกำเนิดนักดนตรีโลก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ารับการรับรองคุณภาพหลักสูตรดนตรีจากสถาบัน "MusiQuE" ตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 โดยสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานในหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ตามลำดับอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในปีพ.ศ.2564 นี้ ท่ามกลางความชื่นชมในฐานะสถาบันดนตรีที่ถึงแม้จะได้รับการก่อตั้งมาเพียง 27 ปีแต่ก็สามารถนำพามหาวิทยาลัยมหิดลก้าวสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศทางผลงานการแสดง (Performance) จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเมื่อเร็วๆ นี้ "อย่างไรก็ดี เราจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ก้าวต่อไปจะมุ่งสู่ 1 ใน 50 ให้ได้ภายในปีพ.ศ.2568 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้าที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะครบรอบ 30 ปี" อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีฯ กล่าว มุมมองที่ได้จากการเข้ารับการประเมินครั้งล่าสุดจากสถาบัน "MusiQuE" คือ การให้ความสำคัญต่อ "การส่งเสริมบทบาทของนักศึกษา" ซึ่ง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถทำได้เป็นอย่างดี จากการพร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาลัยฯ เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมระดมความคิดเห็น หรือกิจกรรมใดๆ จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกครั้ง โดยรวมถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งวิทยาลัยฯ พร้อมรับฟังเสียงจากนักศึกษาเสมอ ที่ผ่านมา แม้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเน้นเรื่องความเป็นเลิศทางผลงานการแสดง (Performance) เพื่อมุ่งสู่การเป็นเลิศทางวิชาชีพดนตรี แต่เพื่อความยั่งยืนต่อไปจะต้องมีความเป็นเลิศทางการวิจัย (Research) เข้ามารองรับด้วย ซึ่งการจะบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ให้ได้ต่อไปนั้น จะต้องบูรณาการดนตรีเข้ากับศาสตร์อื่น ซึ่งโลกของการวิจัยและนวัตกรรมเปิดรอไว้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นโลกแห่งการสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ตอบโจทย์ และสามารถนำเอาไปใช้ได้จริง เบื้องหลังของความเป็นเลิศทางผลงานการแสดง (Performance) สู่การเป็นเลิศทางวิชาชีพดนตรี คือ "Thailand Phil" หรือ Thailand Philharmonic Orchestra แห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในวันที่ 17 และ 18 ธันวาคม 2564 พร้อมกลับมาเปิดการแสดงอีกครั้งกับคอนเสิร์ต "REUNITED!" เพื่อชิมลางก่อนออกเดินทางไปประกาศศักยภาพ "มืออาชีพ" ในเวทีระดับโลกในยุโรปกลางปีพ.ศ.2565 จองบัตรพร้อมแสดงผลการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ก่อนเข้าชมได้ที่ Facebook: Thailand Philharmonic Orchestra ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจาก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.music.mahidol.ac.th ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณพร ยังศิริ