“มฟล.” วิจัย "ค่านิยมของความเป็นผู้นำผ่านการใช้ภาษา : การวิเคราะห์วัจนลีลาในพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต้นแบบของพสกนิกรไทย และถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก ที่มีพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านโครงการในพระราชดำรินับพันโครงการ และยังพระราชทานพระราชกระแสรับสั่ง ให้แก่ปวงชนชาวไทย เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการดำเนินชีวิต และนโยบาย แนวทาง สำหรับดูแลทุกคนในประเทศไทยให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข มีความสามัคคีร่วมกันเป็นปึกแผ่นน้ำหนึ่งใจเดียว ซึ่งพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาแต่ละปีนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ของประเทศไทยที่พสกนิกรรอรับฟัง สิ่งที่เป็นประโยชน์ แง่คิด พร้อมนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน จึงทำให้มีนักวิจัยได้เริ่มต้นโครงการวิจัยเรื่อง "ค่านิยมของความเป็นผู้นำผ่านการใช้ภาษา : การวิเคราะห์วัจนลีลาในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในโครงการวิจัยพื้นฐานประจำปีงบประมาณ พุทธศักราช 2564 รศ.ดร.สรบุศย์ รุ่งโรจน์สุวรรณ อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ในฐานะผู้จัดทำงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยปัจจุบัน ว่าการใช้ภาษาในการสื่อสารระหว่างกัน มีความสำคัญอย่างมาก หากประชาชนในประเทศมีวิธีการสื่อสารความต้องการผ่านการใช้ภาษาที่เหมาะสมแล้ว จะส่งผลดีต่อการสื่อสารที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ ช่วยลดความขัดแย้งและเพิ่มความสามัคคีปรองดองในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้ สำหรับความสำคัญของพระราชดำรัสนั้น หากย้อนมองไปในอดีต แต่ละปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประชาชนชาวไทยแทบทุกคนจะเฝ้าติดตามรับฟังกระแสพระราชดำรัสอย่างใจจดใจจ่อ เพราะทรงพระราชทานสดและเนื้อหาในพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาก็มักจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาประเทศที่สำคัญหลายโครงการ ที่ช่วยแก้ปัญหาของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น โครงการแก้มลิง คลองลัดโพธิ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น การมีพระราชดำรัสนับเป็นรูปแบบหนึ่งในการสื่อสารแนวพระราชดำริสู่ผู้รับผิดชอบและพสกนิกร ซึ่งได้รับการตอบรับและนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากตลอดมา ดังนั้น การถอดรหัสทางภาษา เพื่อค้นหารูปแบบการใช้ภาษาที่มีประสิทธิภาพจากพระราชดำรัสฯ นั้น จึงอาจเป็นแนวทางที่สามารถต่อยอดไปสู่รูปแบบการใช้ภาษาที่เหมาะสมสำหรับผู้นำในทุกระดับของสังคม เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจและความสามัคคีปรองดองของสมาชิกในชุมชนและสังคมทุกระดับต่อไป โครงการนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ที่ได้วิเคราะห์พระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2517 - 2542 โดยเริ่มต้นจากการอ่านพระราชดำรัสในทุกปีเพื่อค้นหาว่า พระองค์ท่านมีรูปแบบการเลือกใช้คำและโครงสร้างทางภาษาอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงทำการสังเคราะห์รูปภาษาที่ทรงใช้ออกมาเป็น “คุณลักษณะทางภาษา” ที่สัมพันธ์กับบทบาทของความเป็นผู้นำที่สามารถสร้างความรัก ความศรัทธาและความเชื่อถือจากประชาชน ข้อค้นพบจากการศึกษานี้พบว่า พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีคุณลักษณะเด่นอยู่สามประการคือ 1."ความอ่อนน้อมถ่อมตน" สะท้อนจากการลดสถานะของตนเองและเพิ่มสถานะของผู้อื่น โดยทรงใช้คำสรรพนามที่แสดงความเป็นกันเอง “เรา” แทนพระองค์ และใช้คำสรรพนามแสดงการยกย่อง “ท่าน” หรือการระบุตำแหน่งหน้าที่ของผู้ฟังและผู้อื่น เช่น “ท่านนายก” “ผู้ว่าฯ” เพื่อเพิ่มสถานะให้กับผู้ฟัง อันเป็นการลดช่องว่างของสถานะทางสังคมระหว่างพระองค์เองกับประชาชน สร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับผู้รับสารมากขึ้น 2."ความน่าเชื่อถือ" ทรงใช้ภาษาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยวิธีการ นิยม ยกตัวอย่าง และแสดงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ เช่น ทรงให้ความหมายหรือขยายความสิ่งที่ทรงตรัสอย่างชัดเจน เช่น ความดีในนิยามของพระองค์ท่านคืออะไร หรือคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง มีความหมายว่าอย่างไร จากนั้นก็ทรง "ยกตัวอย่างผ่านการเล่าเรื่อง" จากประสบการณ์ของพระองค์ท่านเองที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อธิบายให้ผู้ฟังเห็นภาพอย่างชัดเจน บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ และยังทรงพระปรีชาสามารถในการเรียงร้อยเนื้อหาของสารที่มีรูปแบบซับซ้อน ให้มีความเป็นเหตุเป็นผลและเป็นตรรกะ ด้วยการใช้คำเชื่อมที่เหมาะสมต่างๆ เช่น แสดงเงื่อนไข แสดงเหตุผล และสรุปความพร้อมนำเสนอคำแนะนำ กลวิธีต่างๆ ดังกล่าวทำให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทรงมีพระราชดำรัส เพราะมีความชัดเจนเป็นประจักษ์นั่นเอง 3."ความเป็นปึกแผ่น" พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำถึงความเป็นปึกแผ่นของชาวไทย ผ่านการเลือกใช้คำที่แสดงความเป็นส่วนรวม แสดงเป้าหมาย และแสดงวิธีการ ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของส่วนรวมด้วยการใช้คำ เช่น “พวกเรา” “ประเทศชาติ” “ส่วนรวม” ทรงตอกย้ำถึงเป้าหมายของการปฏิบัติร่วมกัน ด้วยการใช้คำ เช่น “สงบเรียบร้อย” “ความสุข” “ความเจริญ” และทรงกล่าวซ้ำถึงวิธีการที่จะนำพาชาติไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ด้วยการใช้คำ เช่น “ร่วมกัน” “ช่วยกัน” “สามัคคี” “มีเมตตา” “เข้มแข็ง” เป็นต้น คุณลักษณะทั้ง 3 ข้อที่แฝงอยู่ในพระราชดำรัสนั้น ก่อให้เกิดความเชื่อถือและศรัทธาจากประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ในการดำเนินรอยตามกระแสพระราชดำริผ่านพระราชดำรัส เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในภาพรวมพบว่า วัจนลีลาในพระราชดำรัสได้แสดงคุณลักษณะ “ความน่าเชื่อถือ” มากที่สุด ตามด้วย “ความเป็นปึกแผ่น” และ “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” ตามลำดับ ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวจะเปรียบเสมือนแผนที่นำทาง สำหรับผู้นำระดับต่างๆ ในการสร้างความสามัคคีและความรักให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน สังคม ไปจนถึงระดับประเทศชาติ หากผู้ได้ศึกษางานวิจัยนี้สามารถต่อยอดประยุกต์ใช้ ด้วยการนำไปประพฤติปฏิบัติแล้ว เชื่อว่าจะเป็นผลดีที่ช่วยให้เกิดการสื่อสารที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์มากขึ้น และนำมาสู่การสร้างความสงบร่วมกันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อยากให้งานวิจัยชิ้นนี้เกิดประโยชน์มากกว่าเพียงการเป็นงานวิชาการเพื่อวงวิชาการเท่านั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำเป็นหนังสือ และรูปแบบอีบุ๊กเพื่อนำมาแจกให้กับประชาชนที่สนใจ โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปีหน้า