ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้วสำหรับสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในการเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย.64 ที่ผ่านมา ถือเป็นสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นแบบทั่วประเทศ สนามสุดท้าย ก่อนที่จะไปประลองกันในยกใหม่ ที่ใหญ่กว่านั่นคือสนามเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาฯแล้วเปิดทางให้เลือกตั้งใหม่
การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั้งสิ้นทั่วประเทศ 5,300 แห่งครั้งนี้ มีขึ้นในรอบ 8ปี สร้างความคึกคักให้กับการเมืองระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองเองที่แม้ไม่ได้ส่งผู้สมัครอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่รับรู้กันว่า ใครอยู่ในสังกัดใคร หรือใครฝ่าสนามเลือกตั้งเข้ามาได้ด้วยคะแนนความนิยมของตัวเอง เป็นหลัก
แต่ที่น่าสนใจและถูกจับตาตั้งแต่ยังไม่ถึงวันหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งอบต. คือความเคลื่อนไหวของ “คณะก้าวหน้า” ซึ่งมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ประกาศความพร้อมส่งผู้สมัครลงสนามท้องถิ่น ด้วยความเชื่อมั่น และเมื่อปรากฏผลการเลือกตั้งอบต.ออกมาแล้วชัดเจนว่า คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครทั้งหมด 196 แห่งทั่วประเทศ ได้รับชัยชนะ 38 อบต. โดยคิดเป็น 19.4 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่ส่งทั้งหมด
“ การเลือกตั้งครั้งนี้ยืนยันเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาว่า อาวุธสำคัญของเราคือนโยบายที่ตอบสนองพื้นที่ ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน เช่น นโยบายด้านแก้ปัญหาปากท้อง ขณะที่ก้าวต่อไปของคณะก้าวหน้า ในระดับเทศบาลประชาชนจะได้เห็นผลงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเกิดขึ้นจริงมากกว่าที่แถลงไปแล้ว
ส่วนระดับ อบต.จะเริ่มทำงานทันที หลังได้รับการรับรองจาก กกต. โดยเราเชื่อว่าขณะนี้การที่เรามีเพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกล ทำงานในสภาฯ มี ส.อบจ. 57 คน มีนายกเทศมนตรี 16 แห่ง มีสมาชิกสภาเทศบาล 130 คน และล่าสุดคือ นายก อบต.อีก 38 คน เราจะมีคลังความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ใหญ่มาก ไม่ได้มีแค่ทฤษฎี ไม่ได้มีแค่นโยบาย”
บางส่วนบางตอนจากการให้สัมภาษณ์ของธนาธร ประธานคณะก้าวหน้า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 ภายหลังจากรู้ผลการเลือกตั้งอบต.ออกมาเรียบร้อยแล้วเมื่อค่ำคืนของวันที่ 28 พ.ย.
สำหรับธนาธร ,คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล แล้วอาจถือว่า จำนวนตัวเลข38 นายกอบต. ที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาได้ครั้งนี้คือสัญญาณในทางบวก และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ที่จะเดินหน้าบุกสนามเลือกตั้งสนามอื่นๆต่อไป
แต่หากย้อนกลับไปไล่เลียงดู “ผลการเลือกตั้ง”ในระดับท้องถิ่นมาก่อนหน้านี้ จะพบว่าคณะก้าวหน้าไม่ถือว่าประสบความสำเร็จนัก โดยเฉพาะผลคะแนนที่ออกมา “สวนทาง” อย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่ธนาธร ประธานคณะก้าวหน้าได้เคยประกาศเอาไว้ ตั้งแต่เมื่อคราวเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อ 20 ธ.ค.64
โดยก่อนวันเลือกตั้งอบจ. ธนาธร ประกาศชัดเจนว่า "คณะก้าวหน้า จะต้องชนะแบบแลนด์สไลด์ และเชื่อว่าการเลือกตั้ง ท้องถิ่นส่งผลต่อการเมืองระดับชาติ"
แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือไม่มีผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า ได้รับเลือกเลยสักที่นั่งเดียว รวมทั้งผลการนับคะแนนจากหลายจังหวัดยังชี้ว่า มีคะแนนแพ้ห่างจากผู้ที่ได้อับดับ1 หลายหมื่นคะแนน เท่ากับว่าศึกอบจ.ครั้งนั้น ธนาธร และคณะก้าวหน้า “เสียหายหนัก”
ขณะที่การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ทั่วประเทศ 2472แห่ง คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัคร 107 คน เอาชนะมาได้ 16 คนคิดเป็น 15 % ของจำนวนที่ส่งชิง แต่หากคำนวณจากทั่วประเทศ จะพบว่าได้เพียง 0.6 %
และการเลือกตั้งอบต.ครั้งล่าสุดทั้งหมดทั่วประเทศอยู่ที่ 5,300 แห่ง คณะก้าวหน้าส่งชิง 196 ชนะเข้ามาได้ 38 คน คิดเป็น 19% ของจำนวนที่ส่ง แต่ได้เพียง 0.7% ของทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ ว่าในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ ขณะนั้นต้องถือว่าเป็นพรรการเมืองหน้าใหม่ โชว์ฟอร์มสด ที่สำคัญยังมี “ธนาธร เป็นหัวหน้าพรรค เสมือนเป็นแม่เหล็ก เรียกคะแนนให้กับ “คนรุ่นใหม่” ในฐานะยังโหวตเตอร์ พบว่าพรรคอนาคตใหม่ ส่งผู้สมัครชิงส.ส.เขตครบทั้ง 350 เขต แต่ได้ส.ส.เขตมาเพียง 30ที่นั่ง คิดเป็น 8.6 % ของทั้งประเทศ และส่งผู้สมัครลงปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน สามารถทำแต้มเข้ามาได้มากถึง 50ที่นั่ง คิดเป็น 33 % ของจำนวนที่ส่งชิง และคิดเป็น 33 % ของทั้งประเทศ
หมายความว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี2562 พรรคอนาคตใหม่ กวาดที่นั่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เข้ามาได้จำนวนมากถึง 50 คน ขณะที่ส.ส.เขต ยังทำได้ไม่ดีนัก อีกทั้งยังเป็น “คะแนน” ที่ถูกเทมาจาก “พรรคไทยรักษาชาติ” ที่ถูกยุบพรรคก่อนถึงวันลงสนามเลือกตั้งอีกด้วยต่างหาก
ดังนั้น หากถามว่าสถิติ จากการเลือกตั้งในสนามระดับท้องถิ่น ภายใต้การนำของธนาธรและคณะก้าวหน้า เริ่มเข้าสู่จุดอับ กระแสการตอบรับไม่ดีขึ้น และกำลังจะกลายเป็น “เส้นกร๊าฟ” ที่ดิ่งลง เพราะอย่าลืมว่า ในการเลือกตั้งรอบหน้า พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็น พรรคเจนเนอเรชั่นที่สอง ของพรรคอนาคตใหม่ ต้องชู “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ขึ้นมาเทียบเคียงกับ “แคนดิเดตนายกฯ”กับพรรคคู่ ขณะเดียวกันเมื่อกติกาการเลือกตั้งด้วย “บัตร 2ใบ” ยิ่งไม่เอื้อต่อพรรคก้าวไกล และยังต้องรอลุ้นว่า การคิดคำนวณคะแนนส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่ลดลงเหลือเพียง 100 ที่นั่งนั้น จะเป็นประโยชน์สำหรับพรรคหรือไม่ และอย่างไร
ในเมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ กวาดส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เข้าสภาฯมาได้อย่างงดงาม ด้วยสูตรการคิดคำนวณ แบบคะแนนไม่ตกน้ำ กำลังต้องเผชิญกับ “กติกาใหม่” ที่อาจจะกระทบทั้ง ได้มาซึ่งส.ส.เขตและส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ อย่าลืมว่า ไม่เพียงแต่คณะก้าวหน้า ที่เป็นเนื้อเดียวกันกับ พรรคก้าวไกล ที่ได้พิธา มารับไม้ต่อจากธนาธร สานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น ทว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมชูประเด็นว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จาก “ม็อบราษฎร” สลับไปกับการต่อต้าน ขับไล่รัฐบาล จนส่งผลให้วันนี้บรรดาแกนนำม็อบเยาวชน พากันพาเหรดเข้าสู่เรือนจำ ถูกดำเนินคดีอาญา ในมาตรา 116 ไปจนถึงม.112 ว่าด้วยการหมิ่นสถาบัน โดยที่มีคนของพรรคก้าวไกล เปิดหน้าให้การสนับสนุน ทั้งเข้าร่วมการชุมนุม ไปจนถึงการส่งส.ส.ใช้ตำแหน่งประกันตัวให้กับแกนนำม็อบมาแล้วหลายครั้ง
วันนี้ ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยต่างแสดงท่าทีปฏิเสธแนวคิดและการเคลื่อนไหวในลักษณะก้าวล่วง จาบจ้วงสถาบัน อย่างชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่า อุปสรรคใหญ่ที่อาจฉุดรั้ง พรรคก้าวไกลในสมรภูมิเลือกตั้งส.ส.เปิดฉากขึ้น อาจไม่ใช่เพียงแต่ “ความนิยม” ของพรรคเท่านั้นที่จะลดน้อยลงไป
หากแต่อย่าลืมว่า “ฝั่งตรงข้าม” โดยเฉพาะฝ่ายประกาศจุดยืน พิทักษ์ปกป้อง “สถาบัน” จะต้องนำเลือกโจมตีไปยังจุดที่เปราะบาง ความสัมพันธ์ แนวคิดและเป้าหมายการปฏิรูปสถาบัน ของพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ที่สอดคล้อง ในทิศทางเดียวกันกับ ม็อบราษฎร ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่งมีคำวินิจฉัย “ 3แกนนำ” ว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข !