ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “ความรักมีวิถีทางที่ยิ่งใหญ่ แม้มันจะผลักให้คู่รักต้องพลัดหลงกันไปคนละทิศละทาง แต่ด้วยความหมายอันเป็นศรัทธา ความรักจะเชื่อมหัวใจแห่งรักเอาไว้ด้วยกันเสมอ ทั้งด้วยเงื่อนไขแห่งชะตากรรมและด้วยรอยอารมณ์แห่งความคะนึงหา” นี่คือสาระอันแนบชิดและลึกล้ำของนวนิยายแห่งความรักที่สามารถพาให้ทุกคนดำดิ่งลงไปถึงความหมายอันหยั่งลึกแห่งรักที่ยังดำรงอยู่เสมอ เป็นความทรงจำ เป็นรอยอาลัยและบทเรียนแห่งคุณค่าของตัวตนที่ไม่อาจลืมเลือนและสลัดพ้น “ตามรอยรัก” (O Zahir) ผลงานการประพันธ์ที่เจิดกระจ่างด้วยภาษาอันวิจิตรตระการแห่งรัก ที่อุบัติขึ้นจากประสบการณ์ที่สั่นไหวอันเป็นพื้นฐานแห่งความเข้าใจในชีวิต ที่ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากความซับซ้อนของอารมณ์แห่งแรงปรารถนาอันเร้นลึกของ “เปาโล คูเอลญู” (Paolo Coelho) นักเขียนชาวบราซิลที่เชื่อกันว่ามีอิทธิพลต่อผู้อ่านมากที่สุดในโลก นวนิยายเรื่องนี้ผูกโยงเรื่องราวผ่านมิติชีวิตอันลึกเร้นของนักเขียนหนุ่มที่เกิดมีอาการและความรู้สึกอันลิงโลดเมื่อได้ประจักษ์ว่า ภรรยาของตัวเองได้หายตัวไป... นั่นหมายถึงนัยแห่งความเป็นอิสรภาพได้เกิดขึ้นกับตัวตนแห่งจิตวิญญาณของเขาอีกครั้ง ท่ามกลางกลิ่นอายของความเลือนหายที่ลึกลับ... ทำไมเขาถึงรู้สึกเช่นนั้น... รู้สึกถึงอิสรภาพ แท้จริงแล้ว... อิสระที่เกิดขึ้นกับชีวิตในบริบทแห่งการพรากจากเช่นนี้ เกิดขึ้นมาจากอะไรกันแน่... มันเกิดขึ้นได้อย่างไร... ปริศนาอันชวนใคร่ครวญนี้ กลายเป็นคำถามที่เขาต้องตอกย้ำ ถามไถ่ตัวเองอยู่ซ้ำๆกันเมื่อเวลาล่วงผ่านไป ยิ่งเนิ่นนานเขาก็ยิ่งได้สัมผัสและค้นพบกับอาการที่เจ็บปวดและหดหู่กับการที่ต้องอยู่โดยลำพัง อิสรภาพอันชื่นบานและงดงามในปรารถนาที่เริ่มต้น ได้ค่อยๆรุกรานจิตวิญญาณและทำลายความมั่นคงแห่งพลังความเชื่อมั่นของเขาให้ลดทอนลงอย่างไม่น่าเชื่อ... การอยู่โดยลำพังกลับกลายเป็นความเดียวดาย ชีวิตที่อิ่มเต็มกลายกลับเป็นชีวิตว้างที่ก่อเกิดเป็นการถูกกักขัง จนกระทั่งเขารู้สึกที่อยากจะหนีไปจากอิสรภาพที่เพิ่งได้รับมา อันเป็นดั่งภาพลวงตาที่ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล... จากความคิดถึงอันบางเบา แปรเปลี่ยนเป็นภาวะแห่งการตะเกียกตะกายและโหยหา เป็นความว้าวุ่นกระวนกระวายที่กระทบใจอย่างถึงที่สุด... “บางทีการพลัดพรากจากคนที่เคยเป็นความรัก... ก็สร้างความทุกข์ที่แสนจะทรมานให้แก่ผู้ที่ไม่รู้ค่าเสมอ” นักเขียนผู้นี้ไม่สามารถเขียนเรื่องราวแห่งความรักไปตามแรงปรารถนาแห่งชีวิตอันจริงอันเริงร่าได้... เพราะด้วยความหมายที่แท้ “ความรักไม่ใช่เรื่องล้อเล่นและความสุขอันเนื่องมาแต่ความรักนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยลำพัง... มันเป็นเรื่องเฉพาะที่ดื่มด่ำระหว่างหัวใจของคนเพียงสองคนเท่านั้น” แล้วเขาก็กลายเป็นคนที่หมกมุ่น... จมปลักอยู่กับการคิดคำนึงถึงเธอ... รอยบาปจากการพลัดพรากสอนบทเรียนให้เขาได้พบกับข้อตระหนักของความเป็นจริง... ความเป็นจริงที่ว่า... “ไม่มีใครที่มีความหมายในห้วงแห่งรักของเขาได้เท่ากับเธอ และเธอคือผู้หญิงของความรักที่มีคุณค่าต่อชีวิตของเขามากที่สุด” ภาวะแห่งการรับรู้ในรายละเอียดอันก่อเกิดจากจุดเล็กๆที่เปรียบดั่งละอองไอของความรักที่แท้จริงเช่นนี้ คือบทสะท้อนอันละเมียดละไมในเชิงวรรณกรรม... ที่ถูกสื่อสารและสะท้อนภาพออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยม... รอยอาลัยในความรักสร้างจิตสำนึกคิดแห่งการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับหัวใจของผู้อ่านที่มีโอกาสได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้... เป็นผัสสะแห่งการก้าวย่างไปสู่ความหมายบริสุทธิ์แห่งศรัทธา ที่ความรักได้สร้างและมอบไว้แก่มวลมนุษย์ ไม่ใช่ด้วยกลไกทางสมอง แต่เป็นด้วยกิ่งใบอันละเมียดละไมของหัวใจที่ไม่เคยหลอกลวงผู้ใด เหตุนี้การเดินทางไกลของเขาจึงเริ่มต้นขึ้นเพื่อติดตามหาเธอ... “ตามรอยรัก” ไปพร้อมๆกับการย่างก้าวไปบนหัวใจอันสับสนซับซ้อนในตัวตนของตน... การเดินทางที่ถูกครอบงำไว้ด้วยจริตอันมืดมนจนทำให้เขาต้องหลงทาง... ซึ่งแน่นอนว่า... ทุกย่างก้าวแห่งการเดินทางของเขา... เขาจำเป็นที่จะต้องค้นหาตนเอง... ค้นหาตัวตนที่หลงทางในมิติแห่งความเป็นชีวิตคู่... ในวิถีที่แสนจะทอดยาวและห่างไกล ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น... ชีวิตรักของนักเขียนผู้นี้ก็ย่ำอยู่กับรอยเดิมๆของจารีตนิยม... ที่สังคมมักจะสร้างค่าให้ชีวิตต้องเผชิญหน้ากับความรักด้วยทัศนคติดั้งเดิม แต่งงาน อยู่กับบ้าน จมปลักอยู่กับค่านิยมของความเป็นผัวเมียที่ผู้หญิงต้องตกอยู่ในทาบเงาเชิงอำนาจที่บดบังอิสรภาพของความรักและความเป็นเสรีที่ไม่สามารถโลดทะยานไปสู่ความใฝ่ฝันได้... แท้จริงผู้หญิงต่างหากที่ถูกกักขังและเธอต้องการอิสรภาพ... ต้องการรอยทางของการมีชีวิตอยู่ร่วมกับความรัก ด้วยความผูกพัน ด้วยความดูดดื่ม และด้วยมนตราแห่งเสน่หา... แต่โดยเงื่อนไขของการมีชีวิตคู่... ในโลกวันนี้ความรักและการอยู่ร่วมกันมันไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ แต่กลับเกิดขึ้นโดยเงื่อนไขอันจนตรอกของการจำยอมที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องทนแบกรับ... แบกรับอยู่กับภาวะของ “รักลวง... ความรักที่ไม่ได้รัก... การจำยอมที่จะต้องอยู่ร่วม” ทั้งหมดล้วนเป็นดั่งตราบาปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้มนุษย์ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะต่อต้านและพังทลายกรงขังแห่งจารีตประเพณีนี้ออกไปสู่ความเป็นอิสรภาพ... การอยู่กับโลกสมมติซ้ำๆเดิมๆทำให้ทั้งชายและหญิงต่างคนต่างให้ค่าความหมายของชีวิตไปตามบริบทดั้งเดิมจนคิดกันไปว่ามันคือสิ่งที่ดีที่สุด... จากระบบของการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันตามกฎเกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาครอบงำและปิดกั้นจิตวิญญาณอันเสรีของมวลมนุษย์... เปาโล คูเอลญู ได้พยายามที่จะบอกกับทุกคนผ่านนวนิยายแห่งความรักเรื่องนี้ว่า “แล้ววันหนึ่งถ้ามนุษย์ยังยอมให้ชีวิตถูกครอบงำอยู่ในจารีตแห่งวิถีทางเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะบังเกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตรัก... เป็นพลังที่ถูกอัดแน่นและกดทับให้ชีวิตต้องพบกับปมเงื่อนแห่งความกระทบกระเทือน อันถือเป็นจุดแตกดับแห่งความดีงามที่ชีวิตไม่เคยเผชิญ... และไม่เคยคิดที่จะรับมือกับหายนะแห่งความรู้สึกที่รุนแรงนี้มาก่อน...” ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนอะไร... และระหว่างชายกับหญิงในรูปรอยของความรัก... ใครคือผู้ที่เป็นความรักและเป็นผู้เข้าใจในรักได้มากกว่ากันกันแน่ “เอสเทอร์” เป็นผู้หญิง... เธอมีอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวสงครามที่เพิ่งกลับจากอิรักเพราะกลัวการถูกโจมตี เจ้าของสองรางวัลผู้สื่อข่าวนานาชาติ เธออายุ 30 ปี แต่งงานแล้ว ไม่มีลูก... แต่เธอกลับหนีไปกับชายคนหนึ่งที่ไม่มีใครทราบชื่อ อายุน้อยกว่าเธอ เขามีอายุราวยี่สิบสามหรือยี่สิบห้าปี ผิวดำแดง หน้าตาเหมือนคนมองโกเลีย... ตำรวจได้รับแจ้งว่าพวกเขาเคยพบกันมาก่อน แต่ไม่มีใครรู้ว่ากี่ครั้งแล้ว... เอสเทอร์พูดอยู่เสมอว่าผู้ชายคนนั้น... เป็นคนที่มีความสำคัญมาก แต่เธอก็ไม่เคยบอกกับใครว่าสำคัญต่ออาชีพการเป็นผู้สื่อข่าวของเธอหรือสำคัญต่อเธอในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง... เธอหายไปพร้อมกับเขา ไม่ได้เอาเสื้อผ้าไป แต่แปลกที่หาหนังสือเดินทางของเธอไม่พบ สำหรับเขา... ไม่พบประวัติอาชญากรรมและไร้ร่องรอยว่าเขาเป็นใคร... มีการคาดการณ์กันไปต่างๆนานาว่าอาจเป็นการลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่ การอุ้มไปฆ่า การแบล็กเมล์ ฯลฯ แต่เธอก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนคิด... เธอจากไปพร้อมกับการตามหาจากเขาผู้เป็นสามี... หลังจากที่เขาตกอยู่ในบ่วงแห่งความหลงใหลในอิสรภาพแห่งการได้อยู่คนเดียวชั่วขณะหนึ่ง... แต่ที่สุดเขาก็ต้องยอมจำนนกับความรู้สึกอันแท้จริง... เอสเทอร์ยังมีความหมายกับเขาอยู่... เขาไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเอสเทอร์ยังคงรักเขาอยู่ไหม แต่เมื่อความอ้างว้างและคะนึงหาอันเนื่องมาแต่การพลัดพรากจากคนรักก็ทำให้เขาต้องถามตนเองและเตือนสติตนเองอย่างระมัดระวังว่า... หากมีโอกาสได้พบกับเธออีกครั้งเขาจะไม่เร่งรัดสถานการณ์ระหว่างเขาและเธอที่จะทำให้ตัวเองผิดพลาดเหมือนในอดีตอีก... เขาจำเป็นต้องรู้จักตัวเองให้ดีกว่านี้... ต้องรู้ว่าอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไปและที่สำคัญก็คือการต้องเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดจุดหักเหในชีวิตรักที่มีความสุขมาโดยตลอด... นั่นหมายถึงว่าเขาจะต้องรู้จากตัวของ “เอสเทอร์” รู้ถึงการแปรเปลี่ยนซึ่งเธอได้ค้นพบระหว่างที่เขาและเธอได้ใช้ชีวิตรักร่วมกัน นั่นเป็นเรื่องที่เขาจำเป็นต้องตระหนักระหว่างการ “ตามรอยรัก” เช่นเดียวกับอุบัติการณ์ของอดีตว่ามันคือความหมายของสิ่งใดกันแน่... ในการที่เขาและเธอได้พบกันและรักกัน มันเป็นเรื่องของชะตากรรมหรืออื่นใด... เขาจำเป็นต้องรู้จักตนเอง ณ ปัจจุบันและอนาคตให้มากกว่านี้ ตราบใดที่เขายังตกอยู่ในโลกแห่งความรู้สึกที่ถูกกักขัง... เป็นภาวะแห่งการถามคำถามให้แก่ชีวิตที่ไม่อาจหาคำตอบอันลงตัวและเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ “ผมรู้จักแสดงออกถึงความรักที่ตนเองมีให้ภรรยาหรือเปล่า ก็อาจจะมีอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่บ่อยสักเท่าไหร่ เพราะอะไรน่ะหรือ... ก็เพราะผมคิดว่าไม่จำเป็น... เธอต้องรู้สิว่าผมรักเธอ... เธอไม่ควรระแวงสงสัยในความรู้สึกของผม...” หรือนี่คือสิ่งที่แอบซ่อนแห่งความเห็นแก่ตัวที่เอสเทอร์ได้ใช้ชีวิตร่วมกับเขามา... จริงๆแล้วทัศนคติแห่งความรักของเขาเป็นเช่นใด... เขาเชื่อมันศรัทธาในวิถีแห่งความเป็นชีวิตรักที่ถูกต้องเช่นใดกันแน่... “ผมเป็นคนที่แสวงหาการผจญภัยไปพร้อมๆกับความมั่นคง ทั้งๆที่รู้ว่าทั้งสองสิ่งไปด้วยกันไม่ได้ แม้ว่าผมจะแน่ใจในความรักที่มีต่อเอสเทอร์ แต่ผมก็ยังตกหลุมรักหญิงอื่นๆได้ง่ายๆ เพียงแค่เพราะว่าเกมบริหารเสน่ห์เป็นเกมที่เย้ายวนใจที่สุดแล้วในโลก” เขายอมรับในวิถีแห่งรักและทัศนคติอันเต็มไปด้วยความเป็นปัจเจก... มีคนเคยถามเขาว่าในบรรดาคู่ควงที่เข้ามาในชีวิตของเขา ทุกคนมีอะไรที่เหมือนกันบ้าง “คำตอบนั้นง่ายมาก ก็ตัวผมยังไงล่ะ” มีผู้หญิงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาในชีวิตของเขา แต่เขาก็ยังคงเป็นตัวเขา... ไม่เคยรู้จักเรียนรู้อะไรเลยจากการที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น เขาเฝ้ารอคนที่ใช่อยู่ตลอดเวลาเป็นฝ่ายบงการชีวิตของผู้หญิงบ้าง ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายบงการชีวิตของเขาบ้าง... ความสัมพันธ์เป็นอยู่อย่างนั้นจนเอสเทอร์ก้าวเข้ามาในชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างในฉากชีวิตของเขาจึงเปลี่ยนแปลงไป... และยิ่งเมื่อเธอตัดสินใจจากเขาไป เขาจึงได้ค้นพบพลังแห่งความรู้สึกรัก... จากอารมณ์ที่หมกมุ่นฟูมฟายต่อการพลัดพราก... ค่อยๆกลายเป็นการเรียนรู้ที่ละเมียดละไมเมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี... เขาใช้การเขียนหนังสือเป็นการเยียวยาและหาทางออกที่สำคัญ “แม้ว่าจะมีวาระฉีกขาดและวาระเย็บที่จะบอกกล่าวเรื่องจริงเกี่ยวกับชีวิตของผม แต่เหนือสิ่งอื่นใดหนังสือก็คือคำให้การที่ผมให้กับตัวเองว่า... ผมก็รักคนอื่นและคิดถึงคนอื่นเป็นเหมือนกัน... เอสเทอร์ควรจะได้อะไรมากกว่าคำพูด โดยเฉพาะคำพูดที่แสนง่ายที่ผมไม่เคยพูดตอนที่อยู่ด้วยกัน” “ตามรอยรัก” (O Zahir) แปลเป็นภาษาไทยด้วยภาษาแห่งความรู้สึกที่งดงามแห่งรัก... ภาษาที่เป็นประกายของอารมณ์การรับรู้ที่ลึกซึ้ง มีเสน่ห์ และชวนติดตามโดย “ประโลม บุญรัศมี” ผู้ดื่มด่ำและเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในผลงานของ “เปาโล คูเอลญู” ผ่านภาษาโปรตุกีส “ความรักมีวิถีทางที่ยิ่งใหญ่... ด้วยความหมายอันเป็นศรัทธา ความรักจะเชื่อมหัวใจแห่งรักเอาไว้ด้วยกันเสมอ ทั้งด้วยเงื่อนไขแห่งชะตากรรมและด้วยรอยอาลัยแห่งความคะนึงหา” “ฉันกำลังท้องค่ะ”... “กับเขาหรือ”... “ไม่ใช่หรอกค่ะ... แค่คนที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป” เธอล้วงเศษผ้าเปื้อนเลือดออกมาจากชุดสีขาวแล้วมอบให้เขาทั้งน้ำตาคลอเบ้า... “ฉันขอมอบให้คุณค่ะ... ฉันคิดถึงเวลาที่เราทะเลาะกัน” และนี่คือบทสรุปแห่งรัก... บทปิดท้ายของการ “ตามรอยรัก”ที่ถูกสื่อสารออกมาด้วยภาษาที่ง่ายแสนง่าย แต่กลับเปี่ยมล้นไปด้วยความเต็มตื้นในปริศนาและรอยอำพรางแห่งปรารถนาของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความรักที่ไม่เคยตายจากไปอย่างแท้จริง