มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) และบริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามเอ็มโอยูร่วมพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการและงานวิจัย เพื่อการผลิตและส่งออกถ่านกัมมันต์คุณภาพสูงจากไม้และชีวมวลภายในประเทศ ลดการนำเข้า และกระจายรายได้สู่ชุมชนและภาคการเกษตร ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มวล. และ ดร.ศิริศักดิ์ สุขสุจริตพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกัน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการและการวิจัยในการผลิตและส่งออกถ่านกัมมันต์คุณภาพสูงจากไม้และชีวมวลภายในประเทศ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. และ ดร.ธานี เจิมวงค์รัตนชัย ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามเป็นพยาน ท่ามกลางคณะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลาการทั้ง 2 ฝ่าย และผู้บริหารจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันเป็นสักขีพยาน ทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่พลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้า ซึ่งอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า เช่น ตัวเก็บประจุยิ่งยวด หรือแบตเตอรี่ มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น และตัวแปรสำคัญที่จะได้มาซึ่งอุปกรณ์กักเก็บประสิทธิภาพสูง คือ วัสดุขั้วอิเล็กโทรด ซึ่งถ่านกัมมันต์ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรด และปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าถ่านกัมมันต์เกรดตัวเก็บประจุยิ่งยวดมาจากต่างประเทศ ซึ่งทำจากขี้เลื่อยไม้สนและมีราคาประมาณกิโลกรัม ละ 2,500 บาท โดยมูลค่าตลาดทั่วโลกของถ่านกัมมันต์เกรดตัวเก็บประจุยิ่งยวดในปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชีวมวลในปริมาณมาก เช่น ไม้ยางพารา ยูคาลิปตัส ปาล์มน้ำมัน ไผ่ มะพร้าว เป็นต้น จึงมีศักยภาพสูงพอที่จะผลิตถ่านกัมมันต์เกรดตัวเก็บประจุยิ่งยวดได้เอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้า และเพิ่มมูลค่าให้กับไม้และชีวมวลภายในประเทศ เป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมถ่านกัมมันต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถสร้างรายได้ย้อนกลับสู่เกษตรกร จากอุปสงค์และราคาไม้ยางพาราที่สูงขึ้น เป็นประโยชน์แบบเกื้อกูลระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบยั่งยืนได้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กล่าวอีกว่า มวล.เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงเปิดให้มีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวัสดุชีวภาพและการสังเคราะห์วัสดุชีวภาพมูลค่าสูง ในสาขาวิชาปีโตรเคมีและพอลิเมอร์ ภายใต้สังกัดสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ เพื่อดำเนินงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีไม้และวัสดุชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยและบริการวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความพร้อมในการขยายงานสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในกิจกรรมอื่นซี่งจะส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป