ระบุที่ว่าไทยเกือบรั้งท้าย 100 จาก 112 ปท.เป็นการสำรวจไม่มาตรฐานผ่านระบบออนไลน์ ทั้งข้อสอบ EF ไม่มาตรฐาน ขณะหลักเกณฑ์สพฐ.ใช้เกณฑ์ CEFR ส่วนที่แนะให้ศธ.เพิ่มทางเลือกเรียนรู้ตลอดชีวิต มีกศน.ที่ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมเดินหน้าสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้ไม่มีความหลื่อมล้ำ หรือให้มีน้อยที่สุด
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดก.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุขณะนี้การศึกษาไทยทำเด็กไทยไร้อนาคต ปัญหาการศึกษาของไทยอยู่ในภาวะใกล้ปรอทแตกจากปัญหาสะสมหลายด้าน ทั้งกรณีผลสำรวจทักษะความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index) ปี 2021 ของเด็กไทยรั้งท้ายตารางอยู่อันดับที่ 100 จากทั้งหมด 112 ประเทศ รวมทั้งเด็กอีกจำนวนมากเข้าไม่ถึงเครื่องมือสื่อการเรียนในช่วงโควิด 19 โดย ศธ.ควรเพิ่มทางเลือกในการส่งเสริมการศึกษาผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) อย่างจริงจัง ลดความเหลื่อมล้ำด้วยอินเทอร์เน็ตดี ฟรีค่าใช้จ่าย ใช้งานได้จริง เพื่อให้เด็กเข้าถึงความรู้ เป็นผู้ชี้นำการเรียนรู้ของตนเองนั้น
ปลัดศธ.กล่าวว่า ประเด็นกรณีผลการสำรวจทักษะความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index) ปี 2021 ของเด็กไทย รั้งท้ายตารางอยู่อันดับที่ 100 จากทั้งหมด 112 ประเทศนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว จากการวิเคราะห์ขั้นตอนการได้ผลคะแนนจากข้อสอบ EF SET พบว่าไม่น่าจะเป็นมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นการสอบผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ Test Condition คือ ไม่มีผู้คุมสอบ (Invisgerator) จึงทำให้ไม่ทราบว่า ผู้ทำข้อสอบเป็นใคร ใบ Certificate เพียงกรอกข้อมูลลงในระบบก็ได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และการตรวจสอบผลคะแนนย้อนหลัง ไม่สามารถดำเนินการได้
รวมทั้งข้อมูลที่ปรากฏใน Certificate ด้วย อ้างอิงจาก เว็บไซต์ ของ EF พบว่า ข้อสอบ EFSET ถูกออกแบบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือประกอบการเรียนรู้ (Learning Tool) เท่านั้น อีกทั้งจากบทรายงานการวิจัยของ EF ข้อสอบ EFSET ถูกออกแบบมาเพื่อจัดระดับ Placement นักเรียนให้เหมาะสมกับหลักสูตรของ EF จากการรายงาน (Report) ไม่มีการระบุจำนวน และที่มาของกลุ่มตัวอย่าง (Samples) จากทุกประเทศที่นำมาจัดอันดับ และไม่ทราบว่ามีจำนวนกลุ่มตัวอย่างเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนในระดับประเทศหรือไม่ รวมทั้งข้อสอบของ EF ไม่มีกระบวนการหาคุณภาพข้อสอบ (Validation) จากหน่วยงานภายนอก จึงไม่ถือว่าเป็นข้อสอบที่มีมาตรฐาน ตลอดจน EFSET ไม่ใช่ข้อสอบในลักษณะที่ออกเพื่อพัฒนา 4 ทักษะ เพื่อนำมาพัฒนา
ในส่วนมาตรฐานของ สพฐ. ใช้หลักเกณฑ์ของชุดข้อสอบตาม CEFR 4 ทักษะ เพื่อใช้ในการพัฒนาครู นำไปถ่ายทอดลงสู่นักเรียน โดยมีการพัฒนาครูแกนนำภาษาอังกฤษ (Thai Master Trainers) หลักสูตร Boot Camp และ Boot Camp Turbo จำนวน 28,000 คน คิดเป็นร้อยละ 90 ของครูภาษาอังกฤษทั้งหมด และมีการสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษผ่านศูนย์ HCEC 185 ศูนย์ อีกทั้งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูผู้สอนภาษาอังกฤษและครูผู้สอนวิชาอื่นๆ ทั้งแบบ On-Site / Online และ On-Demand รวมทั้งวางแผนการสอบวัดมาตรฐาน CEFR สำหรับนักเรียน / ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนวางแผนเรื่องการร่วมมือกับ TESOL และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศในการพัฒนาครูภาษาอังกฤษ
ส่วนประเด็นที่แนะนำให้ ศธ.ควรพิจารณาเพิ่มทางเลือกในการส่งเสริมการศึกษาผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นหน่วยงานทางการศึกษาที่ดูแลการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้บริการแก่ผู้เรียนและประชาชนโดยเฉพาะการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เรียนที่อายุเกิน 15 ปีขึ้นไปเป็นหลัก และมีผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกลราว 20,000 ราย ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี
โดยในปีการศึกษา 2564 มีผู้เรียนจำนวน 8 แสนกว่าคน จัดเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกผลักออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ด้อย พลาด ขาดโอกาสทางการศึกษา ที่สำนักงาน กศน. ต้องดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ สำนักงาน กศน.จัดเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย โดยมีสื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนในสถานการณ์โควิด 19 ผ่านระบบออนไลน์ อาทิ ระบบโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) ซึ่งมีสาระความรู้ในทุกสาระวิชาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการติวเข้มเติมเต็มความรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) มีระบบคลังความรู้ กศน. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Thailand Knowledge Portal :TKP) โครงการส่งเสริมและพัฒนาระบบการศึกษาออนไลน์ที่ส่งเสริมในระบบส่วนกลาง และสถานศึกษา กศน. ในระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบ LMS (Learning Management System)
รวมถึงมีระบบสื่อการศึกษาออนไลน์ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงผ่าน Video On demand ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษาผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยอินเทอร์เน็ตฟรีค่าใช้จ่าย ใช้งานได้จริง สร้างทางเลือกในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านอินเทอร์เน็ต ฟรีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ เป็นผู้ชี้นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยประสานงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ สนับสนุนค่าเช่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับตำบล 1,378 แห่ง ซึ่งเปรียบเสมือนห้องเรียนและเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรีในการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยการจัดการศึกษาแบบทางไกล (Distance Learning) ยังถือเป็นการศึกษาทางเลือกที่ต้องมีระบบ LMS หรือเป็นระบบส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยการจัดการศึกษาในระบบทุกระดับถึงอุดมศึกษายังใช้การเรียนแบบ Classroom & Science Lab เป็นแนวทางหลัก
“กระทรวงศึกษาธิการยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีดิจิทัล และองค์ความรู้ต่างๆ ในศตวรรษที่ 21 มีศักยภาพในการเข้าร่วมพัฒนาสังคม ตลอดจนประเทศชาติให้ก้าวสู่สังคมที่เป็นธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ หรือคงเหลือความเหลื่อมล้ำให้น้อยที่สุด เท่าที่จะน้อยได้” ปลัด ศธ.กล่าว