เมื่อวันที่ 29​ ​พฤศจิกายน​ 2564 นายบรรยง​ วิทยวีรศักดิ์​ อดีตนายกสมาคมตัวแทนและที่ปรึกษาการเงิน (Thaifa)​ และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ได้โพสต์บนเพจเฟสบุ๊คว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ ติดง่าย แต่ไม่ร้ายแรง ข่าวอัพเดทจากประเทศแอฟริกาใต้ โควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการจากองค์การสหประชาชาติว่า โอไมครอน (Omicron) ขณะนี้ มีข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้ 1. ติดเชื้อง่าย สายพันธุ์โอไมครอนแพร่เชื้อได้เร็วที่สุดในจำนวนสายพันธุ์ของโรคโควิดทั้งหมด อัตราส่วนที่วัดได้ในปัจจุบันคือ 1:2 หรือผู้ป่วย 1 คน มักแพร่เชื้อไปได้อีก 2 คน แซงหน้าสายพันธุ์เดลต้า (ดูภาพกราฟประกอบ) 2. อาการไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด แพทย์หญิง Angelique Coetzee นายกสมาคมแพทย์แอฟริกาใต้ ผู้ค้นพบเชื้อโอไมครอน รายงานว่า อาการที่พบเห็นของผู้ติดเชื้อนี้มักจะเป็นไม่มาก โดยมีอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว แต่ไม่พบอาการสูญเสียการรับรสหรือดมกลิ่น อีกทั้งไม่มีอาการออกซิเจนในเลือดต่ำ (ซึ่งเป็นสาเหตุหลักให้คนเสียชีวิต) เธอจึงให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาที่บ้าน (โดยข้อมูลถึงเย็นวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ยังไม่พบคนที่เสียชีวิตจากสายพันธุ์ใหม่นี้จากทั่วโลก) 3. ผู้รับวัคซีนแล้ว ก็ติดเชื้อนี้ได้ ในจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนนี้ มีหลายคนที่เคยติดเชื้อโควิดแล้ว หรือเคยได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังติดเชื้อ แต่ยังวัดไม่ได้ เพราะประชากรแอฟริกาใต้ฉีดวัคซีนไปเพียง 25% และส่วนใหญ่ฉีดแค่เข็มเดียว 4. ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 40ปี จึงไม่มีข้อมูลว่า ผู้สูงอายุจะมีภูมิคุ้มกัน หรือถ้าผู้สูงอายุติดเชื้อ อาการจะเป็นอย่างไร 5. องค์การอนามัยโลกไม่ยืนยันข้อมูล องค์การอนามัยโลกแถลงว่า ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะยืนยันว่า สายพันธุ์นี้ติดง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า หรืออาการรุนแรงกว่า แต่ ณ ตอนนี้ยังให้ความสำคัญกับสายพันธุ์เดลต้า ที่ยังเป็นสาเหตุหลักของการป่วยเป็นโควิดทั่วโลก 6. อุปกรณ์ตรวจเชื้อเดิมยังใช้ได้ นายแพทย์หลายคนรวมถึง ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า การตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ยังสามารถใช้ตรวจสอบสายพันธุ์นี้ได้ 7. การรักษายังใช้วิธีเดิม ยังเอาอยู่ เมื่ออาการที่พบจากสายพันธุ์ใหม่นี้ไม่รุนแรง การใช้สเตียรอยด์ และ IL6 receptor blocker ยังมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่รุนแรงอยู่ (ยืนยันโดย นพ.ธีระ) 8. วัคซีนเดิมยังช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกท่านหนึ่ง ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคสายพันธุ์ใหม่นี้ และป้องกันการเสียชีวิตได้ ส่วนที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ ต้องให้ผู้ผลิตเพิ่มเชื้อตัวใหม่นี้เข้าไป โดยต้องรออีกไม่น้อยกว่า 6 เดือนจึงจะสำเร็จ 9. วานิชธนกิจชื่อดัง ยังไม่แนะให้ปรับพอร์ต สถาบันการเงินระดับท็อปของโลก ไม่ว่า Goldman Sachs, Credit Susie’s และ J.P.Morgan ยังไม่ออกคำเตือนให้ปรับพอร์ต โดยให้รอดูไปก่อน เนื่องข้อมูลที่ชัดเจนยังไม่ออกมา 10. หลายประเทศสั่งปิดประเทศ ณ ตอนนี้ มีประเทศอิสราเอล ญี่ปุ่น และ ประเทศโมร็อกโก ได้สั่งปิดประเทศ ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้าประเทศ ยกเว้นคนในชาติที่เดินทางกลับประเทศก็ให้กักตัว 14 วัน ขณะที่หลายประเทศอย่างน้อย 44 ประเทศรวมถึงไทย สั่งงดรับคนจากประเทศในทวีปแอฟริกา เข้าประเทศของตน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับจำนวนข้อมูลที่ได้รับมากขึ้น และสถานการณ์ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะได้หาเวลาอัพเดทให้ท่านต่อไปครับ