องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development หรือ TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute หรือ TEI) จัดงานเสวนา “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนกับ ภาคธุรกิจไทย TBCSD ภายใต้วาระแห่งชาติ BCG Model” ขึ้น ภายใต้งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” (Thailand Research Expo 2021) ณ ห้อง Lotus Suite 9 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงนักวิจัยและประชาชนผู้ที่สนใจ ได้เข้าใจถึงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยในการลดการใช้ทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนไทยในปัจจุบันว่ามีการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรม อันนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต รวมถึงได้เข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศตามหลักการ BCG Economy Model ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศ ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG Model และการมุ่งไปสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero Emission หรือ Carbon Neutrality ในอนาคต นับได้ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สากลและความยั่งยืนในอนาคต โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคธุรกิจนำแนวคิดระบบ BCG มาปรับประยุกต์ใช้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และการดำเนินกิจการของประเทศไทยหลัง COP26 ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายที่เร่งรัดขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้องค์กรภาคธุรกิจไทยจึงควรดำเนินการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อนำข้อมูลที่ตรงกับบริบทขององค์กรมาใช้ทบทวนการดำเนินงานของธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมองค์กรให้ก้าวสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหากองค์กรธุรกิจใดสามารถขับเคลื่อนธุรกิจของตนให้เข้าสู่ BCG Economy Model ได้ก็จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีให้แก่องค์กรภาคธุรกิจไทยอื่นๆ สามารถนำรูปแบบการดำเนินงานที่ดีไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจขององค์กรธุรกิจนั้นๆ เพราะระบบการขับเคลื่อนธุรกิจควรจะต้องร่วมขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน เพื่อความยั่งยืนในอนาคต” นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการเสวนา “Circular Economy : เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สร้างสมดุล มุ่งสู่ความยั่งยืน” ได้มีการนำเสนอ ประเด็น “เกษตรและอาหาร: กลไกบริหารจัดการ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน” นำเสนอข้อมูลโดย น.ส.สลิลลา สีหพันธุ์ กรรมการปฏิคมหอการค้าไทย และกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านเครือข่ายสมาชิกของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เกือบ 115,000 ราย จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนผู้ประกอบการด้านการค้าและบริการ ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการดำเนินงานในปีนี้จะสร้างโมเดลต้นแบบใน 4 จังหวัดคือ กระบี่ สมุทรสงคราม (อัมพวา) ระยอง และกรุงเทพฯ จากนั้นจะถอดบทเรียนจากพื้นที่ต้นแบบไปขยายผลในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ก่อนขยายไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ จะมีระบบการเก็บข้อมูล การทำตัวชี้วัด การสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเราเชื่อว่าความร่วมมือกันของสมาชิกในเครือข่ายและภาคส่วนต่าง ๆ และการลงมือทำจริง จะก่อให้เกิดการเรียนรู้และขยายผลในวงกว้าง เพื่อตอบทั้งโจทย์ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป” นายศรชัย กุสันใจ กรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ข้อมูลการบริหารจัดการเพื่อลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดเก็บและการจัดส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ สามารถลดปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารลงได้ 20% จากปี 2561 และยังมีเป้าหมายที่จะลดลงให้ต่ำกว่า 50% ให้ได้ภายในปี 2568 อายิโนะโมะโต๊ะ เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารที่ใช้วัตถุดิบหลายชนิดจากภาคการเกษตร อาทิ แป้งมันสำปะหลัง เมล็ดกาแฟ และนมวัว ดังนั้น การควบคุมดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยนำหลักการประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซึ่งเริ่มตั้งแต่การควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ การดูแลเก็บรักษาวัตถุดิบ การควบคุมใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าและเกิดของเสียจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด ไปจนถึงการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในสภาพดีที่สุด นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่นๆที่ช่วยลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารเช่น การบริหารการจัดซื้อวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ การประมาณการใช้วัตถุดิบตามความจำเป็น และการวางแผนการผลิตให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ในตลาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดของเสียจากการหมดอายุของผลิตภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตเกิดของเสียน้อยที่สุด ตลอดจนการควบคุม ดูแลและปรับปรุงการจัดส่งและการกระจายสินค้าเพื่อลดการชำรุดเสียหายของผลิตภัณฑ์จนเกิดเป็นของเสียอีกด้วย” นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจาก UN Environment Programme (UNEP) และอาจารย์ด้านการพัฒนายั่งยืน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ข้อสังเกตจากรายงานล่าสุดของ UNEP เรื่อง ‘การใช้เทคโนโลยีสีเขียวและดิจิทัล (Green and Digital Technology) ในการลดขยะอาหารในภาคครัวเรือน’ พบว่า ที่มาของขยะอาหารภาคครัวเรือนมีความซับซ้อนจากหลายปัจจัยที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น ทัศนคติส่วนตัว ระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้การศึกษาพฤติกรรมและการเก็บข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบาย โดยในส่วนของเทคโนโลยีเพื่อการลดขยะอาหาร แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1) ‘สีเขียว’ เช่น การกักเก็บอาหาร 2) ‘ดิจิทัล’ เช่น แอปพลิเคชันแชร์อาหารเหลือ และ 3) ‘IOT’ เช่น บรรจุภัณฑ์และการติดฉลากแบบสมาร์ท อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่ต้องครอบคลุมและเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆเช่น นโยบายและกฎเกณฑ์ มาตรการด้านภาษี การร่วมมือแบบสมัครใจ และการให้ข้อมูล โดยจะต้องมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม รวมถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก” น.ส.เบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและผู้ช่วยเลขาเครือข่ายการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Thai SCP Network) กล่าวว่า “ปัญหาขยะอาหารเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมเมือง ซึ่งเป็นสังคมการบริโภคมากกว่าการผลิต มีพื้นที่น้อย มีความซับซ้อนของสังคมและระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการกำจัดขยะอาหาร จากการศึกษาพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายและแผนการลดขยะอาหารที่ชัดเจน ใช้มาตรการจูงใจและควบคุมให้เกิดการลดและคัดแยกขยะอาหารที่ต้นทาง เตรียมการและทดลองใช้มาตรการควบคุมการทิ้งขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ อาทิ ตลาด ศูนย์อาหาร อาคารชุด ซูเปอร์มาร์เกต รวมทั้ง ระดมความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตอาหาร จัดจำหน่ายสินค้าอาหาร และให้บริการที่พักและจัดเลี้ยง ในการลดขยะอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่อุตสาหกรรม และเมืองใหญ่ต่างๆ”