ยันการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ยังคงมีประสิทธิภาพ แม้โควิดกลายพันธุ์ กรมวิทย์ฯ ปรับเทคนิคตรวจเชื้อกลายพันธุ์ เชื่อไทยรับมือกับเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ หากประชาชนฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง 29 พ.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่าระบบการเฝ้าระวังของประเทศ ได้ตรวจรหัสพันธุรกรรมมาโดยตลอด ตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย.64 ได้มีการตรวจสายพันธุ์ทั้งหมด 45 ตัวอย่างจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังไม่พบโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบเพียงเดลตาและสายพันธุ์ย่อยของเดลตาเป็นส่วนใหญ่ และอยู่ระหว่างการวิเคราะห์อีก 30 ตัวอย่าง สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ทุกราย และเมื่อผลเป็นบวกจะทำการส่งตรวจหารหัสพันธุกรรมของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนต่อไปยังไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน อย่างไรก็ตาม การรับมือกับเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนคือ การฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เมื่อทำครบถ้วน เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหามากสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ที่ได้รับการรับรองจาก อย. ยังสามารถใช้ตรวจโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม แต่หากจะมีการตรวจแบบจำแนกสายพันธุ์ ว่าเป็น อัลฟา เบตา เดลตา ปัจจุบันเนื่องจากยังไม่มีชุดน้ำยาตรวจของ สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน โดยเฉพาะ ต้องอาศัยการตรวจพันธุกรรมแบบทั้งตัว ใช้เวลา 7 วัน จึงจะทราบผล ดังนั้นกรมวิทย์ฯ จึงเตรียมพัฒนาน้ำยาตรวจแยกสายพันธุ์โดยเฉพาะ คาดว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะสำเร็จ ระหว่างนี้ใช้เทคนิคการตรวจแยก จากน้ำตรวจโดยเฉพาะ 2 สายพันธุ์ คือ อัลฟา และเบตา ไปก่อน หากตรวจพบเป็น บวกตรงกัน ทั้งคู่แสดงว่า เป็นสายพันธุ์โอมิครอน โดยได้ประสานศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้ง 15 ศูนย์ ให้ใช้เทคนิคการตรวจนี้ เพื่อค้นหาแยกเชื้อโอมิครอน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของกรมการแพทย์ พบว่า สายพันธุ์โอมิครอน มีการกลายพันธุ์บางส่วนคล้ายเดลตาพลัส และเบตา คือ ตำแหน่ง K417N และอัลฟาตำแหน่ง HV69-70deletion ดังนั้น เมื่อตรวจแล้วพบตำแหน่งสองสายพันธุ์ คือ K417N และ HV69-70deletion จึงอาจระบุได้ว่าเป็นโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นการตรวจจับที่รวดเร็วกว่าการตรวจรหัสพันธุกรรม นอกจากนี้ จากการสันนิษฐานตามตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าอาจมีการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น เปลี่ยนสายพันธุ์ได้ค่อนข้างเร็ว และพบเชื้อต่อคนได้ค่อนข้างมาก ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) พบว่า เบื้องต้นการตรวจ ATK ยังสามารถใช้ได้อยู่ จากข้อมูลที่แอนติบอดี้ในชุดตรวจ ATK สามารถจับกับโปรตีน N ของเชื้อโรคโควิด-19 ประกอบกับการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าส่งผลกระทบต่อการตรวจด้วย ATK