"ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์" เป็นองค์กรหลักในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ 105 กระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีตามมาตรฐานให้เกษตรกรได้ใช้อย่างทั่วถึง ทันเวลา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ตั้งอยู่ 129 หมู่ 2 กิโลเมตรที่ 21 ถนนสุรินทร์-ปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โทรศัพท์ 044-551-092 เดิมเป็น "ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 16 จังหวัดสุรินทร์" จัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2528 ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ.2529 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 จึงย้ายมาสังกัด สำนักเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายไพรัตน์ รูปคม ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ กล่าวว่า บทบาทภารกิจศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ คือ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ 105 คุณภาพดีตามมาตรฐานให้ชาวนาได้ใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ซึ่งในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวต้องอาศัยเกษตรกรเป็นผู้ผลิตให้ศูนย์ฯ เนื่องจากศูนย์ฯไม่มีพื้นที่ที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้จำนวนถึง 3,500 ตัน/ปี ในรูปแบบรับสมัครสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ศูนย์ฯ โดยในระหว่างกระบวนการผลิตของเกษตรกรก็มีเจ้าหน้าที่แปลงออกติดตามควบคุมกำกับให้คำแนะนำทุกขั้นตอน เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตมี 2 ชั้นพันธุ์คือ ชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่าย ชั้นพันธุ์ขยายต้องรับเมล็ดพันธุ์หลักมาจากศูนย์วิจัยข้าวแต่ละปีก็ไม่เพียงพอ ก็เลยต้องผลิตชั้นพันธุ์จำหน่ายด้วย ซึ่งก็ใช้พันธุ์จากชั้นพันธุ์ขยายไปให้เกษตรกรผลิต โครงสร้างของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์มี 4 กลุ่ม 1 ฝ่าย ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์จะรวมไปถึงโรงงาน 2.กลุ่มควบคุมคุณภาพ 3.กลุ่มพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ 4.กลุ่มถ่ายทอดวิทยาการเมล็ดพันธุ์ดี และฝ่ายบริหารทั่วไป ซึ่งในแต่ภารกิจของแต่ละกลุ่มฝ่ายมีบทบาทภารกิจที่แตกต่างกันไปอย่างเช่น กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ก็เป็นไม้หนึ่งที่จะไปผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ไปสัมผัสกับเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มควบคุมคุณภาพคือเป็น QC ต้องเข้าไปควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิตไม่ว่าจะเป็นในแปลงขยายพันธุ์ ในโรงงาน ในโรงเก็บ ในด้านการตลาด ตลอดจนหลังจากที่เกษตรกรเอาเมล็ดพันธุ์ไปใช้แล้วเกิดมีปัญหาทางกลุ่มควบคุมก็ต้องไปตรวจสอบค้นหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร สรุปก็คือหัวใจสำคัญของการผลิตเมล็ดพันธุ์ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มควบคุมคุณภาพซึ่งต้องไปเข้าไปดูแลทุกขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ฯ นายวัชระ สุขแสวง นายช่างไฟฟ้าชำนาญงาน ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ กล่าวว่า กระบวนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์มีโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ 2 แห่ง มีประสิทธิภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ดีโดยรวมประมาณ 40 ตัน/วัน ภารกิจหลักในการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ คือ การคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากเมล็ดพันธุ์ให้มีได้ไม่เกิน 2% การลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ให้ต่ำกว่า 12 % โดยก่อนที่จะได้เมล็ดพันธุ์ดีที่ได้คุณภาพและมาตรฐานบรรจุกระสอบ จะต้องผ่านเครื่องจักรหลักๆ ดังนี้ เครื่องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ขั้นต้น เครื่องอบลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ด้วยตะแกรงและลม เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ตามความถ่วงจำเพาะ เครื่องคลุกสารเคมี และเครื่องชั่งบรรจุ เย็บกระสอบ เมล็ดพันธุ์ดีที่บรรจุกระสอบแล้วจะถูกส่งไปยังกลุ่มพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ จัดเก็บในโรงเก็บ เพื่อรอการจำหน่าย และจัดส่งโครงการต่างๆ ซึ่งขณะนี้เป็นฤดูกาลที่จะเริ่มปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ คือ ฤดูฝน ปี 2564 โดยจะเริ่มปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ประมาณเดือนธันวาคม 2564 เป็นช่วงที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์เริ่มจัดซื้อคืนเมล็ดพันธุ์ข้าวจากสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ศูนย์ฯ และก่อนที่จะนำเมล็ดข้าวเข้ามาปรับปรุงสภาพในโรงงาน ก็มีการเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรและระบบควบคุมต่างๆ มีการทำความสะอาดเครื่องจักรทุกจุด ไม่ให้มีเมล็ดข้าวและสิ่งเจือปนต่างๆตกค้างตามเครื่องจักรหรือตามพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพันธุ์ปะปนจากฤดูกาลที่ผ่านมาตกค้างอยู่ในเครื่องจักร ด้านนายทินภัทร พวงสด นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มควบคุมคุณภาพ มีหน้าที่ในการควบคุมและตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการเมล็ดพันธุ์ก่อนจัดทำแปลง ควบคุมแปลงขยายพันธุ์ก่อนที่จะนำส่งจำหน่ายให้ศูนย์ รวมไปถึงขั้นตอนระหว่างจัดซื้อและการเก็บรักษา ก่อนที่จะปรับปรุงสภาพต้องมีการตรวจสอบ สุ่มตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ และหลังจากที่ปรับปรุงสภาพต้องมีการตรวจสอบคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาด้วยทุกๆเดือน นอกจากนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ ยังมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่าย เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและกระจายพันธุ์ข้าวตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และดำเนินงานโครงการตามนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อส่งเสริม เผยแพร่ และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร พัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของท้องถิ่น ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดสู่การลดต้นทุนการผลิตข้าวและสร้างรายได้เพิ่มสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน