เมื่อเวลา​ 09.10 น. วันที่ 26 พ.ย.64 ​ที่ทำเนียบรัฐบาล​ นพ.อุดม​ คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)​ หรือ​ ศบค.​ กล่าวก่อนการประชุม​ศบค.​ชุดใหญ่​ ถึงความเป็นห่วงกรณีที่มีหลายเทศกาลช่วงเดือ​น ธ.ค.ว่า​ เป็นห่วงแน่นอน ถ้าดูสถานการณ์ทั้งโลกจะเห็นว่าตัวเลขกำลังขึ้นมาก โดยเฉพาะในยุโรป ที่ผ่านมาสถานการณ์ของเราก็ตามยุโรป 2-3 เดือนทุกที ตนจึงคิดว่าการผ่อนปรนทำได้แน่นอน เพียงแต่ต้องเคร่งครัดเรื่องมาตรการ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ไม่เช่นนั้นมันขึ้นแน่นอน เพราะขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเย็นไวรัสจะเติบโตได้ดี นพ.อุดม กล่าวว่า อย่างเรื่องวัคซีนที่ยุโรปใช้วัคซีนที่ดี ครอบคลุม 70-80 เปอร์เซ็นต์​ก็กลับมาระบาดใหม่ สิ่งที่อยากจะเตือน คือ พอเราฉีดวัคซีนแล้วเริ่มจะสบายใจ ลั้นลากัน ซึ่งในยุโรปพอฉีดวัคซีนแล้วไม่ใส่หน้ากากอนามัยเลย ไม่มีการเว้นระยะห่าง ทัศนคติตรงนี้ต้องช่วยกันปรับ อย่างเมื่อเช้าตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ของไทยเริ่มกระดกขึ้น และหลังจากเราเปิดอะไรสักอย่าง 2-4 สัปดาห์ ตนเชื่อว่าตัวเลขต้องขึ้นแน่นอน เพียงแต่อาจจะไม่เยอะ แต่จะทำให้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการเปิดประเทศ อยากย้ำว่าวัคซีนสำคัญสุด ต้องช่วยกันฉีด เป้าหมายฉีดเข็มแรก 50 ล้านคน ขณะนี้ฉีดไป 47 ล้านคนแล้ว เหลืออีก 3 ล้านคน และเดือนธ.ค.จะครบเข็ม 2 เพราะวัคซีนเพียงพอแน่นอน อยากให้ช่วยกระตุ้นประชาชน อย่างน้อยไม่เจ็บป่วยรุนแรง นพ.อุดม​ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก​ (WHO) ออกมาเตือนว่า จะมีการระบาดใหญ่และได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา คนเจ็บป่วยรุนแรงน้อยกว่าประเทศที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นตัวหลัก ตอนนี้จึงอยากบอกว่าฉีดอะไรก็ได้ฉีดไปก่อน เราโชคดีที่มีวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นตัวหลัก หรือแม้แต่การที่เราฉีดวัคซีนซิโนแวคเยอะก็สามารถป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงได้แน่นอน ตรงนี้ถือเป็นการช่วยประเทศ ช่วยให้ระบบสาธารณสุขไม่มีภาระมากเกิน ไม่เช่นนั้นเราจะมีปัญหาเรื่องเตียง "ผมกังวลนะ เดี๋ยวจะพูดในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เนื่องจากเราจะมีการผ่อนคลายอีกหลายอย่าง กลัวจะไม่ได้ฉลองปีใหม่ อันนี้พูดตรงๆ ปีใหม่จะไม่ได้ฉลอง ถ้าขึ้นมาวูบๆ ตอนนี้ในยุโรป 4 หมื่นกว่าทุกวัน เยอรมนีก็ขึ้นมาเยอะ เราเดินตามหลังเขามา 2-3 เดือน ดังนั้น​ เราไม่อยากให้เกิด เราอุตส่าห์ทำดีแล้ว อย่างน้อยเราเคร่งครัดมาตรการมากกว่าเขา ตัวเลขคงขึ้นบ้าง แต่อย่าให้ขึ้นมาก และคงทำให้เศรษฐกิจเดินได้ เรื่องผ่อน​คลาย นายกฯ ก็ยอมผ่อน ผมก็พยายามดึงๆ ไว้บ้างว่ามันต้องพอเหมาะพอสม ไม่อย่างนั้นมันกลับมาใหม่ แล้วต้องล็อกดาวน์ใหม่ มันเรื่องใหญ่มาก" นพ.อุดม​ กล่าว นพ.อุดม​ กล่าวว่า​ ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ของไทยวันนี้ไม่ได้ถือว่าลง และอย่างนี้ถือว่าไม่ดี​ เพราะตัวเลขทรงตัวอยู่ที่ 5-7 พันรายมา 2-3 สัปดาห์แล้ว แสดงว่ามันไม่ดี ถ้าดีทำไมไม่ลงไปเรื่อยๆ ยิ่งไปดูต่างประเทศที่ตอนนี้เขาขึ้นมาก มันไม่มีทางที่เขาขึ้นแล้วเราจะไม่ขึ้น อย่างที่แอฟริกาที่มีเชื้อกลายพันธุ์ แปบเดียวมาฮ่องกงแล้ว​ เชื้อมันไปเร็ว สิ่งที่ตนพูดคือการเตือน แต่ขออย่ากังวล​ ผู้สื่อข่าวถามว่า​ จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่​ การผ่อนคลายให้เปิดผับ​ บาร์​ เร็วขึ้นจะเป็นไปได้หรือไม่​ นพ.อุดม​ กล่าวว่า ครั้งที่แล้วเราก็ลงมติไปแล้ว ว่าให้เปิดวันที่ 16 ม.ค. 65 ไม่ใช่ไม่ให้เปิด ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องไปเตรียมการให้พร้อม สิ่งที่เรากังวลคือเรื่องถ่ายเทอากาศ เพราะถึงอย่างไร เรารู้ว่าจำกัดคนไม่ได้ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ก็พูดคุยเสียงดัง มีน้ำลายและละอองต่างๆ เอาเชื้อออกมา และที่สำคัญนั่งกันนาน ปัจจัยนี้คือปัจจัยเสี่ยง เรามีตัวอย่างคลัสเตอร์ใหญ่ๆในสถานบันเทิงมาแล้ว ดังนั้น​ อย่าให้มันมาเกิดอีก จึงขอให้เตรียมตัวให้ดี คุณต้องช่วยประเทศด้วย เพราะหากมีการระบาดใหม่จากตรงนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ เราก็เข้าใจเขามีความเดือดร้อน รัฐบาลคงต้องเข้าไปเยียวยา แต่หากมาเปิดก่อนกลัวว่าปีใหม่จะไม่ได้ฉลอง เมื่อถามว่า​ สรรพกำลังของสาธารณสุขเพียงพอหรือไม่​ หากมีการระบาดใหม่​ นพ.อุดม​ กล่าวว่า เรามีบทเรียน คิดว่ารองรับได้แน่นอน แต่ทำไมต้องไปเหนื่อยอีก หากตัวเลขไม่เกิน 5​ พันราย แม้ถือว่าเยอะ แต่มันไม่เหนื่อยมาก แต่หากไปถึง 7​ พันราย​ถึง​ 1​ หมื่นราย เราเหนื่อยมาก ถ้าไปถึง 2​ หมื่นรายเตียงไม่พอแน่นอน ภาพการเข้าถึงเตียงยาก เสียชีวิตที่บ้าน เราไม่อยากให้เกิดภาพเช่นนั้น จึงอยากให้ประชาชนดูแลตัวเอง เพราะการดูแลตัวเองเหมือนการดูแลสังคมและประเทศ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ต่อไปจนถึงกลางปีหน้า เราต้องอยู่กับโควิค-19​ แต่อยากให้ได้วันละ 1-2 พันราย เสียชีวิตไม่เกิน 20 ราย แบบนี้ไม่เหนื่อย​ รับได้