หมายเหตุ : “คมสัน โพธิ์คง” นักวิชาการอิสระ ด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง การเลือกตั้งครั้งหน้า ภายใต้กฎกติกาใหม่ ด้วยรูปแบบ “บัตรเลือกตั้ง2ใบ” กำหนดให้มีส.ส.เขต 400 คนและส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน มีสาระที่น่าสนใจดังนี้
- ประเมินการเมืองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อกติกาใหม่คือการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบจะเห็นปรากฏการณ์อะไรบ้าง
ประการแรกคือการเลือกตั้งจะลดข้อครหาลง ในเรื่องของการนับคะแนน เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว น่าจะเป็นความผิดปกติในเรื่องการคิดคำนวณคะแนนค่อนข้างมาก เนื่องจากคะแนนที่จะไปสู่ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คนในรัฐธรรมนูญเดิมได้เปลี่ยนกติกาไป แต่ทั้งนี้ต้องไปดูที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่าจะสามารถลดดุลพินิจการคำนวณของกกต.ได้มากแค่ไหน ที่ผ่านมากกต.มีปัญหาเรื่องการใช้ดุลพินิจมาก ในเรื่องของการนับคะแนน
อย่างกรณีพรรคไทยศรีวิไลย์หรือพรรคเล็กที่ได้คะแนน 1 ที่นั่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ผมมองว่าเป็นการปัดเศษผิดโดยหลักการ เพราะต้องคำนวณเศษให้ครบถ้วนของพรรคที่มีระบบเขตให้ครบถ้วนก่อน
แต่เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้แบบบัตร2ใบก็อาจจะไม่เกิดพรรคปัดเศษ ขึ้นมา เพราะการคำนวณปัดเศษ ในความเป็นจริงแล้วต้องทบกลับไปยังที่มีส.ส.เขตเลือกตั้ง ซึ่งโดยหลักการจึงไม่น่าจะถูกต้อง แต่ทั้งนี้ต้องกลับไปดูพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วย เนื่องจากยังร่างไม่เสร็จ
ประการที่สอง ระบบการเลือกตั้งจะกลับไปคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ไม่เหมือน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 มีฐานของการคำนวณปัดเศษที่ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ออก ดังนั้นสิ่งที่ตามมาในระบบรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเป็นโบนัสให้พรรคใหญ่ เพราะการปัดเศษ 5 เปอร์เซ็นต์ คะแนน5เปอร์เซ็นต์ มันหายไป แต่ที่นั่งกลับถูกแชร์ไปยังพรรคใหญ่ที่ไม่มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เยอะ เท่ากับว่าคะแนนส่วนที่ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์เป็นศูนย์ เพราะฉะนั้นจึงจะเอาคำนวณพรรคที่ไม่เกิน 5เปอร์เซ็นต์หมด จึงเท่ากับว่าเอาคะแนนพรรคเล็ก ไปโปะให้พรรคใหญ่ นั่นคือปัญหาของรัฐธรรมนูญปี2540
ส่วนรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 มีการแก้ไขและกลับไปคล้ายๆกับปี 2540 แต่ต่างกันตรงที่ว่า ไม่มีการปัดเศษที่ไม่ถึง 5เปอร์เซ็นต์ จึงเกิดพรรคเล็ก พรรคน้อยเกิดขึ้น แต่การที่พรรคเล็กจะตายหรือไม่ตาย ภายใต้ระบบการเลือกตั้งที่แก้ไขตามรัฐธรรมนูญ จะต้องไปอยู่ที่กฎหมายพรรคการเมืองด้วย เนื่องจากยังไม่ได้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองในเรื่องของตัวสาขาพรรค ตัวของสมาชิกพรรค ดังนั้นพรรคเล็กก็ตายได้อยู่ดี ยิ่งหากเป็นพรรคเล็กที่ไม่ได้ส.ส.เขตเลย ยิ่งตายเร็ว
ผมไม่รู้ว่ากกต.ได้พิจารณาเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน อย่างกรณีพรรคเล็ก ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยศรีวิไลย์ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และอีกหลายพรรคที่ได้ส.ส.จากการปัดเศษ ซึ่งไม่รู้ว่าได้มีการตรวจสอบเรื่องสาขากันอย่างจริงจังมากแค่ไหน
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 , 2550 และ 2560 ก็ดีล้วนแล้วแต่ไม่ส่งเสริมให้เกิดพรรคการเมืองที่หลากหลาย ซึ่งเรามีปัญหาเรื่องนี้กันมาโดยตลอด เนื่องจากไปวางกฎหมายพรรคการเมืองแบบเข้มเกินไป จนกระทั่งทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองทำได้ยาก
-พรรคเพื่อไทย จะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายมากกว่าพรรคอื่นๆจริงหรือไม่
คงไม่ใกล้มาก เพราะพรรคเพื่อไทยได้คะแนนพอสมควร แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ได้มีการเลือกกติกาที่ว่า พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดแล้วจะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ เพียงแต่ให้นับบัตรละคะแนนเท่านั้น ดังนั้นต้องดูพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นตัวควบคู่ไปด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 พ.ศ.2564 นั้นแก้ไขเพียงแค่ 3มาตราเท่านั้น ซึ่งการคำนวณสูตรคะแนนส.ส.อยู่ที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงทำนายไม่ได้ แต่ก็เป็นความฝันของพรรคเพื่อไทย
- จะเกิดปรากฎการณ์พรรคเล็ก ยุบไปรวมกับพรรคใหญ่ตามมาหรือไม่
มันจะเกิดแน่นอน ตราบใดที่กฎหมายพรรคการเมืองยังเป็นแบบเดิม ไม่มีการแก้ไข ก็ย่อมเกิดได้ ในความจริงแล้ว ผมเห็นว่าในแง่ข้อกฎหมาย ไม่ได้ห้ามเรื่องการยุบพรรค แต่ไม่ได้ให้เอาส.ส.ที่มีอยู่ไปบวก แต่ในแง่หลักการมันไม่ค่อยถูก เพราะหลักการคือหากคุณยุบพรรค ฐานคะแนนเสียงที่มีอยู่โดยได้ระบบบัญชีรายชื่อมา ก็ต้องเท่ากับศูนย์ ในความเห็นของผม เมื่อยุบพรรคแล้ว เท่ากับฐานของประชาชนก็ไม่มีเหลือ เหมือนกับเมื่อครั้งที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ดี แล้วไปเปลี่ยนพรรคก้าวไกล
ถ้าถามผมในแง่หลักการมันไม่ควร เพราะพรรคคุณยุบ ระบบบัญชีจึงไม่มี ก็ไม่ควรจะย้ายกันไปได้ แต่ก็ย้ายพรรคกัน เพราะการวินิจฉัยของกกต. และข้อกฎหมายก็ไม่ได้เขียนห้ามเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ก็จะอยู่ที่กกต.ว่าจะมีความรอบคอบหรือไม่ในการที่จะร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นมา
- พรรคประชาธิปัตย์ จะมีโอกาสได้ที่นั่งส.ส.เพิ่มมากขึ้นหรือไม่
ผมว่ากลับมาได้นะ ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อเรากลับไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เราพบว่าจริงแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์เหลือเพียงแค่50 ส.ส.เป็นเพราะ 1.กรณีที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ประกาศว่าจะไม่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คนก็เกิดความตระหนก เพราะกลัวว่า คุณทักษิณ ชินวัตร จะกลับมา คนก็หันไปเทพรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ
2. หากกลับไปดูส.ส.พรรคพลังประชารัฐจริงๆแล้วจะพบว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์มาจากส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนจะได้รับการเลือกตั้ง หรือไม่ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อคน คนนั้นย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็เอาฐานเสียงไปด้วย แต่พอเลือกตั้งไปแล้ว ปรากฏว่าผลงานของรัฐบาลยังไม่เป็นที่พอใจนัก
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็ไปต่อรองเอากระทรวงเศรษฐกิจมาได้ ทั้งก.เกษตรฯ และก.พาณิชย์ วันนี้พรรคก็พยายามปั้นผลงานมาได้ระดับหนึ่ง ถามว่าแล้วพรรคพลังประชารัฐ จะทำอย่างไร กับโจทย์แบบนี้ เพราะเรื่องเศรษฐกิจ ทางพรรคประชาธิปัตย์ เขาบอกได้ว่าเขาทำได้ในส่วนงานที่เขาดูแลอยู่ ดังนั้นการช่วงชิงบางพื้นที่ เช่นภาคใต้ ซึ่งเดิมพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเจ้าถิ่นอยู่ วันนี้ ก็สามารถดันราคายางขึ้นมาได้ คะแนนในพื้นที่ก็ดึงกลับมาได้
หากถามว่า ฐานเสียงในพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องยอมรับว่าฐานในแง่ความจงรักภักดีของคนที่เลือกพรรคยังมีระดับที่มากพอสมควรแต่ที่ผ่านมา ถูกแชร์ออกไปโดย พรรคพลังประชารัฐกับพรรคก้าวไกล โดยในส่วนของพรรคก้าวไกล นั้นหากเราไปดูในแง่เขตพื้นที่ ก็คงไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นฐานของพรรคเพื่อไทยเดิม ที่มาจากกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบพรรคก่อนลงเลือกตั้ง แต่จากนี้ไปเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยคงจะไม่ยอมให้ฐานเสียงของตัวเอง ถูกพรรคก้าวไกลแชร์ออกไปแล้ว
ผมมองในพื้นที่กทม. พรรคพลังประชารัฐ ค่อนข้างเหนื่อย แต่คู่แข่งที่จะโดดเด่นและแข่งกันเอง คือพรรคประชาธิปัตย์กับ พรรคเพื่อไทย จุดนี้จะมีการทวงแชมป์กัน ว่าใครจะได้
เนื่องจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการทำนายเรื่องฐานเสียงจึงไม่ค่อยชัดเจน แต่หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก่อน ก็จะบอกได้ถึงทิศทางว่าพรรคไหน ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงมีความหวังจากการเลือกตั้งแบบบัตร 2ใบ เนื่องจากในแง่เขต กับพรรคประชาธิปัตย์จะได้เปรียบแบบบัญชีรายชื่อมาตลอด แต่พอมาเรื่องเขต พรรคจะสู้ไม่ได้ เพราะมีเรื่องเบี่ยงเบนเยอะ เช่นเรื่องการซื้อเสียง
- การใช้บัตร 2 ใบ อาจจะทำให้ได้เห็น “ตระกูลการเมือง” กลับมาลงสนามอีก รวมทั้งจะมีการใช้เงินซื้อเสียงอย่างถล่มทลาย
ผมว่าความจริงก็มีการใช้เงิน ทุกครั้งทุกการเลือกตั้งอยู่แล้ว ตราบใดที่กกต.ยังเป็นองค์กรที่ง่อยเปลี้ยเสียขา จับใครก็ไม่ค่อยได้ กกต.เองก็ถูกตั้งคำถาม
-พรรคก้าวไกล กับบัตร 2 ใบจะเป็นอย่างไร
มองว่า น่าจะลำบาก เพราะในส่วนของเขตเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลจะมีปัญหามาก ประเมินได้จากการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งอบจ. ซึ่งถือเป็นฐานการเมืองใหญ่ที่เราเห็น แต่ปรากฏว่า ไม่มีผู้สมัครในนามคณะก้าวหน้าสอบผ่านมาได้เลย ไม่ได้ที่นั่งเลย ทั้งนี้การเลือกตั้งอบจ. ก็ถือเป็นภาพจำลองการเลือกตั้งส.ส.ขนาดเล็ก แต่ก็ไม่ได้ที่นั่งเลย จึงสะท้อนว่าเขาอาจจะมีปัญหาเรื่องระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในส่วนของส.ส.เขต
และยังไม่รู้ว่าจะโดนยุบพรรคก่อนถึงวันเลือกตั้งก่อนหรือไม่ เนื่องจากมีคนไปร้องด้วยกันหลายเรื่อง ซึ่งถ้าหากมีการยุบพรรคก้าวไกลขึ้นมาจริง ตอนนี้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นปัญหาเพราะสามารถไปหา พรรคอะไหล่อยู่ได้ แต่ถ้าไปถูกยุบพรรคในช่วงที่มีการรับสมัครเลือกตั้งไปแล้ว ต้องถือว่า “ตายทั้งเป็น” เรียกว่าล้างทั้งบาง ไม่สามารถไปลงที่ไหนได้อีก อย่างน้อยที่สุดกรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5ปี หรือบางเซ็ทก็ 10ปี
ซึ่งวันนี้หากติดตามให้ดีจะพบว่า เรื่องร้องเรียนของพรรคก้าวไกล ยังไม่มีเรื่องไหนมีมติออกมาเลยสักเรื่องเดียว ดังนั้นสำหรับพรรคก้าวไกล จึงมีหลายปัจจัย แต่สุดท้าย โอกาสที่พรรคก้าวไกลจะได้ส.ส.แบบเดิม เหมือนกับที่พรรคอนาคตใหม่เคยได้ในการเลือกตั้ง 2562 คงยากแล้ว
- พรรคพลังประชารัฐ ทิศทางจะเป็นอย่างไร
สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐ แม้วันนี้ภายในพรรคจะตีกันมีความขัดแย้ง แต่ก็ยังไม่ได้ย้ายออกจากพรรคไป ซึ่งคาดว่าจะต้องไปประเมินกันในช่วงใกล้เลือกตั้ง ประมาณ 3-4 เดือนก่อนการเลือกตั้งจะเห็นอะไรได้ชัด เนื่องจากในช่วงนั้นจะมีการกำหนดตัวผู้สมัครว่าใครจะได้ลงเขตไหนบ้าง หากใครไม่ได้รับการจัดสรรให้ลงหรือได้ไปลงระบบบัญชีรายชื่อ ในลำดับที่ไม่ค่อยดี ก็จะเริ่มเกิดปัญหาแตกกันตามมา เมื่อถึงตอนนั้นการย้ายพรรค ก็จะเริ่มขึ้น
แต่ทั้งนี้หากมองภาพรวมในพรรคพลังประชารัฐ วันนี้เชื่อว่าหากไม่มีปัจจัยเรื่องเงิน เข้ามา จำนวนส.ส.ที่เคยได้ จะเริ่มลดลงแน่นอนพอสมควร แต่ที่แน่ๆ พรรคพลังประชารัฐ น่าจะลำบากในพื้นที่กทม.
- ภูมิทัศน์ทางการเมืองของคนเริ่มเปลี่ยนไป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นปัจจัยดังกล่าวนี้จะมีผลต่อการเลือกตั้งรอบหน้าด้วยหรือไม่
ภูมิทัศน์ของคนที่มีเสียงเป็นอิสระ อาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่คนที่เป็นฐานเสียงแบบแน่นหนา ในชุมชนทั้งหลาย ที่พรรคการเมืองไปทำฐานเสียงเอาไว้ ฐานในกลุ่มนี้จะเปลี่ยนไม่มาก เพราะเขามีความจงรักภักดีพอสมควร
อย่างพรรคประชาธิปัตย์ในกทม. ได้คะแนนฐานเสียงไล่เรี่ยกับพรรคเพื่อไทย แต่ที่เขาชนะ ก็เพราะกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นฐานเสียง เพราะคะแนนจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอด อยู่ที่ว่าเขาพอใจหรือไม่พอใจกับพรรคการเมืองนั้นๆแค่ไหน ซึ่งฐานเสียงอิสระตรงนี้ คือจุดชี้ขาดในกทม. แต่ฐานแบบนี้ไปใช้กับต่างจังหวัดไม่ได้
บัตรเลือกตั้ง 2 ใบภายใต้ระบบที่เรียกว่าระบบผสม แบบเอาคะแนนเขตนำ เป็นระบบที่ไม่ค่อยมีประเทศไหนใช้กันมาก เท่าที่จำได้ มีใช้ที่ประเทศญี่ปุ่น กับประเทศไทย
และระบบนี้มีข้อดี หากพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียงข้างมาก จะเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งมาก เป็น Strong Prime Minister แต่ต้องได้พรรคการเมืองที่เป็นพรรคดีด้วย
ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมา ที่พรรคไทยรักไทยของคุณทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นมาก่อน ซึ่งต้องยอมรับว่าในสมัยคุณทักษิณ ใช้ประโยชน์จากบัตร2ใบได้ผลมาก จนได้เสียงในสภาฯ 60-70 เปอร์เซ็นต์เสียงในสภาฯ ทั้งหมด แต่ก็กลายเป็นการครอบงำสภาฯ ในที่สุด