ความสุขของคนไทยช่างไม่ราบรื่นเสียเหลือเกิน แม้รัฐบาลจะประกาศผ่อนปรนให้สามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้นในช่วงใกล้เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ แต่ก็ต้องมาผจญกับความทุกข์ในเรื่องของราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ต่างๆ เตรียมที่จะทยอยปรับราคาขึ้น เพราะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าขนส่งที่ปรับขึ้นเป็นเงาตามตัว และดูท่าทางจะส่งสัญญาณไปในทิศทางที่แย่ลง!!! เพราะ ณ ตอนนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลจะไม่มีการยอมลดราคาน้ำมันให้กับ “ม็อบรถบรรทุก” ที่ประกาศขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้า 10% หากรัฐบาลไม่ลดราคาน้ำมันดีเซลลงเหลือ 25 บาทต่อลิตร โดย “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไรในอนาคต เพราะมีหลายปัจจัย และไทยต้องนำเข้าน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และปริมาณก๊าซฯในประเทศก็มีอย่างจำกัด รวมถึงปัจจุบันรัฐบาลก็ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรมาโดยตลอด เช่นเดียวกัน!!! จึงเป็นการงัดข้อกันระหว่าง “รัฐบาล” กับ “ผู้ประกอบการรถบรรทุก” โดยมีประชาชนตาดำๆ ตกเป็นตัวประกัน!!!! ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การประกาศที่จะไม่ลดราคาน้ำมันดีเซลลง ตามที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกร้องขอ ส่งผลให้ต้องมีการปรับขึ้นค่าขนส่ง และส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่ต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดย “เวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สหพัฒนพิบูล กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระยะ เพราะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งโลจิสติกส์ ซัพพลายเชน ดังนั้นสินค้ากลุ่มไหนปรับราคาเพิ่มได้ก็ต้องทำ เพียงแต่ต้องคิดรอบด้าน เพราะแนวโน้มวัตถุดิบขึ้นราคาแล้วจะไม่ลง หรือถ้าไม่ปรับราคาสินค้าก็ต้องบริหารจัดการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต เช่นเดียวกับ “สุวิทย์ วังพัฒนมงคล” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บจ.ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปลากระป๋องภายใต้แบรนด์ โรซ่า กล่าวว่า ต้นทุนค่าน้ำมัน โลจิสติกส์ วัตถุดิบที่สูงขึ้น กระทบกับผู้ประกอบการทุกค่าย ซึ่งได้ประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ๆ ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงกรมการค้าภายใน เพื่อขออนุญาตปรับขึ้นราคาสินค้า และกำลังรอคำตอบ เบื้องต้นยังไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้า หันมาเน้นการบริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้นทุนของภาคเอกชนปรับขึ้นสูงมาก ทั้งจากราคาพลังงาน ต้นทุนน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเริ่มปรับราคาขึ้น และจะขยับต่อเนื่องตามกลไกตลาด ซึ่งได้เตือนให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือ และจะประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เร็วที่สุดเดือนนี้ หรือต้นเดือน ธ.ค. 2564 เพื่อหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการเรื่องค่าครองชีพ เพราะถ้าฝืนความจริงนานจะไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ หากเอกชนไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้จะเกิดปัญหาขาดทุน และหยุดผลิต นำไปสู่ปัญหาสินค้าขาดแคลนได้ "ตอนนี้ซัพพลายเชนมีปัญหา จากที่ผ่านมาเอกชนไม่กล้าสต๊อกสินค้า แต่ตอนนี้เริ่ม restock สินค้า เริ่มกลับมาบิลด์อัพสต๊อก แต่ซัพพลายไซด์ ดีมานด์เพิ่มขึ้น เพราะผู้ผลิตบางประเทศโดยเฉพาะจีน มุ่งเน้นดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้โรงงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องหยุด ราคาสินค้าปรับขึ้นทั้งสินค้าในประเทศและส่งออก บางสินค้าถือว่าดี เช่น น้ำตาล ราคาสูงส่งผลดีกับเกษตรกร แต่ต้องส่งสัญญาณให้เตรียมรับมือ การที่ราคาสินค้าสูงขึ้นมีผลต่อเงินเฟ้อสูงบ้าง แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจ ส่วนการบริหารจัดการเรื่องตรึงราคาสินค้าต้องหารือกระทรวงพาณิชย์" ด้านภาครัฐที่ดูแลในเรื่องราคาสินค้า “วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรณีผู้ประกอบการยื่นโครงสร้างราคามาที่กรมการค้าภายใน "ถือเป็นการแจ้งโครงสร้างราคาปกติ ยังไม่ได้มีการปรับราคา" เพราะขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า "ตรึงราคา" จำหน่ายไปจนถึงสิ้นปี 2564 ก่อนทบทวนสถานการณ์อีกครั้ง ทั้งนี้นโยบายตรึงราคาสินค้านี้ กรมฯได้พิจารณาจากปัจจัยรอบด้านรวมถึงการปรับขึ้นค่าขนส่งที่จะมีผล 1 ธ.ค.นี้ คิดเป็นต้นทุนในสัดส่วนไม่มาก ประกอบกับรัฐบาลเพิ่งเปิดประเทศและผ่อนคลายให้จัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น จะทำให้การผลิตสินค้ากลับสู่ภาวะปกติ เมื่อผลิตได้เป็นปกติจะทำให้เกิด Economy of Scale มากขึ้น ต้นทุนผลิตต่อหน่วยลดลง “หากผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตาม กรมพร้อมจะเพิ่มระดับมาตรการเข้มข้นขึ้นกับผู้ผลิตรายนั้น ซึ่งทางเลือกนี้จะเป็นหนทางสุดท้าย ส่วนกรณีน้ำมันปาล์มขวดยังขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาไว้ที่ขวดละ 51-54 บาท เพราะถ้าคิดตามต้นทุนที่แท้จริง ราคาจะสูงกว่านี้มาก” สุดท้าย!!!ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น “ประชาชน” ก็ต้องก้มหน้ารับกันไป