วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร กรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง วุฒิสภา พร้อมด้วยพลเรือเอก นพดล โชคระดา กรรมาธิการและรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง และคณะฯ ได้เดินทางมาศึกษาดูงานการบริหารจัดการการประมงทะเลและการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ของมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม เกาะทะลุ ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และประชาชน ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการดำเนินงานการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการที่สนองต่อพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วยโครงการปรับปรุงไทยอาสาอนุรักษ์ทะเลไทย โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยการใช้ปะการังเทียม การฟื้นฟูปะการังชายฝั่ง การอนุรักษ์เต่าทะเล การจัดทำบ้านปลา การอนุบาลลูกเต่า และการส่งเสริมการเรียนรู้ประมงท้องถิ่น เป็นต้น โดยได้เน้นส่งเสริมความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย ให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นมรดกที่สืบทอดไปสู่ลูกหลานสืบต่อไป พร้อมกันนี้ได้ร่วมกันปล่อยลูกเต่ากระ บริเวณหน้าหาดเกาะทะลุสู่ทะเล เพื่อเพิ่มปริมาณเต่ากระที่นับวันจะเหลือน้อยลง พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร กล่าวว่า จากที่คณะกรรมาธิการฯได้ลงพื้นที่ในติดตามของเท็จจริง ข้อคิดเห็น รวมทั้งการเข้าถึงตัวประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อรับทราบถึงปัญหาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาค่าปรับแรงงานต่างด้าวที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯจะได้นำข้อสรุปจากปัญหาดังกล่าวจัดทำรายงานเสนอให้รัฐบาลเข้าไปดำเนินการแก้ไข และอธิปรายในสภาเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไปภายใต้กรอบและกฎหมายที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการได้รับฟังบรรยายสรุปและการเดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ รู้สึกมีความพึงพอใจที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมบูรณาการและดำเนินการตาม พรบ.การรักษาผลประโยชน์และการฟื้นฟูธรรมชาติทางทะเล ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาล โดยเกาะทะลุถือเป็นต้นแบบการศึกษาด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และการบริหารจัดการด้านความสะอาดของทะเลหน้าบ้าน ซึ่งจะเห็นได้จากที่ไหนมีปะการังแสดงว่าที่นั่นมีน้ำสะอาด ปะการังถือเป็นบ้านที่ดีของปลา และนับเป็นจุดกำเนิดของห่วงโซ่อาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์