สถานการณ์โรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้น โดยพบว่าการติดเชื้อในกลุ่มครอบครัวดีขึ้นอย่างมาก จากมาตรการการควบคุมพื้นที่ Red Zone และมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการตรวจ ATK ที่ทำให้สามารถนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้โดยเร็ว วันนี้ (24 พ.ย. 64) ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์โรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ประจำวัน ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 258 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพียง 7 ราย ที่เหลือเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด โดยมาจากคลัสเตอร์ต่าง ๆ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ใหม่และคลัสเตอร์ที่มีการระบาดต่อเนื่อง 37 ราย ได้แก่ คลัสเตอร์ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซ่า 10 ราย ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่ามีความเชื่อมโยงกับการจัดงาน Expro งานหนึ่ง และกระจายไปยังหลายร้านค้า, คลัสเตอร์ใหม่แคมป์ก่อสร้างข้างโรงแรมฟลูมูน ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง 7 ราย เป็นการระบาดในแรงงานต่างด้าว, คลัสเตอร์แคมป์งานก่อสร้างสนามกีฬามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม 3 ราย, คลัสเตอร์ทหารเกณฑ์ผลัดใหม่ ค่ายกาวิละ 8 ราย, คลัสเตอร์หอพักแรงงานต่างด้าวใกล้วัดท่ากระดาษ ตำบลฟ้าฮ่าม 3 ราย นอกนั้นเป็นคลัสเตอร์เล็ก ๆ ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่คลัสเตอร์ละ 1-2 ราย ด้านการตรวจพบจากกลุ่มเสี่ยงระหว่างการกักตัว การออกตรวจเชิงรุก และการติดตามผู้สัมผัสคลัสเตอร์เดิม พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 34 ราย ได้แก่ คลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ 17 ราย, คลัสเตอร์ตึกผู้ป่วยชายโรงพยาบาลหางดง 3 ราย, คลัสเตอร์บริษัทอิจิสเทค จำกัด หมู่ 4 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง 3 ราย ,คลัสเตอร์ตลาดแม่โจ้บาซาร์ ตำบลฟ้าฮ่าม 2 ราย คลัสเตอร์ VL Academy ทีมฟุตบอลโรงเรียนวชิราลัย 2 ราย และคลัสเตอร์อื่น ๆ พบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์ละ 1-2 ราย ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังและดำเนินการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเพิ่มขึ้น ส่วนคลัสเตอร์กลุ่มครอบครัว วันนี้พบเพิ่ม 12 ราย โดยพบมากที่หมู่ 9 ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง 4 ราย นอกนั้นกระจายตัวอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอจอมทอง และอำเภอแม่แตง ครอบครัวละ 1-4 ราย อย่างไรก็ตาม ถือว่าสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มครอบครัวดีขึ้นมาก ส่วนผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 84 ราย กระจายในหลายอำเภอ ซึ่งได้มีการติดตามการกักตัวของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่มีผลตรวจครั้งแรกเป็นลบ ให้มีการกักตัวอย่างเคร่งครัดแล้ว ทั้งนี้ อำเภอที่พบการระบาดมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 100 ราย อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 64 ราย อำเภอแม่ริม 22 ราย อำเภอหางดง 17 ราย อำเภอสารภี 16 ราย และอำเภอดอยสะเก็ด 13 ราย จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ (สคร.1 เชียงใหม่) พบว่า หากในห้วงนี้จังหวัดเชียงใหม่ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสิ้นเดือนพฤศจิกายน นี้ จะพุ่งสูงขึ้น แต่จากมาตรการการควบคุมพื้นที่ Red Zone ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 15 ชุมชน ทั้งการปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ การตรวจ ATK เชิงรุก การใช้มาตรฐาน COVID Free Setting และการนำผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และสามารถควบคุมให้มีผู้ติดเชื้อรายวันได้ต่ำกว่า 270 ราย จึงขอเน้นย้ำประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงนี้ ขอให้งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ การกินเลี้ยงปาร์ตี้ กิจกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และเข้ารับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 สำหรับผู้เสียชีวิต 2 รายวันนี้ รายแรก เป็นชายไทย อายุ 93 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เกาต์ และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ เป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสในครอบครัว และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน โดยวันที่ 12 พฤศจิกายน เริ่มมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย วันที่ 13 พฤศจิกายน อสม. ตรวจ RT-PCR พบว่าติดเชื้อโควิด รักษาที่โรงพยาบาลจอมทอง ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น ส่งต่อไปรักษาโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ ตามลำดับ วันที่ 22 พฤศจิกายน ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตลงในเวลา 22.24 น. และรายที่สอง เป็นหญิงพม่า อายุ 22 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ไตวาย และความดันโลหิตสูง ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ ไม่ชัดเจน และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน โดยวันที่ 10 พฤศจิกายน เริ่มมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ตรวจ RT-PCR พบว่าติดเชื้อโควิด รับไว้รักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ วันที่ 17 พฤศจิกายน มีอาการเหนื่อยมากขึ้น ตรวจพบมีลมรั่วในปอด ได้รับการใส่สายระบายลม วันที่ 19 พฤศจิกายน ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ออกซิเจนในเลือดต่ำ ไตวาย เลือดเป็นกรด กระทั่งวันที่ 21 พฤศจิกายน ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตลงในเวลา 23.15 น.