วันที่ 24 พ.ย.64 ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี (วท.) จ.ชลบุรี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) ทั้ง 25 แห่งอย่างเป็นทางการ พร้อมร่วมพิธีรับมอบใบประกาศการรับรองเป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน (Certification of Maintenance Training Organization Approval : AMTO) ของวิทยาลัยเทคนิคถลาง และวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด และบริษัท เอ เอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้บริหารระดับสุง ศธ.และ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ร่วมพิธี
โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานในพิธีเปิด ว่า ขอแสดงความยินดีกับวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้ง 2 แห่ง ที่ได้รับใบประกาศการรับรองเป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ และเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ สอศ.อย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดให้อาชีวศึกษาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญต่างๆ ของประเทศ
"กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดิฉันได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับอาชีวศึกษาเป็นอย่างมาก อยากให้สังคมเห็นว่าการเรียนอาชีวะ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และตอบโจทย์ภาคธุรกิจ เนื่องจากเป็นการศึกษาที่ทำให้เยาวชนและประชาชนของประเทศมีความรู้และทักษะอาชีพ ในการที่จะนำไปสู่การมีงานทำ มีรายได้ ทั้งในรูปแบบของการจ้างแรงงาน หรือการเป็นผู้ประกอบการ ทุกวันนี้นักศึกษาอาชีวะหลายรายมีศักยภาพสูงและสามารถมีรายได้เริ่มต้นที่ 5 - 6 หมื่นบาทได้ แล้วทำไมเราไม่ออกแบบการเรียนอาชีวศึกษาให้สามารถผลิตเด็กอาชีวะทุกคนได้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นศูนย์ CVM 25 แห่ง ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของ นายกรัฐมนตรี และศธ.ไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มข้นเป็นรูปธรรม ถือนับเป็นภารกิจสำคัญของ สอศ.ในการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทยมาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อผลิตกำลังคนตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และรองรับการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0" น.ส.ตรีนุช กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาทั้ง 25 แห่ง นี้จะรองรับนโยบายของท่านนายกฯ ที่ต้องการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ จะเป็นต้นแบบในการจัดการอาชีวศึกษาใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงและมีคุณภาพ สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ สร้างแรงงานที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และมีจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ซึ่งขณะนี้มีความขาดแคลนหลายสาขา โดยเฉพาะสาขายานยนต์ สาขาช่างอากาศยาน ที่มีความต้องการกว่า 6 แสนคน ขณะนี้เราผลิตได้เพียง 10% เท่านั้น จึงขอฝากถึงผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ประกอบการทุกท่าน ว่า ทุกคนมีความสำคัญอย่างมากในการทำให้การจัดการอาชีวศึกษามีคุณภาพและบังเกิดผลสำเร็จ ขอให้มีความมุ่งมั่นบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และประสานความร่วมมือกับชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาร่วมกันต่อไป