วันที่ 24 พ.ย. นางสาวบุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน เปิดเผยว่าได้ประชุมร่วมกับปลัดเทศบาล กองการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนในสังกัดเทศบาลฯ และผู้เกี่ยวข้องหารือแนวทางการบรรจุการละเล่นพื้นบ้านในหลักสูตรของโรงเรียนในสังกัดฯ ซึ่งกลุ่มงานศึกษานิเทศก์ กองการศึกษาได้รับมอบหมายให้นำนโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้การละเล่นพื้นบ้าน “ผีพุ่งไต้” บรรจุในหลักสูตรของแต่ละโรงเรียน โดยดูตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ดังนี้ โรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหินกำหนดเป็นหน่วยการเรียนรู้แบบบูรรณาการ (ประถมศึกษา) คลังความรู้อิเลกทรอนิกส์ (KM page) (มัธยมศึกษ) โรงเรียนเทศบาลวัดหนองแกกำหนดเป็นหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ โรงเรียนเทศบาลบ้านบ่อฝ้ายกำหนดเป็นหลักสูตรท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่ากำหนดเป็นกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในวันศุกร์ โรงเรียนเทศบาลบ้านตะเกียบกำหนดเป็นหลักสูตรท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลเขาพิทักษ์กำหนดเป็นหลักสูตรท้องถิ่น และโรงเรียนเทศบาลบ้านสมอโพรงกำหนดเป็นหลักสูตรท้องถิ่น นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายจากนายกเทศมนตตรีเมืองหัวหินให้นำนวัตกรรม HDC เข้าสู่หลักสูตรสถานศึกษาในสังกัดอีกด้วย “ผีพุ่งไต้” เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เก่าแก่มานานตั้งแต่เด็กซึ่งหาดูได้เฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากความเชื่อในการขจัดสิ่งชั่วร้ายเพื่อให้ปีใหม่ไทยที่จะเข้ามามีแต่สิ่งดีสิ่งที่เป็นมงคลให้มีความสุขปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง เมื่อตรุษสงกรานต์มาถึง ช่วงเช้าชาวบ้านจะหอบหิ้วลูกหลานนำอาหาร ขนม ไปทำบุญที่วัด เวลาบ่ายจะทำการรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ พลบค่ำชาวบ้านจะออกมารวมตัวกันตามชายหาดหัวหิน หรือลานกว้างในชุมชนเพื่อร่วมการละเล่นต่างๆรวมทั้งการละเล่นผีพุ่งไต้ มีการตั้งขบวนเป็นแถวยาว 30 - 40 คน ผู้เล่นจะมีทั้งชายหญิงแต่งกายแบบชาวบ้านพื้นเมือง คนเป็นหัวหน้าอยู่หัวแถวถือไต้ที่จุดสว่างไสว คนที่สอง คนที่สาม ที่สี่...จนกระทั่งคนสุดท้ายปลายแถวถือไต้หนึ่งอัน ทุกคนจะจับมือกันแน่นแบบมัดข้าวต้มเพื่อให้แถวไม่ขาดง่าย หัวหน้าผู้ถือไต้เป็นผู้ร้องเพลงนำซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านมีหลายท่อนหลายตอน เมื่อหัวหน้าร้องนำ ลูกแถวก็จะร้องรับตาม หัวหน้าจะถือไต้ออกวิ่งนำ ลูกแถวก็จะวิ่งตามกันเป็นพรวนเป็นแถวยาว บางครั้งในช่วงกลางแถว ลูกแถวสองคนจะชูขึ้นให้สูง เพื่อให้หัวหน้าลอดแล้วลูกแถวคนอื่นๆก็จะลอดตามกันไปจนหมดแถว