พาไปรู้จักเกษตรกรภูสิงห์ ศรีสะเกษ ปลูกทุเรียนเพียง 3 ปี กำไรเน้นๆ ปีละ 3 ล้านบาท โดยยึดแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอน ผู้ที่ชื่นชอบรสชาติทุเรียนกรอบนอกนุ่มใน หวานออกมัน เนื้อไม่เละ กลิ่นไม่ฉุน เมื่อแตะลิ้นแล้วจะสัมผัสได้ถึงรสชาติที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ที่เคยได้ลิ้มลองมา จะเข้าใจในความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อลิ้นสัมผัสกับเนื้อของทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เช่นเดียวกับทุเรียนภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศไทย ที่สามารถยกระดับสู่การผลิตที่มีคุณภาพสูง (Premium Grade) และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รับรองแหล่งที่มาและคุณภาพของผลผลิตชุมชนที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น นายปรีดา มุ่งหมาย หนึ่งในเกษตรกรชาวศรีสะเกษ ที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษเล่าให้ฟังว่า เดิมทีมีฐานะยากจน ได้ลงทุนค้าขายหมากกับชาวจังหวัดจันทบุรี และปลูกยางพาราบนพื้นที่ 22 ไร่ ที่บ้านซำม่วง ตำบลซำ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ต่อมาราคายางพาราตกต่ำประกอบกับได้รับแรงบันดาลใจจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดจันทบุรี โดยได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดศรีสะเกษ ในปี พ.ศ. 2560 ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้เข้าไปให้คำแนะนำเทคนิคทางวิชาการเพิ่มเติมในการผลิตตามมาตรฐานทางการเกษตรที่ดี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด (Good Agricultural Practices: GAP) และให้การรับรองมาตรฐานในปี พ.ศ. 2563 รวมถึงการให้ความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดิน การทำแนวกันชน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร การจดบันทึกข้อมูล และการเก็บเกี่ยวที่เป็นมาตรฐานสากล โดยยึดแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สอน คือ จดบันทึกรายรับรายจ่าย ดูแลไม่ให้เงินขาดมือ ลงทุนเท่าที่มีจนกว่าทุเรียนจะให้ผลผลิต “ได้นำความรู้ที่อบรมมาใช้ ตั้งแต่การพ่นสารเคมีป้องกันเชื้อราช่วงทุเรียนต้นเล็ก การให้ปุ๋ยบำรุงต้น บำรุงใบ การให้ฮอร์โมนเร่งราก การใส่ปุ๋ยเร่งยอด เร่งดอก และบำรุงผล ใช้เวลาปลูกเพียง 3 ปีก็ได้ผลผลิต ที่ผ่านมาจะมีล้งมารับซื้อถึงหน้าสวนในราคา 130 – 140 บาทต่อกิโลกรัม โดยเฉลี่ยแต่ละปีขายได้ไม่น้อยกว่า 4 ล้านบาท ปีต่อๆ มาผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย” นายปรีดา มุ่งหมาย เกษตรกรชาวศรีสะเกษ กล่าว ทางด้าน นายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยว่า ศูนย์ฯ นอกจากจะศึกษา ทดลอง เพื่อหาแนวทางการทำเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานแล้ว ยังเป็นหน่วยตรวจรับรองมาตรฐานแปลงเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP : Good Agricultural Practices) อีกด้วย “นายปรีดา มุ่งหมาย เป็นเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่ได้รับความรู้จากศูนย์ฯ ไปประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ และได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นปี 2565 สาขาเกษตรที่ดีเหมาะสม GAP เป็นเกษตรกรที่น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการผลิตให้มีความมั่นคง ทั้งการผลิตและการจำหน่ายมาดำเนินการ” นายสมชาย เชื้อจีน ผอ.ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ กล่าว สำหรับจังหวัดศรีสะเกษ ณ เมษายน 2564 มีเนื้อที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 8,404 ไร่ ให้ผลผลิต 3,479 ไร่ เฉลี่ย 4,213 ตันต่อปี ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 18,430 บาทต่อไร่ต่อปี โดยธรรมชาติจะให้ผลผลิตในปีที่ 5 แต่หากมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างดีจะให้ผลผลิตที่อายุปลูกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป