ถามไถ่เกี่ยวกับ “พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ” กันมามากมายเลยขอนำมาเล่ากล่าวตามคำขอครับผม พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ นับเป็นหนึ่งใน ‘สุดยอดพระเครื่อง’ ที่ยังคงอยู่ในความนิยมไม่เสื่อมคลาย ถึงแม้กาลเวลาผ่านมาเนิ่นนานกว่า 60 ปี เรียกได้ว่า “กระแสนิยมไม่เคยตก” ย้อนไปในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2500 มีงานใหญ่โตมโหฬารงานหนึ่งในโอกาสสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนา เรียกชื่อกันว่า “งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” เนื่องด้วยพุทธศาสนาผ่านพ้นมาแล้วกึ่งพุทธกาล โดยวัตถุประสงค์การจัดงานนั้นก็เพื่อต้องการให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาแห่งโลก โดยมีการจัดสร้าง “พระประธานพุทธมณฑล” เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ความสูง 2,500 นิ้ว (62.50 เมตร) พระนาม “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑล” บนเนื้อที่ 2,500 ไร่ ที่ ต.ศาลายา อ.นครปฐม ซึ่งก็คือ ‘พุทธมณฑล’ ในปัจจุบันนั่นเอง พร้อมกันนั้น ได้มีการจัดสร้างพระเครื่องจำลององค์พระประธานปางลีลาอีกมากมายหลายชนิด โดยมี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานฝ่ายจัดสร้าง ขนานนามตามชื่องานว่า “พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ” มีอาทิ พระพุทธรูปบูชาทองคำแบบพุทธลีลา, พระเครื่องเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 2,500 องค์, พระเนื้อชิน จำนวน 2,421,250 องค์, พระเนื้อดิน (เนื้อดินผสมเกสร) จำนวน 2,421,250 องค์ นอกจากนี้ยังได้สร้างพระเนื้อนากและเนื้อเงิน อีกจำนวนหนึ่งไม่มากนัก เพื่อแจกพระเกจิอาจารย์ที่มาร่วมพิธีปลุกเสกและคณะกรรมการ ซึ่งปัจจุบันแทบจะหาองค์แท้ได้ยากยิ่ง นอกจากนี้ทางกองกษาปณ์ยังได้สร้าง ‘เหรียญใบเสมา 25 พุทธศตวรรษ’ ขึ้นมาสมทบอีกด้วย ประการสำคัญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) เสด็จฯ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้าง “พุทธมณฑล” เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม พ.ศ.2498 และเสด็จฯ ประกอบพิธีเททองหล่อ "พระพุทธปฏิมาประธานพุทธมณฑล" และทรงกดพระพิมพ์ “พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ” เนื้อดินจำนวน 30 องค์ ณ มณฑลพิธีวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500  พิธีพุทธาภิเษก ก็นับว่ายิ่งใหญ่และเข้มขลังสุดๆ ในยุคนั้น จัดขึ้นถึง 2 วาระ และครบถ้วนตามพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาทุกประการ วาระแรก ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม โดยนำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดมาอธิษฐานปลุกเสก มีพระคณาจารย์มาร่วมพิธีฯ ครบ 108 องค์ วาระที่ 2 วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2500 นำพระเครื่องทั้งหมดเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม มี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมสมเด็จพระราชาคณะเจริญพุทธมนต์ 25 รูป พระเกจิคณาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศร่วมปลุกเสกบรรจุพุทธาคมครบ 108 รูป รวม 2 วาระ เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 วัน 6 คืน พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ จึงนับเป็นพระเครื่องที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเจตนาและพิธีกรรมยิ่งใหญ่ องค์พระก็มีพุทธศิลป์ที่อ่อนช้อยงดงามและมีความสง่างามเฉพาะตัว อีกทั้งพุทธานุภาพและปาฏิหาริย์นั้นเรียกว่า ‘ยอดเยี่ยมสุดๆ’ ได้สร้างประสบการณ์แก่ผู้มีไว้ครอบครองเป็นที่เล่าขานสืบมาถึงปัจจุบัน มีผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่า “... มีนักโทษห้าหกคน มีอาวุธครบมือทั้งมีดทั้งปืน แหกคุกออกมายิงใส่ผู้คุมที่ทัด 25 พุทธศตวรรษอยู่หลังหูองค์เดียว ผลปรากฏว่าไม่มีการระคายผิวหนัง ...” ด้วยความเป็นเลิศในทุกประการดังกล่าวมา การจัดสร้างที่มีจำนวนมากมายมหาศาล และยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบันจำนวนมากพอสมควร จึงสามารถนำออกมาให้เช่าบูชาได้ตลอดเวลา เมื่อมีความจำเป็นต้องหาปัจจัยเพื่อทำการบูรณะส่วนใดส่วนหนึ่งของพุทธสถาน เอกสารงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑล เมื่อพระยังมีจำนวนมากอยู่แล้ว 'พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ' มีจะปลอมไหม? ขอตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า ... พระใดก็ตาม เมื่อมีราคาเล่นหา พระนั้นย่อมมีการทำเทียมแน่นอนเพื่อประโยชน์ส่วนตนแน่นอน ไล่ตั้งแต่ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนาก มาจนถึงชินตะกั่วและเนื้อผง ดังนั้น การแสวงหาไว้เช่าบูชา ถ้าไม่ใช่โดยตรงจากแหล่งกำเนิด ก็ควรต้องมีการพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ก่อน แนวทางการพิจารณา พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ นั้น ถ้าเป็น “ของแท้” ให้สังเกตในเบื้องต้นดังนี้ ด้านหน้า องค์พระจะมีพุทธศิลปะที่อ่อนช้อยงดงาม เนื้อโลหะทุกพิมพ์ทุกเนื้อ ด้วยแรงกระแทกของเครื่องปั๊มสมัยก่อน จะส่งผลให้ผิวด้านหน้าขององค์พระตึงแน่นเป็นประกาย มองดูคล้ายเส้นรัศมีกระจายออกจากตัวองค์พระ เรียก “ฉัพพรรณรังสี” ที่ชายผ้าสังฆาฏิตรงพระอุทร จะมีเส้นติ่งขีดขวางเส้นเล็กๆ และมีติ่งแหลมที่ขอบบัวริมบนสุดด้านซ้าย ด้านหลัง จะเป็นรอยยิบๆ อันเกิดจากการกระแทกแม่พิมพ์ ในยันต์ใบพัดตัวบนมีเส้นผ่ากลางลึกลงไปเล็กน้อยชัดเจนให้ใช้กล้องส่อง ยันต์ด้านหลังแม่พิมพ์จะมีเส้นเสี้ยนเป็นแนวขวางทแยงขึ้นชัดเจน ด้านข้าง เป็น ‘การปั๊มตัด’ ด้วยเทคโนโลยีการปั๊มสมัยใหม่ช่วงปี 2500 จึงเป็นการปั๊มตัดแบบเต็มใบมีด ขอบข้างองค์พระเนื้อโลหะทั้งหมดจะไม่บางมาก และจะหยาบๆ ไม่ละเอียดเหมือนของเทียม จุดสังเกตอีกประการที่ต้องจดจำสำหรับพระ 25 พุทธศตวรรษเนื้อโลหะ ก็คือ เนื้อทองคำและเนื้อเงิน จะไม่มีเข็ม ฉบับหน้ามาดูแต่ละเนื้อกันครับผม