หมู่บ้านน้ำหมีน้อย ตำบลผักขวง อำเภอทองแสงขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหมู่บ้านที่ประชาชนประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำนาและทำสวนผลไม้ แต่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้เข้ามาสนับสนุนโดยนำระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ หนึ่งในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อความยั่งยืนหรือ Resilience Green Community
แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สามารถใช้ประโยชน์กันอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการลดภาระเรื่องค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน และยังทำให้กระจายน้ำไปสู่ชุมชนโดยทั่วถึง โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อความยั่งยืน หรือ Resilience Green Community ที่ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้สนับสนุน และสร้างให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านแหล่งน้ำร่วมกันอีกด้วย
พ.อ.ทรงยศ ทองก้อน รอง ผอ.รมน.จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ โครงการนี้เป็นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชน ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นต้นแบบในการบริการจัดการแบบให้ชุมชนมีส่วนร่วม สามารถแก้ปัญหาให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง การใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการช่วยลดภาระเรื่องค่าไฟให้กับชุมชน เกษตรกรมีน้ำใช้ในการทำการเกษตรทำให้ผลผลิตได้ผลดี สามารถขายนำรายได้กลับมาสู่เกษตรกร มีการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ในหมู่บ้านน้ำหมีน้อยจำนวน 4 จุด เป็นระบบการสูบน้ำจากน้ำบาดาล 3 จุด และระบบสูบน้ำจากผิวดิน 1 จุด การเลือกจุดติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้ง 4 จุดเกิดจากมติของชุมชนจากการทำประชาคมของประชาชนในหมู่บ้าน ชาวบ้านได้มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเองให้ใช้ในโครงการ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อความยั่งยืน ที่บ้านน้ำหมีน้อยนับเป็นต้นแบบของโครงการ ที่สามารถจะขยายสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป ”
นายสมศักดิ์ ยาป่าคาย กำนันตำบลผักขวง อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงการได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้ว่า “ สระน้ำเด่นน้ำชำเป็นสถานที่ตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จุดที่ใหญ่ที่สุด เป็นระบบการสูบน้ำจากผิวดิน สระเดิมจะมีขนาดเด็กกว่านี้ ทางชุมชนได้รับการสนับสนุนจาก กอ.รมน. อบจ.และอบต.ในการขุดลอกและขยายขนาดสระน้ำให้ใหญ่ขึ้น ทาง กอ.รมน.ได้ทราบปัญหาการขาดแคลนน้ำในหมู่บ้าน เนื่องจากมีการประชุมเรื่องโครงการอาหารกลางวันของเด็กๆ โดยมีผู้ใหญ่อนุชา ทองอินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 บ้านน้ำหมีน้อย ได้เข้าร่วมประชุมและนำปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งแจ้งให้ที่ประชุมทราบและนำมาสู่การเข้ามาสนับสนุน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ด้วยการนำระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาติดตั้งในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีน้ำใช้ในการทำการเกษตรในหน้าแล้ง ทำให้มีผลผลิตสามารถนำไปขายสร้างรายได้ สร้างความอยู่ดี กินดี ให้กับทุกคน ”
อนุชา ทองอินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 บ้านน้ำหมีน้อย ต.ผักขวง อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจาก กอ.รมน. ส่งมอบระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้ท้องถิ่นดูแลว่า “ พื้นที่ในการติดตั้ง ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กอ.รมน.มีทั้งหมด 4 จุด จุดแรกคือบริเวณสระน้ำเด่นน้ำชำ เป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านซึ่งทางกอ.รมนได้ประสานงานกับจังหวัด อบจ. และอบต.ช่วยสนับสนุนการขุดลอกและขยายสระน้ำให้ใหญ่ขึ้น การสูบน้ำด้วยระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในวันที่แดดแรงมากเราจะสามารถสูบน้ำได้ถึง 10,000 กว่าลิตร จำนวนน้ำที่ได้จะถูกใช้ในการทำการเกษตรช่วงหน้าแล้งเป็นหลัก ต้นไม้ได้รับน้ำทำให้ติดดอก ออกผล สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ส่วนไร่นา และสวนปาล์มก็ได้รับน้ำจากโครงการนี้โดยทั่วถึง ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ในหมู่บ้านมีทั้งหมด 4 จุด จุดนี้เป็นจุดแรกเป็นระบบการสูบน้ำจากผิวดิน อีก 3 จุดจะเป็นระบบการสูบน้ำจากบ่อบาดาล จุดที่สองที่มีการติดตั้งระบบสูบน้ำคือบริเวณสวนลุงสง่า ลุงสง่าเป็นปราชญ์เกษตรที่ยินยอมให้มีการขุดเจาะบ่อบาดาลและติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สวนผลไม้ของตนเอง จุดที่สาม และจุดที่สี่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของหมู่บ้านบริเวณทุ่งนา จุดติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 4 จุดจะสามารถสูบน้ำได้ถึงจุดละ 10,000 กว่าลิตร ส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 80 แปลง ใน100 กว่าครัวเรือน พื้นที่ที่ติดตั้งทั้งหมดชาวบ้านได้ทำหนังสืออุทิศที่ให้กับส่วนร่วม สุดท้ายขอฝากถึงชุมชนอื่นๆที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ท่านต้องรวมกลุ่มกัน ทำประชาคม ประชุมกัน แล้วนำปัญหาแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอการสนับสนุนและแก้ไขปัญหา และเมื่อได้รับการสนับสนุนแล้ว เราต้องช่วยกันดูแลรักษาสิ่งของที่ได้รับมาอย่ารอแต่งบประมาณส่วนกลาง ”
บ้านน้ำหมีน้อยเป็นชุมชนต้นแบบของ โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อความยั่งยืน หรือ Resilience Green Community ที่ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้เข้ามาสร้างระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ไว้อย่างเป็นรูปธรรม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :รายการคนไทยหัวใจเดียวกัน ตอน โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อความยั่งยืน บ้านน้ำหมีน้อย ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ย. 64 เวลา 7.00-7.30 น. ททบ.5