กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประชุมผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูภาคเหนือ แก้ปัญหาหนี้สินครู โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน “สุทธิชัย จรูญเนตร” ประธานแก้ปัญหาหนี้สินครู เผยยอดสหกรณ์ครูทั่วประเทศสมัครร่วมโครงการแล้ว 20 แห่ง เตรียมรับเพิ่มเติมรอบสอง พร้อมแนวทางที่จะร่วมกับสหกรณ์ ช่วยเหลือครูที่มีหนี้สินทั่วประเทศ ตั้งแต่บรรจุใหม่ จนถึงกลุ่มเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ เช่น นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายวัลลพ สงวนนาม รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประชุม “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน” ร่วมกับผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูภาคเหนือ 17 จังหวัด ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว นายสุทธิชัย จรูญเนตร กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 157/2564 ลงวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยกระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะคณะกรรมการฯ มีภารกิจรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดให้เป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้มีแผนแก้ปัญหาทั้งระบบ ในระยะแรก ศธ.ได้กำหนดโครงการแก้ปัญหา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ต้นแบบเป็นฐาน เริ่มจากการศึกษาและถอดบทเรียนกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตัวอย่าง 2 แห่ง คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.) ครูสมุทรปราการ และกำแพงเพชร จากนั้นได้วางแผนดำเนินการระยะที่ 2 เพื่อขยายไปทั่วประเทศ โดยเปิดรับสมัคร สอ.ครูทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ครูที่มีหนี้สินกว่า 9 แสนคน มีสภาพคล่องในการชำระหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ส่งผลให้ครูได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีคุณภาพ มีวินัยด้านการเงิน เกิดขวัญกำลังใจในการทำงาน และส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคมต่อไป ซึ่งขณะนี้มี สอ.ครูทั่วประเทศ สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 20 แห่ง ดังนี้ - ภาคเหนือ 4 แห่ง คือ สอ.ครูเพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และลำปาง - ภาคกลาง 4 แห่ง คือ สอ.ครูกาญจนบุรี สมุทรปราการ ชัยนาท และสระแก้ว - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แห่ง คือ สอ.ครูสกลนคร หนองคาย ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สุรินทร์ มุกดาหาร และอุบลราชธานี - ภาคใต้ 5 แห่ง คือ สอ.ครูภูเก็ต ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ชุมพร และกระบี่ ทั้งนี้ สอ.ครูอีกหลายแห่งแจ้งว่าต้องการสมัครเข้าร่วมโครงการ แต่สมัครไม่ทันในรอบแรก ดังนั้น ศธ.จะเปิดรับสมัครเพิ่มเติมรอบสอง เพื่อพิจารณา สอ.ครูที่สามารถบริหารจัดการและนำแนวทางต่าง ๆ ไปขยายผลได้ สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้ประชุมกับผู้จัดการ สอ.ครูภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อจะเร่งให้ครูที่เป็นสมาชิกได้รับการแก้ปัญหาด้วยแนวทางต่าง ๆ ต่อไป เช่น ครูที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งจะไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ ทำให้เงินได้รายเดือนลดลง ส่งสหกรณ์ไม่พอ ก็มีแนวทางจะช่วยเหลือในส่วนนี้ โดยใช้สินทรัพย์และรายได้ในอนาคตที่มี เช่น เงินบำเหน็จตกทอด มายุบยอดหนี้ให้ลดลง หรือการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้โดยเจรจากับสถาบันการเงิน การปรับลดค่าธรรมเนียมและการค้ำประกันด้วยบุคคลที่ไม่จำเป็น การยกระดับระบบและกระบวนการตัดเงินเดือนให้มีการควบคุมยอดหนี้ที่จะกู้ได้โดยไม่เกินศักยภาพ เงินเดือนเหลือไม่ต่ำกว่า 30% การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเกษียณอายุราชการ และกลุ่มเกษียณอายุราชการ รวมไปถึงการให้ความรู้วางแผนวินัยทางการเงินและการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ครูทุกระดับ ทุกสังกัด ตั้งแต่กลุ่มผู้บรรจุใหม่ จนถึงกลุ่มเกษียณอายุราชการ เป็นต้น