ใครที่เคยประทับใจวรรณกรรมโลกอย่าง "The Wizard Of Oz" ผลงานโดย Lyman Frank Baum 1856 - 1919) นักประพันธ์ชาวอเมริกัน ที่ได้รับการตีพิมพ์มาแล้วประมาณเกือบ 60 ภาษาทั่วโลก จากที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1900 คงไม่มีวันลืมตัวละครเรียกน้ำตา "หุ่นกระป๋องอยากมีหัวใจ" จนเมื่อเวลาผ่านไปแล้วกว่าศตวรรษ แม้เทคโนโลยีจะก้าวล้ำเพียงใดในโลกเสมือน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกคนยังคงโหยหา "หัวใจของความเป็นมนุษย์" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาเจ็บป่วยไม่สบาย ต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้ในฐานะประธานในพิธีเปิดและบรรยายนำการอบรมออนไลน์ "Health caRe Tele-delivery Service" ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมสู่การพัฒนาแอปพลิเคชันกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกล และการบรรลุเป้าหมายก้าวสู่อันดับ 3 กายภาพบำบัดเอเชียในอีก 3 ปีข้างหน้าของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยให้ความเชื่อมั่นว่า แม้มหาวิทยาลัยมหิดลจะมุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมตามความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะทอดทิ้งประชาชนให้อยู่แต่กับบริการจากเทคโนโลยีที่ไม่มี "Human Touch" หรือ "Human Heart" ซึ่งเป็น "บริการด้วยหัวใจ" ที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้
ซึ่งสถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้ทิ้งไว้แต่ความสูญเสียไว้ข้างหลัง แต่ในทางกลับกันเป็น "ตัวเร่ง" ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่ง 4D ที่จะเกิดขึ้นในโลกยุค Post COVID-19 ได้แก่ Digital-Distancing-Discrimination-Domestic ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เคยสัมผัสกับ "โลกแห่งดิจิทัล" เมื่อต้อง "รักษาระยะห่าง" อยู่กับบ้านในช่วงวิกฤติCOVID-19 ชี้ให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า ต่อไปเทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถช่วย "ต่อลมหายใจ" แห่งมวลมนุษยชาติให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้มากน้อยเพียงใด
ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์จำเป็นต้องอาศัย "Demand Pull" หรือจากความต้องการของประชาชน และ "Technology Push" หรือการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าทุกคนต้องการ "ความเอาใจใส่"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง กล่าวทิ้งท้ายว่าอยากเห็นผู้รับบริการกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกลที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะกายภาพบำบัด จะร่วมกับภาคเอกชน ผลักดันให้เกิดแอปพลิเคชันมาตรฐานโลก ซึ่งเหมือนเป็น "ที่ปรึกษาทางกายภาพบำบัด" ได้รับบริการออนไลน์ที่สามารถให้การบำบัดดูแลทั้งกายและใจ โดยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติต่อไปในอนาคต
ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ