มหาวิทยาลัยรังสิตแจ้งว่า โปรเจกต์นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล “ปั๊มชักแรงเสียดทานต่ำ” คว้ารางวัล GOLD MEDAL FOR THE INVENTION จากเวที WORLD INVENTION INNOVATION CONTEST (WiC) 2021 ประเทศเกาหลีใต้
นายสาฤทธิ์ วงศ์สอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าว่า สืบเนื่องจากปี 2020 ผมเคยส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลจากอีกเวทีหนึ่งที่ประเทศเกาหลีใต้ ในปีนี้วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้รับจดหมายเชิญให้ส่งผลงานเข้าประกวดเวที WORLD INVENTION INNOVATION CONTEST (WiC) 2021 ซึ่งตรงกับช่วงที่ผมทำโปรเจกต์จบ จึงส่งผลงานโปรเจกต์ คือ ปั๊มชักแรงเสียดทานต่ำ (Low Friction Pistion Pump) เข้าประกวด โดยอีเมล์เอกสารงานวิจัย รูปภาพ และวิดีโอสาธิตการทำงานช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และทราบผลการประกวดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การประกวดในครั้งนี้ได้รับ 2 รางวัลคือ GOLD MEDAL FOR THE INVENTION และ SPECIAL AWARD
“การทำงานของ “ปั๊มชักแรงเสียดทานต่ำ” จะทำงานเหมือนปั๊มชักทั่วไป แต่มีจุดเด่นตรงที่ลูกสูบและกระบอกสูบไม่มีการเสียดสีกันเหมือนปั๊มทั่วไป โดยได้มีการประยุกต์ใช้การพลิกตัวของปลอกยางแทน เพื่อช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงาน โดยสามารถวัดเปรียบเทียบการใช้พลังงาน ได้ดังนี้ ปั๊มที่สร้างขึ้น กินไฟ 35 วัตต์ ส่วนปั๊มทั่วไป กินไฟ 60 วัตต์ ซึ่งหากปั๊มน้ำขึ้นที่สูงปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านจะมีค่า ดังนี้
ปั๊มชักแรงเสียดทานต่ำ ปั๊มทั่วไป
สูบน้ำขึ้นชั้น 2 2.0 Amp 2.5 Amp
สูบน้ำขึ้นชั้น 3 2.3 Amp 2.6 Amp
สูบน้ำขึ้นชั้น 4 2.5 Amp 2.8 Amp
ปั๊มชักแรงเสียดทานต่ำ สามารถสูบน้ำขึ้นที่สูงเทียบเท่าตึก 4 ชั้น โดยมีอัตราการสูบน้ำ 3,500 ลิตร/ชม. ต่อการกินไฟ 35 วัตต์ ซึ่งปั๊มที่ทำขึ้นเองวัสดุส่วนใหญ่เป็น PVC จึงมีราคาถูก ส่วนปั๊มทั่วไปจะมีหลากหลายราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพ ตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไปไม่รวมมอเตอร์ ดังนั้น ราคาต้นทุนตัวปั๊มจึงต่างกันหลักร้อย แต่ประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานในระยะยาวนั้นต่างกันมาก”
ผลงานชิ้นนี้ผมทำร่วมกับนายภูริวัฒน์ ปานสังข์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาได้แก่ อาจารย์สุวัฒน์ พิพิธวณิชธรรม และ ผศ.ดร.วรุตม์ เอมอุดม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ โดยเราแบ่งหน้าที่กันคือ ผมจะรับผิดชอบเรื่องเอกสารการวิจัย คำนวณ ส่วนนายภูริวัฒน์ จะรับผิดชอบในการประดิษฐ์ชิ้นงาน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดโอกาสให้นักศึกษามีพื้นที่ในการทำสิ่งที่ตนสนใจ โดยมีอาจารย์คอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด ไม่ใช่แค่เรียนทฤษฎีอย่างเดียว เรายังสามารถนำสิ่งที่เรียนมาต่อยอดผลงานที่เราสนใจได้ และสนับสนุนนักศึกษาในการส่งผลงานเข้าประกวด