ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ ร.ต.จตุพล ดวงจิตร อาจารย์หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต และในฐานะหัวหน้าโครงการหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับ กองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินงานโครงการถอดบทเรียนและจัดทำคู่มือ การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อถอดบทเรียน และจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล รวมถึงการศึกษา วิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคู่มือการสร้างเครือข่ายของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางการประสานเครือข่ายประชาชน องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดต้นแบบหลักสูตรการเรียนรู้ การขยายผลการอบรมให้แก่ข้าราชการตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่วิทยากรในการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล โครงการถอดบทเรียนและจัดทำคู่มือการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล โดยคัดเลือกกองบัญชาตำรวจนครบาล จำนวน 2 สถานี และสถานีตำรวจภูธรภาค 1-9 ภาคละ 1 สถานี รวมเป็น 11 สถานี ได้แก่ สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว ภาค 1 สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ภาค 2 สถานีตำรวจภูธรเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ภาค 3 สถานีตำรวจภูธรจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ภาค 4 สถานีตำรวจภูธรขวาว จังหวัดร้อยเอ็ด ภาค 5 สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ภาค 6 สถานีตำรวจภูธรทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ภาค 7 สถานีตำรวจภูธรบางเลน จังหวัดนครปฐม ภาค 8 สถานีตำรวจภูธรเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ภาค 9 สถานีตำรวจภูธรสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยแต่ละแห่งมีการคัดเลือกตัวแทนเพื่อเก็บข้อมูล ได้แก่ ผู้บังคับการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรจังหวัด จำนวน 1 คน ตัวแทนข้าราชการตำรวจวิทยากรต้นแบบ (ครู ก.) จำนวน 5 คน ตัวแทนข้าราชการตำรวจวิทยากรสถานีตำรวจ (ครู ข.) จำนวน 5 คน ตัวแทนประชาชน (สมาชิกเครือข่ายฯ) จำนวน 5 คน ตัวแทนประชาชนทั่วไป จำนวน 5 คน ตัวแทนองค์กรภาครัฐ (หน่วยราชการ) ในพื้นที่ จำนวน 3 คน และตัวแทนองค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ จำนวน 4 คน ผศ.ว่าที่ร้อยตรี จตุพล กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ นี้ จะทำให้เกิดองค์ความรู้ในการสร้างเครือข่ายของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจะมีคู่มือการสร้างเครือข่ายของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล ที่เหมาะสมให้แก่ข้าราชการตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่วิทยากรในการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล รวมถึงกองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถนำชุดความรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการ สู่การจัดการหลักสูตรการเรียนรู้ต้นแบบ เพื่อขยายผลการอบรมให้แก่ข้าราชการตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่วิทยากรในการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบลต่อไป