วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี ตรงกับวันสาธารณสุขแห่งชาติ ในยุคที่ต้อง "อยู่กับ COVID-19" ซึ่งเป็นที่คาดกันว่าจะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ต่อไปในอนาคต ได้ทำให้แวดวงสาธารณสุขไทยเกิดความตื่นตัวอย่างยิ่งในเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะให้กับประชาชน
วิกฤติ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัวจนถึงเกือบหยุดนิ่งในบางด้าน แต่ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับผลกระทบจนไปต่อไม่ได้ จากตัวเลขการส่งออกกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 20 ในปีพ.ศ.2563 ชี้ให้เห็นว่า COVID-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้นแค่ไหน
รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะฯ มุ่งพัฒนา "นวัตกรรมเชิงรุก" โดยยึดหลักแห่งสุขภาวะ "3P" คือป้องกัน (Prevention) ส่งเสริม (Promotion) และ ปกป้อง(Protection) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งยังได้มองไปถึงเรื่องการบริการสังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกเหนือไปจากการผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์ต่อสังคมแล้ว อีกจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การสร้างองค์ความรู้เพื่อการขยายผลต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไปในวงกว้าง
หนึ่งในนวัตกรรมแห่งสุขภาวะโดยภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจในฐานะ"ปัญญาของแผ่นดิน" คือ ความสำเร็จจากการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมอาหารแบบข้นหนืดพร้อมบริโภคเพื่อผู้สูงวัยที่มีภาวะการกลืนลำบาก ที่ได้รับการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และร่วมกับภาคเอกชนวางตลาดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ผลจากความสำเร็จนอกจากจะเป็นการทำให้ผู้สูงวัยที่มีภาวะการกลืนลำบากได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ และเกษตรกรไทย จากการผลิตซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปลูกขึ้นภายในประเทศ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวจากการประยุกต์เอาอาหารคาว-หวานที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เช่น ต้มข่าไก่ซึ่งใช้กะทิธัญพืชที่ดีต่อสุขภาพ และข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งใช้ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู และมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่ปลูกภายในประเทศเช่นกัน มาทำเป็นอาหารแบบข้นหนืดพร้อมบริโภค แบบแยกเสิร์ฟที่กลืนง่าย อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ พลังงานต่ำ และรสชาติอร่อย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พร้อมลักษณ์ สรรพ่อค้า อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ได้เล่าถึงที่มาของโครงการนวัตกรรมอาหารแบบข้นหนืดพร้อมบริโภคเพื่อผู้สูงวัยที่มีภาวะการกลืนลำบากว่า เกิดจาก project การทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทสาขาโภชนวิทยาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วได้มีการขยายผลต่อไปจนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทเพื่อการส่งออกที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ โดยผ่านการทดสอบวัดความหนืด ด้วยเครื่องรีโอมิเตอร์ (Rheometer) มีค่าอยู่ในช่วง 4.9 - 7.7 Pa.s หรือ ปาสคาลวินาที ซึ่งจัดเป็น Dysphagia Pureed Diet ตามมาตรฐานของ The National Dysphagia Diet แห่งสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้จุดเด่นของผลิตภัณฑ์อาหารแบบข้นหนืดพร้อมบริโภคเพื่อผู้สูงวัยที่มีภาวะการกลืนลำบากที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นนี้ มีทั้งอาหารคาว และหวาน โดยในแต่ละรสชาตินี้ให้พลังงานเท่ากัน คือ 250 กิโลแคลอรี่ ในปริมาณ 250 กรัม
สำหรับอาหารหวานเสริมคุณค่าทางอาหารด้วยการเติมผงโปรตีนไข่ขาว ทั้งอาหารคาวและอาหารหวานบรรจุในถุงรีทอร์ท (Retort Pouch) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์พร้อมทานที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานในอุณหภูมิห้อง เอื้อต่อการส่งออก
อาหารข้นหนืดนอกจากจะเหมาะสำหรับผู้สูงวัยแล้ว ยังช่วย"เติมชีวิต" ให้กับผู้ที่มีภาวะการกลืนลำบากอื่นๆ ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปาก และโรคทางสมอง ฯลฯ ได้อีกด้วย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พร้อมลักษณ์ สรรพ่อค้า ได้แนะนำวิธีการเตรียมอาหารข้นหนืดไว้สำหรับให้ผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยที่มีภาวะการกลืนลำบากรับประทานเองที่บ้านว่าสามารถนำเอาอาหารที่ผู้ป่วยชื่นชอบ ซึ่งไม่แสลงโรค มีรสไม่จัด และไม่มัน มาบดและผสมน้ำพอประมาณ ก่อนเติมแป้งข้าวโพด หรือแป้งมัน ขณะเคี่ยวบนเตา จนมีความข้นหนืดที่สามารถเกาะคงรูปร่างอยู่บนช้อนได้ และเมื่อตะแคงช้อนอาหารจะตกจากช้อนทั้งหมด ตามวิธี IDDSI Spoon Tilt Test ซึ่งเป็นวิธีทดสอบความข้นหนืดที่เหมาะสมตามมาตรฐานของ IDDSI (International Dysphagia Diet Standardisation Initiative) ซึ่งปัจจุบันเป็นมาตรฐานอาหารสำหรับผู้ป่วยกลืนลำบากระดับสากลที่ใช้กันในโรงพยาบาล
ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารแบบข้นหนืดพร้อมบริโภคเพื่อผู้สูงวัยที่มีภาวะการกลืนลำบาก ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ คิดค้นและพัฒนาขึ้นนี้ตอบโจทย์สังคมในฐานะ "อาหารแห่งอนาคต" ที่พร้อมรองรับ "สังคมผู้สูงวัย" อีกทั้งยังตอบโจทย์เทรนด์ "อาชีพแห่งอนาคต" ด้วย "นักกำหนดอาหาร" ซึ่งเป็นบัณฑิตคุณภาพจาก มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาโภชนวิทยาคณะสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่กำลังมาแรง สู่สังคมต่อไป
ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา