กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ในหัวข้อ ท่านคิดอย่างไรต่อ “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” พุทธศักราช 2564 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค 7,391 คน ได้สรุปความคิดเห็น ดังนี้ ร้อยละ 50.41 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในงานประเพณีวันลอยกระทง และร้อยละ 15.45 ไม่สนใจเข้าร่วมงาน โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 66.90 เพราะกลัวติดเชื้อโควิด-19 ด้านกิจกรรมในงานประเพณีลอยกระทงที่คนส่วนใหญ่สนใจเข้าร่วม คือ ทำบุญไหว้พระ ชมการประดับประทีปโคมไฟในยามค่ำคืน แต่งชุดไทยไปลอยกระทง และชมการสาธิตทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าคุณค่าและประโยชน์ของประเพณีลอยกระทง 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 เพื่อแสดงความกตัญญูต่อ “น้ำ” ขอขมาพระแม่คงคา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันดับ 2 เพื่อส่งเสริม สืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีของไทยให้คงอยู่ อันดับ 3 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อันดับ 4 ได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับคนรัก ครอบครัว และอันดับ 5 เพื่อการแสดงออกต่อพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้วัสดุธรรมชาติ เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม กระทงที่ทำจากต้นกล้วย ใบตอง ดอกบัว กระทงที่ทำจากขนมปัง และกระทงที่ทำจากพืชผัก สำหรับสถานที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ สนใจเข้าร่วมงานลอยกระทง 5 อันดับ ได้แก่ งานประเพณีเดือนยี่เป็ง จ.เชียงใหม่ งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย งานเทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย “วันเพ็ญ เย็นใจ” River Festival Thailand 2021 กรุงเทพฯ งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จ.ตาก และจังหวัดของตนเอง ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า วธ. ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมประเพณีลอยกระทงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2564 “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานประเพณีไทย” 1 ครอบครัว 1 กระทง รักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ปลอดโรค ปลอดภัย ทั่วประเทศ รวมทั้งกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ อย่างไรก็ดี งานประเพณีลอยกระทงยังคงปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข