สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ วัดคูหาสวรรค์ หรือ วัดศาลาสี่หน้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ในอดีตนั้น เป็นสำนักปฎิบัติกัมมัฏฐาน ซึ่งมีอดีตเจ้าอาวาสผู้เชี่ยวชาญเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย นอกจากนี้ ท่านยังเป็นเจ้าตำรับ "สมเด็จพิมพ์เล็บมือ" อันเลื่องลือ นั่นคือ ´พระวิสุทธิสารเถร´ หรือ ´หลวงพ่อผ่อง ธัมมโชติโก´ หลวงพ่อผ่อง นับเป็นสุดยอดพระเกจิอาจารย์ยุคเก่ารูปหนึ่งในย่านฝั่งธนบุรี ทั้งยังเป็นสหธรรมิกที่สนิทชิดเชื้อกับ หลวงปู่ชู วัดนาคปรก เพราะเป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมจาก หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เช่นกัน ประการสำคัญ ท่านยังเป็น 1 ใน 3 พระเกจิอาจารย์ของฝั่งธนบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ให้ความเคารพนับถือ และเป็นพระเถระ 1 ใน 4 รูป ที่ได้ "พัดงาสาน" สมัยรัชกาลที่ 5 อันประกอบด้วย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง, พระสังวราชุ่ม วัดราชสิทธิฯ (วัดพลับ), หลวงพ่อผ่อง วัดคูหาสวรรค์ และ หลวงปู่ปั้น วัดสะพานสูง หลวงพ่อผ่อง ธัมมโชติโก อัตโนประวัติของหลวงพ่อผ่อง ท่านมีนามเดิมว่า "ผ่อง" เป็นบุตรของ นายสุด และ นางอ่ำ เกิดที่บ้าน ต.บางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อปี พ.ศ.2414 ต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2435 ได้อุปสมบทที่วัดรวก จ.นนทบุรี มี พระปรีชาเฉลิม (แก้ว สังขสุวัณโณ) ป.ธ. 6 (ภายหลังเลื่อนเป็นพระเทพโมลี เจ้าอาวาสวัดมหรรณพาราม) วัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการแก้ว วัดไฟไหม้ (วัดอมฤต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการลบ วัดรวก เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "ธัมมโชติโก" จากนั้นได้ศึกษาวิปัสสนาธุระในสำนักอาจารย์แก้ว วัดไฟไหม้ อยู่ 3 พรรษา พรรษาที่ 4 ย้ายมาอยู่ที่วัดนางชี คลองด่าน ในสมัยพระครูศีลขันธ์สุนทร เป็นเจ้าอาวาส พรรษาที่ 11 ย้ายมาอยู่ที่วัดนาคปรก อีก 10 พรรษา จนถึงปี พ.ศ.2455 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระศากยปุตติยวงศ์) และ พระพุทธพยากรณ์ วัดอัปสรสวรรค์ (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูพุทธพยากรณ์) ได้อาราธนาให้เป็นเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร ในขณะดำรงพระฐานานุกรมพระปลัด วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2458 ได้เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูสังวรสมาธิวัตร เนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2464 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะหมวดคลองบางจาก อ.ภาษีเจริญ สมณศักดิ์สุดท้ายได้รับเลื่อนเป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระ วิสุทธิสารเถร ‘ถือพัดงาสาน’ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2464 หลวงพ่อผ่องมรณภาพเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2471 สิริอายุ 57 ปี พรรษา 35 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ได้ 16 ปี พระสมเด็จเล็บมือ หลวงพ่อผ่อง หลวงพ่อผ่อง เป็นพระเกจิที่มั่นคงในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อมาปกครองวัดคูหาสวรรค์ ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ เช่น พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ พระประธานในพระอุโบสถ และศาลาสี่หน้า ที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างเสริมเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองดังที่ปรากฏอยู่ เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสแก่สาธุชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ท่านเป็นพระที่รักสมถะ ถือสันโดษ และใฝ่ใจในทางวิปัสสนาธุระมาตั้งแต่แรกอุปสมบท จนเกิดความชำนาญแตกฉาน ท่านมีอัธยาศัยเยือกเย็น อ่อนโยน ชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะด้านการรักษาโรค กล่าวกันว่า น้ำมนต์ของท่านศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก จะเป็นผีหรือเจ้าเข้าสิงก็ใช้ไล่ได้ดี หรือในทางแคล้วคลาด เมตตามหานิยม และอยู่ยงคงกระพันชาตรี ก็เป็นเลิศ พระสมเด็จเล็บมือ หลวงพ่อผ่อง วัตถุมงคลของท่านที่สร้างแจกในยุคแรกๆ จะเป็นประเภท ‘ตะกรุดและผ้ายันต์’ ซึ่งปัจจุบันหายากยิ่งนัก สำหรับวัตถุมงคลยอดนิยมและถือได้ว่าเป็นเจ้าตำรับ ก็คือ "พระสมเด็จเล็บมือ" ลักษณะเป็นพระเนื้อผงสีขาวนวล ละเอียดแห้ง มีกรอบพิมพ์คล้ายครอบแก้วหรือปลายนิ้วมือ ด้านหน้า เป็นองค์พระปฏิมากรประทับนั่ง แสดงปางขัดสมาธิเพชร เหนืออาสนะฐานเขียง โดยท่านสร้างด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นแรก สร้างประมาณปี พ.ศ.2457 ด้านหลัง จะเป็นหลังนูนเรียบ ไม่ปรากฏลวดลายหรืออักขระเลขยันต์ใดๆ ส่วน รุ่นสอง สร้างประมาณปี พ.ศ.2464 ด้านหลัง จะปรากฏอุณาโลมประทับอยู่ จำนวนสร้างทั้งสองรุ่นนั้นน่าจะไม่เกิน 5,000 องค์ พระสมเด็จเล็บมือ หลวงพ่อผ่อง พระสมเด็จเล็บมือ หลวงพ่อผ่อง มีพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏทางด้านเมตตามหานิยม และค้าขายร่ำรวย นับเป็นพระเนื้อผงก่อนปี 2500 ที่เข้มขลังด้วยพุทธาคมน่าสะสมพิมพ์หนึ่ง แต่ด้วยจำนวนการสร้างไม่มากนัก และโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในครอบครองของชาวฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะชาวภาษีเจริญและใกล้เคียง ซึ่งต่างหวงแหนยิ่งนักครับผม พระสมเด็จเล็บมือ หลวงพ่อผ่อง