ผู้เสนอฉบับปชช.ดาหน้ายืนกรานต้องเลิกยุทธศาสตร์ชาติ โละคำสั่งคสช. เหตุมีปัญหา-ขาดการมีส่วนร่วม เจอเจ้าเก่าประท้วงวุ่น "กิตติศักดิ์" ไม่รู้จริงอ่านโพย จ๋อยเด็กก้าวไกลสวนกลับส.ว.คนนี้ โดนคดีห้ามเข้าวัดที่จ.พิจิตร วันที่ 16 พ.ย.64 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ฉบับภาคประชาชน ต่อมานายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์ ) ฐานะผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ประเทศไทยควรมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่ควรมีแผนยุทธศาสตร์ชาติของคสช. ที่มีเฉพาะกลุ่มทหารและกลุ่มทุนเป็นผู้กำหนดแผน ขาดการยึดโยงกับประชาชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ส่วนแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้นั้นไม่ชัดเจนอีกทั้งไม่จัดลำดับความสำคัญ ที่ทำให้การปฏิรูปประเทศมีความสำเร็จ การแก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติยากพอๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการเสนอแก้ไขต้องผ่านบอร์ดกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นต้องขอมติจากรัฐสภา ที่มี ส.ว. 250 คนที่คสช.แต่งตั้งท่ากับต้องให้คสช.เห็นชอบถึงจะแก้ไขแผนได้ ส่วนการปฏิรูปประเทศ พบว่ามีกรรมการที่เป็นอดีตทีมงานของคสช. กลุ่มข้าราชการ ทำให้แผนปฏิรูปประเทศคือ แผนของราชการ แม้จะมีการรายงานการปฏิรูปความคืบหน้าด้านต่างๆ พบว่าเป็นแผนงานพื้นฐานของหน่วยงานที่ต้องทำ ไม่ใช่แผนใหม่เพื่อปฏิรูปประเทศ "แผนปฎิรูปประเทศการเมือง มีดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยที่ 6.75 การกำหนดค่าดัชนีดังกล่าวตั้งเป้าหมายปี 2564 เป็นประชาธิปไตยแบบบกพร่องเพราะตั้งเป้าหมายไว้ต่ำ ทั้งที่ ปี 2554 พบดัชนีความเป็นประชาธิปไตยที่ 6.55 หากยึดแผนปฏิรูปและดัชนีดังกล่าว เท่ากับส.ว. ต้องร่วมต่อต้านรัฐประหาร ไม่เช่นนั้นประเทศจะปฏิรูปไม่สำเร็จ"นายณัชปกร กล่าว นายณัชปกร กล่าวว่า แผนปฏิรูปที่ประชาชนต้องการ เช่นยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และปฏิรูปกองทัพ ไม่ถูกบรรจุในแผน อีกทั้งมีพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอนาคตใหม่ สนับสนุนให้มีการปฏิรูปดังกล่าวแต่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ เพราะถูกปัดตกโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ด้วยเหตุที่ต้องขอคำรับรองว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเครื่องมือทางการเมือง หากไม่มีใครทำตามแผนที่คสช.ร่างไว้ ถูกตีความและมีความผิด ทั้งที่ไม่ทุจริต คอร์รัปชั่น โดยโทษสูงสุดตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต หากนักการเมืองหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ปฏิบัติตามแผนของคสช. ยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อโละแผนยุทธศาสตร์ชาติตั้งอยู่บนความกลัว เพราะกลัวว่าจะนำงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และเป็นเครื่องมือทางการเมืองประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขณะที่น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ชี้แจงด้วยว่าเหตุผลที่ต้องยกเลิก มาตรา 279 บรรดาคำสั่ง และประกาศของคสช. รวมถึงการรองรับการกระทำของคสช.ว่าถูกกฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะการออกคำสั่งด้วยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 นั้น พบว่ามีปัญหาตามมาจำนวนมาก อีกทั้งยังพบบางคำสั่งที่ละเมิดการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่น.ส.ชลธิชา ชี้แจงได้ถูกส.ว.ประท้วงว่าเนื้อหาไม่ตรงประเด็นกับรัฐธรรมนูญ โดนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ก็ประท้วงเช่นกันว่า การอภิปรายเป็นไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่เป็นการอ่านโพยที่มีผู้พิมพ์ให้ จึงอภิปรายไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงทำให้นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สวนกลับว่า ส.ว.คนนี้ทำผิดข้อบังคับ และวัดยังเข้าไม่ได้ โดนคดีห้ามเข้าวัดที่จ.พิจิตร ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ฐานะประธานที่ประชุม ได้วินิจฉัยให้ถอนคำประท้วงเพราะเป็นคำพูดที่ไม่ควรใช้ หากไม่ถอนจะขอให้ออกจากห้องประชุม ทำให้นายประเสริฐพงษ์ ยอมถอนคำพูดแต่โดยดี แต่พบว่าส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ประท้วงกลับนายชวน เพราะคำพูดที่นายประเสริฐพงษ์ระบุนั้นเป็นข้อเท็จจริงและเป็นคำพิพากษาชัดเจน