หลังพบหลายพื้นที่มีเด็กไม่ได้เรียนต่อหลังจบม.3 และเข้าตลาดแรงงานไม่ได้เพราะอายุไม่ถึง 18 เสนอโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ นำร่อง 6 จว.ใต้ฝั่งอันดามัน และจะขยายไปทั่วปท. ให้ได้เรียนต่อทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.64 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมหัวหน้าส่วนราชการทางการศึกษา เพื่อติดตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล โดยกล่าวว่า จากที่ได้ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาในหลายพื้นที่ พบว่ามีเด็กไม่ได้เรียนต่อหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ได้ เพราะอายุไม่ถึง 18 ปี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง เนื่องจากไม่มีความรู้พื้นฐานอาชีพ จึงได้กำหนดนโยบายให้ผู้จบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อ 100% ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ศธ.จะเสนอโครงการ “อาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” หรือ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ที่ประชุมพิจารณา “โครงการนี้เป็นการช่วยเหลือนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ในลักษณะโรงเรียนประจำ ผู้เรียนได้เรียนฟรี มีที่พัก พร้อมอาหาร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งในปีการศึกษา 2565 จะนำร่องที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จากนั้นจะขยายโครงการไปในวิทยาลัยสังกัด สอศ.ทั่วประเทศ รวมถึงฝึกอบรม Up-skill และ Re-skill ให้ผู้เรียนด้วย มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2575 ตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายวิชาชีพได้ 31,200 คนต่อปี Up-skill / Re-skill ได้ 65,000 คนต่อปี ใช้งบประมาณเฉลี่ย 1,200 ล้านบาทต่อปี” รมว.ศธ.กล่าว นอกจากนี้ สอศ.ได้รายงานความก้าวหน้านโยบาย “การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (Excellent Center) เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” ที่เป็นหนึ่งในโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ของ ศธ. ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ได้ดำเนินการในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนกับสถานประกอบการ และเชื่อมโยงกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ใน 4 สาขางาน คือ สาขาซอฟต์แวร์และการประยุกต์ สาขาเครือข่ายคอมพิวเตอร์และความปลอดภัย สาขากราฟิกเกมและแอนิเมชัน และสาขาสมองกลฝังตัวและไอโอที (Internet of Things : IoT) เน้นกระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่สร้างระบบความคิด การพัฒนาทักษะให้นักเรียน นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริง มีการประยุกต์ใช้รายวิชาในสาขางานสู่อาชีพในอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ได้เตรียมขยายผลในสาขาที่เป็นความต้องการกำลังคนในท้องถิ่น ในสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ การท่องเที่ยว การโรงแรม ช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ช และช่างอากาศยาน รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในองค์กรหลักของ ศธ. และหน่วยงานการศึกษาในจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนและเป็นศูนย์กลางการประสานงานระหว่างหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการเสริมสร้างทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในจังหวัด โดยกำลังสำรวจความต้องการในการพัฒนาอาชีพ เพื่อนำไปสู่การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอาชีพได้ตรงตามความต้องการและบริบทที่แตกต่างกัน โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้เยี่ยมชมศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ “Sawasdee Plaza” และ “Sawasdee Cup (CAFE)” ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติงานจริงในการจำหน่ายสินค้า และการให้บริการของวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ โดยมีผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผลผลิตจากการเรียนการสอนมาวางจัดจำหน่าย เช่น โต๊ะไม้จากไม้หมาก แก้วสกรีน เครื่องดื่มค็อกเทล เป็นต้น พร้อมทั้งเยี่ยมชมให้กำลังใจศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) ในการให้บริการช่วยเหลือประชาชน โดยเปิดให้บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชน ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น และการต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างรายได้ ในสถานการณ์โควิด 19 ด้วย