วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ห้องประชุมมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงติ๊ง (สว่างเมตตาธรรมสถาน) อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายรังสรรค์ อินทรชาธร ในฐานะผู้ประสานงานพร้อมตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงเส้นทางผ่านเขตเมือง นครราชสีมา ร่วมจัดกิจกรรมเสวนาสะท้อนปัญหาและเสนอข้อมูลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาทบทวนให้ยกระดับทางรถไฟตั้งแต่สถานีรถไฟโคกกรวดถึงสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล รวมระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัชรพล โตมรศักดิ์ เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) นายวิจิตร กิจรัตน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายก ทน.นครราชสีมา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเส้นทางรถไฟผ่านและชาวโคราชร่วมกิจกรรมกันอย่างคึกคัก ทั้งนี้นายรังสรรค์ ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า กายภาพของพื้นที่ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง ถือเป็นชุมชนชานเมืองขนาดใหญ่มี 12 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 3 หมื่นคน โครงการบ้านจัดสรรจำนวน 15 แห่ง สถานศึกษา 9 แห่ง และที่ตั้งหน่วยงานราชการ รูปแบบเดิมเป็นทางบนดินไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัย กรณีปิดจุดตัดข้ามทางรถไฟโดยสร้างสะพานเกือกม้าและอุโมงค์ทางลอดเสมือนแบ่งแยกชาวบ้านออกจากกัน ส่งผลให้การสัญจรยากลำบากรวมทั้งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้รถดับเพลิงต้องเสียเวลาระงับเหตุร้ายและสะพานหัวทะเล ต้องการให้ปรับรูปแบบทางรถไฟยกระดับช่วงผ่านจุดตัดถนนไชยณรงค์หรือห้าแยกโรงแรมปัญจดารา เพิ่มความสูงจากเดิมเป็น 4.50 เมตร เพื่อให้รถยนต์ขนาดใหญ่สามารถลอดข้ามได้สะดวกและรื้อถอนสะพานหัวทะเล เนื่องจากผลกระทบหลังก่อสร้างสะพานเมื่อปี พ.ศ.2539 ทำให้กิจการโรงแรมที่พัก อาคารพาณิชย์ สถานีบริการเชื้อเพลิง ร้านอาหาร ฯลฯ ตั้งอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ประสบปัญหาการค้าซบเซา เนื่องจากไม่มียานพาหนะแล่นผ่านหลายรายต้องเซ้งกิจการและหาทำเลการค้าใหม่และอสังหาริมทรัพย์ราคาตก ซึ่งภาคประชาชนได้นัดรวมตัวเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อและปัญหารวมทั้งข้อร้องเรียนนำเสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 9 ครั้ง ซึ่งมีข้ออ้างนำไปพิจารณา เพื่อทบทวนปรับรูปแบบการก่อสร้างจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด ทั้งนี้ต้องฝากถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมต.คมนาคม และผู้มีอำนาจโปรดพิจารณาเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม นายเทวัญ อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลรถไฟทางคู่ได้สร้างคุณูปการโดยเฉพาะความเจริญสู่โคราชมากมายแต่รูปแบบก่อสร้างช่วงผ่านตัวเมืองหากไม่ปรับแก้ไขจะสร้างปัญหาในอนาคต ก่อนหน้านี้ได้เคยพูดคุยกับนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. ซึ่งเป็นเพื่อนกับตน หากต่างฝ่ายไม่ยอมการดำเนินโครงการต้องล่าช้า แนวทางให้ตั้งคณะทำงาน โดยตนจะนัด ผว.รฟท. มาพูดคุยถกปัญหากันนอกรอบรวมทั้งให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นเจ้าภาพร่วมกับทุกภาคส่วนออกแรงผลักดันให้เป็นการประสานงานคู่ขนาน เพื่อให้เกิดภาพชาวโคราชมีความสามัคคี ตนเชื่อรัฐบาลก็ต้องเปิดโอกาสรับฟังเสียงสะท้อนเพื่อนำไปปรับแก้ไขรูปแบบให้เหมาะสมและลดผลกระทบให้น้อยที่สุด