เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งอธิการบดี มทร.พระนคร ใจความว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนางสาวสุภัทรา โกไศยกานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มทร.พระนคร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 นั้น เนื่องจากนางสาวสุภัทราได้ดำรงตำแหน่งมาครบกำหนดตามวาระแล้วนั้น ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 จึงได้มีมติเห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มทร.พระนคร และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว บัดนี้ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มทร.พระนคร ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล กล่าวว่า จากนี้ มทร.พระนคร จะมุ่งพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายและครอบคลุมทุกสาขาวิชา โดยมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และสังคม เน้นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอาชีพในอนาคต รวมถึงการอบรมหลักสูตรระยะสั้นที่สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้ได้ในโลกความเป็นจริง และยังมุ่งเปิดโอกาสเรียนรู้ ยกระดับการศึกษาประชากรทุกกลุ่มวัยและคนวัยทำงาน ในตลาดแรงงานที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตน หรือผู้ที่ต้องการ Re-Skill, Up-Skill เข้ามาศึกษาต่อ โดยผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากการศึกษาในระบบจากมหาวิทยาลัย การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง เพื่อนำไปใช้รับประกาศนียบัตร วุฒิบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาตรีตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยผ่านระบบคลังหน่วยกิตดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนที่ต้องการพัฒนาตนเอง สามารถเลือกเรียนเฉพาะเรื่องที่ต้องการยกระดับทักษะเดิมหรือเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นให้กับตัวเองได้ ตามแนวทางของมหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยจะมุ่งส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้ออนไลน์ ซึ่งเป็นโมเดลการศึกษาตลอดชีวิตที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะในยุคดิสรัปชั่น ต้องยิ่งเข้าถึงการเรียนรู้ เพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและวิธีการทำงานเพื่อความอยู่รอด ดร.ณัฐวรพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เพื่อพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับนโยบายเมกะโปรเจคของรัฐบาล มหาวิทยาลัยจะเร่งยกระดับงานวิจัย และพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอาชีพในอนาคต มุ่งพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ด้านอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบราง รวมไปถึงอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ อีกทั้งขณะนี้ยังได้ร่วมดำเนินกันในกลุ่ม 9 มทร. ในการผลิตบัณฑิตที่มีประสิทธิภาพ มุ่งตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ให้สามารถทำงานภาคอุตสาหกรรมในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น เกษตร อาหาร ท่องเที่ยว ดิจิทัลอีโคโนมี ซึ่งมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการปฎิบัติจริง ตามเป้าหมายที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นนำ ด้านการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณภาพระดับสากล