วันที่ 13 พ.ย.64 ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ ส.ป.ก. ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และจังหวัดสระแก้ว จัดทำโครงการ "โคบาลบูรพา" เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปเลี้ยงปศุสัตว์ โดยส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์ โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้จังหวัดสระแก้วเป็นเมืองแห่งปศุสัตว์ "โคบาลบูรพา" ที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่เหมาะสม เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชาและเวียดนาม มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้ออย่างครบวงจร ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชน และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก ลดการนำเข้าเนื้อสัตว์และการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย และสร้างโอกาสในการผลิตเนื้อโคส่งออกตลาด AEC ในอนาคตต่อไป ซึ่งในการดำเนินโครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ.2560-2565) ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ 1.ส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก โดยอุดหนุนแม่โคเนื้อให้เกษตรกร 6,000 ราย รายละ 5 ตัว รวมแม่โคเนื้อ 30,000 ตัว 2.ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ เพื่อส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่แล้ง  3.ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ สำหรับเกษตรกรผู้ได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงโคเนื้อและแพะ 4. ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่/จัดตั้งสหกรณ์ "โคบาลบูรพา" เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ โดยพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว ที่ ส.ป.ก.ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูกตามนโยบายของกระทรวงฯ ได้แก่ สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง (คทช.) จำกัด มีจำนวนสมาชิก 115 ราย สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภออรัญประเทศ (คทช.) จำกัด มีจำนวนสมาชิก 60 ราย และสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอวัฒนานคร (คทช.) จำกัด มีจำนวนสมาชิก 90 ราย โดยสมาชิกทั้ง 3 สหกรณ์ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงโคเนื้อ รายละ 5 ตัว ตามโครงการโคบาลบูรพาเป็นหลัก และทำการเกษตรแบบผสมผสานควบคู่ไปด้วย แล้วแต่สภาพพื้นที่ของแต่ละสหกรณ์ สำหรับสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง (คทช.) จำกัด ซึ่งมีสมาชิก 115 ราย 3 ชุมชน 5 แปลง เนื้อที่ 3,018 ไร่ แบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น แปลงเกษตรกรรม 582.92 ไร่ แปลงที่อยู่อาศัย 118.92 ไร่ พื้นที่แปลงรวม 203.71 ไร่ พื้นที่ส่วนกลาง 39.87 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภค 479.39 ไร่ โดยในแต่ละแปลงนอกจากเลี้ยงโคเนื้อรายละ 5 ตัว ยังมีการเลี้ยงแพะ เลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นบ้าน เป็ดเทศ เลี้ยงปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาทับทิมในกระชัง ปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าวโพด และยังใช้พื้นที่ในแปลงที่อยู่อาศัย ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง เมื่อเหลือก็นำไปจำหน่ายทำให้มีเงินหมุนเวียนรายวัน เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ แตงกวา ถั่วฝักยาว ชะอม มะเขือเทศ เพาะเห็ดฟางและเห็ดนางฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ส.ป.ก.สระแก้ว ยังเข้าไปแนะนำและส่งเสริมการแปรรูปผลผลิต เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า เช่น เห็ดนางฟ้า แปรรูปเป็นเห็ดสามรส และแหนมเห็ด ปลา แปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ปลาส้ม เป็นต้น ซึ่งผลผลิตในแปลงก็จะมีทั้งพ่อค้ามารับซื้อที่แปลง และเกษตรกรนำไปขายเองในตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดใกล้เคียง และตลาดโรงเกลือ ส่วนโคเนื้อก็นำไปขายที่สหกรณ์โคบาลบูรพาอำเภอโคกสูง ไม่เพียงเท่านี้ ส.ป.ก.สระแก้ว ยังเข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์งานฝีมือให้กับเกษตรกรเพื่อต่อยอดสินค้าให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในช่วงปี 2563–2564 ที่ผ่านมา ส.ป.ก.สระแก้ว ได้วางแผนโครงการและกิจกรรมการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่แปลงสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง (คทช.) จำกัด ทั้งหมด 7 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ และโคขุน ตามโครงการโคบาลบูรพา ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น 2.กิจกรรมปลูกหญ้าเนเปียร์ในพื้นที่แปลงรวมและแปลงที่อยู่อาศัย กิจกรรมนี้ ส.ป.ก. ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมเกษตรกรให้ทำเครื่องสับย่อยอาหารสัตว์ไว้ใช้เองอีกด้วย 3.กิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจการทำงานในรูปแบบกลุ่มและการอยู่ร่วมกัน 4.โครงการอบรมเกษตรกรเพื่อหลอมรวมให้เกิดความรักสามัคคีร่วมมือร่วมใจและทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มและส่วนรวม โดยใช้หลักการ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) 5.โครงการส่งเสริมการตลาด 6.โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และ 7.กิจกรรมยกระดับรายได้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ ในปี 2565 ส.ป.ก.สระแก้ว ได้วางแผนกิจกรรมการพัฒนาเกษตรกรไว้อีก 2 กิจกรรม ได้แก่ การพัฒนาระบบสหกรณ์ และ การสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบกระจายน้ำ เนื่องจากในพื้นที่ คทช.โคกสูง ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรและระบบกระจายน้ำที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ นางสาวอมร ศรีวิจารณ์ ประธานสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง (คทช.) จำกัด กล่าวว่า “โครงการโคบาลบูรพา เป็นโครงการที่ดีมากๆ ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการโคบาลบูรพา ขายโคไปแล้วประมาณ 8 รอบ ส่วนใหญ่จะขายโคตัวผู้ แต่ละรอบก็จะเลี้ยงโคให้ได้น้ำหนักอยู่ที่ 80–100 กก./ตัว ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด งวดแรกที่ขายโคได้ราคาตัวละ 25,000 บาท ตอนนั้นดีใจมาก ถือเป็นเงินงวดแรกที่ได้เป็นก้อน ซึ่งก่อนขายก็จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจโรค ตรวจความสมบูรณ์ของโคก่อน เราก็เลี้ยงและดูแลโคเป็นอย่างดี ให้กินหญ้าเนเปียร์บ้าง ข้าวโพดบ้าง อาหารสัตว์บ้าง หรือหญ้าจากธรรมชาติบ้าง สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไป และในแปลงนอกจากเลี้ยงโคเนื้อเป็นหลักแล้ว ช่วงรอเวลาขายโค ก็ปลูกผักระยะสั้น เพื่อจะได้มีรายได้หมุนเวียน ทำตามคำแนะนำของ ส.ป.ก. ที่เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนทุกอย่าง ส่งเสริมความรู้ ทั้งการแปรรูปสินค้า แปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตอนนี้ก็กำลังเพาะเห็ดฟาง และแปรรูปทำปลาแดดเดียว จะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เริ่มต้นรายได้รวมๆ ตอนนี้ก็ประมาณ 100,000 บาทต่อปี ต่อไปถ้ามีผลผลิตมากกว่านี้ เชื่อว่ารายได้จะเพิ่มมากขึ้นแน่นอน และอีกเรื่องที่ต้องขอขอบคุณคือการสนับสนุนเครื่องสับย่อยอาหารสัตว์ เพราะในแปลงก็ปลูกหญ้าเนเปียร์เลี้ยงโค กว่าจะสับเสร็จก็ใช้เวลานาน ถ้าจะซื้อเครื่องก็มีราคาแพง ขอบคุณที่ ส.ป.ก. ส่วนกลาง ส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมให้ความรู้และสอนทำเครื่องสับย่อย ทำใช้เองราคาต้นทุนก็ถูก เครื่องมีปัญหาก็ซ่อมเองได้ และพอมีเครื่องแล้วก็ประหยัดเวลาไปได้เยอะ ทำให้มีเวลาเหลือทำอย่างอื่นได้อีกเยอะแยะมากมายค่ะ” “ส.ป.ก. ยังคงเร่งดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านองค์ความรู้ต่าง ๆ การพัฒนาอาชีพ การแปรรูปสินค้า ตลาดการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนสนับสนุนนวัตกรรม ที่ส.ป.ก.ได้คิดค้นเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถทำกินบนผืนดิน ส.ป.ก.ได้อย่างมีความสุขตลอดไป”เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวทิ้งท้าย