สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการจัดทำโครงการทหารพันธุ์ดี “ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย” ร่วมกับโรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารของภาคเหนือ เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ยังขาดแคลนแหล่งอาหารที่ใช้ในการบริโภค เพื่อเป็นอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน ได้รับสารอาหารโปรตีนที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนชุมชนใกล้เคียงก็ยังคงขาดแคลนความมั่นคงทางอาหาร ในการพึ่งพาตนเองเป็นอย่างมาก กองทัพภาคที่ 3 จึงได้ดำเนินโครงการทหารพันธุ์ดี “ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย” ในพื้นที่ภาคเหนือ มาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัย, การเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการประมง สำหรับนำมา ผลิตเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพด้วยความมั่นใจ นำไปใช้ในการประกอบอาหาร อันจะทำให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนทั้งห้าหมู่ นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันกองกำลังนเรศวร รับผิดชอบโรงเรียนในโครงการทหารพันธุ์ดี “ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย” จำนวน 25 โรงเรียน โดยอยู่ในพื้นที่ จังหวัดตาก จำนวน 11 โรงเรียน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 14 โรงเรียน และการสนับสนุนการดำเนินการไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 36 แห่ง โดยอยู่ในพื้นที่ จังหวัดตาก จำนวน 20 แห่ง และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 16 แห่ง สำหรับการดำเนินการโครงการทหารพันธุ์ดี “ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย” แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การวางแผน : ดำเนินการสำรวจความต้องการของโรงเรียนในโครงการ และการวางแผนร่วมกับทางโรงเรียนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ ให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับการผลิตวัตถุดิบเพิ่มเติมที่จะนำมาประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน และการขอรับการสนับสนุน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา จากโครงการทหารพันธุ์ดี และศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มีผลการปฏิบัติจำนวน 39 ครั้ง ขั้นตอนที่ 2 การปฏิบัติตามแผน : ได้ดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ร่วมกับครู นักเรียน ส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ ในการปลูกผัก และการเลี้ยงสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพที่จะนำมาประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน และการสร้างกระบวนการเรียนรู้การดำเนินการ ตามโครงการทหารพันธุ์ดี ในการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต และการผลิตวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับ ครู นักเรียน และประชาชนในชุมชนรอบโรงเรียน โดยในห้วงที่ผ่านมา และสามารถผลิตพืชผัก ได้จำนวน 1,599 กิโลกรัม และโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จำนวน 454 กิโลกรัม และไข่ไก่ จำนวน 5,083 ฟอง ขั้นตอนที่ 3 การพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน : มีจุดมุ่งหมายหลักในการส่งมอบโครงการให้โรงเรียนดำเนินการ โดยมีหน่วยเป็นผู้ประสานงานและให้คำปรึกษา รวมทั้งการขยายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชน รอบโรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนมีอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการรับประทานครบทั้ง 3 มื้อ และเกิดความยั่งยืนในชุมชุน โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ในปัจจุบัน การดำเนินการของทั้ง 25 โรงเรียน ในพื้นที่กองกำลังนเรศวร อยู่ในขั้นที่ 3 โดยมีผลการปฏิบัติทั้งสิ้น จำนวน 2,782 ครั้ง ซึ่งโรงเรียนสามารถเก็บผลผลิตมาบริโภค, จำหน่าย และแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชม อีกทั้งได้ขยายผลไปสู่ชุมชนของนักเรียนและผู้ปกครองในพื้นที่ โดยได้เริ่มปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ตามบ้านเรือน เพื่อเป็นอาหาร, สร้างรายได้สำหรับชาวบ้านในชุมชน และก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองให้ยั่งยืนสืบไป ////////