โควิดติดเชื้อเพิ่ม 7,960 ราย หายป่วย 6,950 ราย เสียชีวิต 53 ศพ ด้าน"รมว.ศึกษาธิการ"เตือนมีชุดตรวจโควิด ATK ไม่ได้มาตรฐานเกลื่อนตลาด ส่งผลให้เจอผลตรวจปลอมกระทบระบบสาธารณสุข ย้ำให้ใช้ผลกระทบที่เจอใน“ร.ร.คําสร้อยพิทยาสรรค์” เป็นบทเรียน ขณะที่ ศาลสหรัฐฯ ระงับคำสั่งประธานาธิบดีบังคับให้ภาคธุรกิจฉีดวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 7 พ.ย.64 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ อีก 7,960 ราย เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 7,533 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 427 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย.64 มีจำนวน 1,939,136 ราย หายป่วยกลับบ้าน 6,950 ราย หายป่วยสะสม 1,822,542 ราย กำลังรักษา 98,367 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 53 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 มียอดสะสมสูงถึง 19,664 ราย วันเดียวกัน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการประชาชน รวมทั้ง โรงเรียนเริ่มปรับแผนกลับมาเรียน on site มากขึ้น การตรวจหาเชื้อโดยชุดตรวจ ATK ควบคู่ไปกับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR มีความจำเป็นเพื่อสกัดกั้นและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ปรากฎว่าชุดตรวจ ATK มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายวางขายกันทั่วท้องตลาดไม่เว้นแม้กระทั่งตลาดนัด ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้ชุด ATK จำหน่ายได้ที่ร้านขายยาที่ได้รับการรับรองการองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น เมื่อความโลภบังตา บวกกับความหละหลวมของกฎหมาย ก็เป็นช่องว่างของผู้ที่ฉกฉวยโอกาสซ้ำเติมประเทศไทยในภาวะวิกฤต นำชุดตรวจ ATK ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้ผ่านการรับรองมาวางขายจำหน่ายให้กับประชาชน ทำให้ผลตรวจผิดเพี้ยน พอไปตรวจ RT PCR ก็พบว่าไม่ติดเชื้อโควิด พบผลบวกปลอมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภาครัฐและประชาชน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกชุดตรวจที่มีคุณภาพได้รับรองมาตรฐานระดับสากล มีความแม่นยำสูง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากผลผิดพลาด ทั้งที่เป็นผลบวกปลอม หรือผลลบปลอม ส่งผลต่อระบบการจัดการสาธารณสุข โดยเฉพาะผลลบปลอมทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 นำไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ส่งกระทบด้านการระบาดในวงกว้าง เหตุการณ์นี้ต้องกลับมาพิจารณาใหม่ว่าการเลือกซื้อ ATK ควรเลือกจากราคาหรือคุณภาพ เมื่อหลายๆ สถานการณ์พิสูจน์ให้เห็นว่า ATK ด้อยคุณภาพ ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจ ประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า คงไม่สามารถปล่อยผ่านหรือทำนิ่งเฉยกับกรณีที่เกิดขึ้นของโรงเรียนคําสร้อยพิทยาสรรค์ จ.มุกดาหาร ที่พบผลตรวจปลอมในเด็กนักเรียนจำนวนมาก ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญในการให้คนไทยได้ใช้ชุดตรวจที่มีคุณภาพ มีความแม่นยำสูง ช่วยลดความผิดพลาดในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีหรือเพิ่งเริ่มมีอาการ เพราะในช่วงที่เริ่มติดเชื้อระยะต้นและยังไม่แสดงอาการ การเลือกใช้ ATK ต้องได้มาตรฐาน ให้ผลทดสอบมีความแม่นยำสูงเทียบเท่ากับการ swab PCR ปัจจุบันการดำเนินโรคเปลี่ยนไปพบว่าผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ 80% ยังไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย ยังไม่มีไข้ มีแค่ประมาณ 20% เท่านั้นที่มีอาการ ดังนั้นเป้าหมายของการใช้ชุด ATK ต้องมีคุณภาพ เพื่อตรวจหาเชื้อให้เจอเร็วที่สุด เพื่อทำการรักษาและลดการสูญเสีย อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรจะต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญกับการเลือกชุดตรวจโควิดควรพิจารณาจากชุดตรวจที่มีความแม่นยำในการทดสอบสูง สามารถตรวจหาเชื้อได้แม้ไม่มีอาการ ต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ตลับทดสอบมีความคงทน หลอดบัฟเฟอร์มีความยืดหยุด รีดเชื้อจากปลายสวอปออกมาได้มากที่สุด ปลายจุกหยดตัวอย่างมีตัวกรองป้องกันการปนเปื้อนจากเยื่อเมือก และแถบการอ่านผลทดสอบชัดเจน น้ำยาบัฟเฟอร์มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อได้ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และที่สำคัญ ชุดตรวจ ATK ต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานอาหารและยาประเทศไทย และได้รับรองมาตรฐานสากล ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กล่าวว่า จากกรณีผลตรวจ ATK ของครูและนักเรียนโรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรพ์ จ.มุกดาหารแสดงผลบวกลวง ทาง อย.ขอชี้แจงว่า ชุดตรวจยี่ห้อดังกล่าวไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. โดยเป็นชุดตรวจที่ได้รับบริจาคมา เพื่อให้นำมาใช้ในโรงเรียน จากบทเรียนในครั้งนี้ ทาง อย.ขอให้ผู้ที่จะนำชุดตรวจ ATK ไปใช้ตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง ควรตรวจสอบมาตรฐาน อย.เพื่อความมั่นใจในคุณภาพ โดยขณะนี้ มีชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐาน ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว รวม 100 รายการ ดังนั้น การจะเลือกใช้ชุดตรวจ ATK หรือ ประสงค์จะบริจาคชุดตรวจ ATK ให้หน่วยงาน หรือสถานศึกษาใดก็ตาม จำเป็นต้องตรวจสอบถึงคุณภาพ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ระงับข้อกำหนดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ให้ภาคธุรกิจที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน จัดให้พนักงานทั้งหมดไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในวันที่ 4 ม.ค.ปีหน้า (2565) มิเช่นนั้น จะต้องจัดตรวจโควิด-19 ทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อคนงานหลายล้านคน สำหรับการยื่นเรื่องคัดค้านคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยรัฐที่เป็นพรรครีพับลิกัน 5 รัฐ ได้แก่ เท็กซัส ลุยเซียนา เซาท์แคโรไลนา ยูทาห์ และมิสซิสซิปปี้ ร่วมด้วยบริษัทเอกชนและกลุ่มศาสนาอีกหลายแห่ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อกำหนดวัคซีนมีเป้าหมายคือเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่คนงานในอเมริกาก่อนฤดูหนาวซึ่งคาดว่าสถานการณ์ของโควิด-19 อาจกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง แต่ผู้ยื่นเรื่องคัดค้านระบุว่า เป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบ และละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ ประมาณร้อยละ 58 ของประชากรในสหรัฐฯ ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วเมื่อต้นเดือนพ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับประมาณร้อยละ 50 ในเดือนส.ค. เมื่อมีการประกาศข้อกำหนดวัคซีน