สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะของ "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" (Thai Journalists Association : TJA )ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในระดับสื่อมวลชน กับ "สมาคมนักข่าวกัมพูชา" (Club of Cambodian Journalists : CCJ) โดยในโอกาสดังกล่าว คณะได้เข้ายี่ยมคารวะ "นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร" เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เพื่อรับฟังสรุปสถานการณ์ความสัมพันธ์ 2 ประเทศ และการพัฒนากัมพูชาในปัจจุบัน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หากจะเอ่ยถึงนักการทูตที่มีความใกล้ชิดเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกัมพูชาแล้ว ชื่อของ "ทูตณัฏฐวุฒิ " ต้องมาเป็นอันดับต้นๆ แน่ เพราะตลอดเส้นทางของอาชีพนักการทูตท่านผูกพันกับประเทศนี้มาก เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการเอก ฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ก่อนจะค่อยๆ เติบโตไปประจำการตามตำแหน่งต่างๆ ทั่วโลก และถ้าใครจำได้สมัยที่มีกรณีเข้าใจผิดจนนำไปสู่การเผาสถานทูตนั้น ท่านเพิ่งจะไปรับตำแหน่งรองกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่นาน ก็ต้องกลับมารับตำแหน่งอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ในช่วงที่ความสัมพันธ์เข้าสู่ภาวะต้องได้รับการเยียวยา นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ความใกล้ชิดและความเชี่ยวชาญที่ท่านมีต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนทางบกติดกับประเทศไทยเกือบ 800 กิโลเมตรแห่งนี้ ทำให้ในสมัยที่กลับมาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ท่านได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานในคณะเผยแพร่ข้อมูล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการต่อสู้คดีปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์หวานอมขมกลืนอีกครั้ง จนล่าสุดทุกกรณีความขัดแย้งระหว่างไทย กับกัมพูชายุติลงเมื่อศาลโลกมีคำตัดสินคดีตีความคำตัดสินกรณีปราสาทพระวิหารปี 2505 เป็นที่เรียบร้อย ก็เป็นทูตณัฏฐวุฒิอีกครั้งที่กลับมาทำงานเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชายุคใหม่ ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ " เราไม่สามารถเทียบกัมพูชาในแง่การพัฒนาการแบบเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่นลาว เวียดนาม เมียนมา หรือแม้กระทั่งไทยได้ เพราะว่าเมื่อจบสงครามอินโดจีนปี ค.ศ.1975 ทุกประเทศก็เริ่มพัฒนา แต่สำหรับกัมพูชา ปี 1975 คือช่วงเข้าสู่ยุคมืดของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตามมาด้วยการถูกยึดครองโดยเวียดนามอีก 10 ปี ทำให้ล่มสลายทั้งทรัพยกรมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายหมด" ทูตณัฏฐวุฒิเริ่มต้นถึงความแตกต่างในการมีมุมมองต่อกัมพูชา ท่าเรือน้ำลึกที่ จ.กำปงโสม หรือสีหนุวิลล์ 23 ต.ค. ปีนี้ จะครบรอบ 25 ปี ของสนธิสัญญาสันติภาพสันติภาพกรุงปารีส (The Paris Peace Accords ) ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการของสงครามกัมพูชา - เวียดนาม แต่ย้อนไปปีค.ศ. 1991 สันติภาพนี้เป็นเพียงสันติภาพในแผ่นกระดาษ ซึ่งทูตณัฏฐวุฒิอธิบายว่า ยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก ไม่ว่าเลือกตั้งที่เขมรแดงก็ไม่เข้าร่วม กว่าจะหมดอาฟเตอร์ช็อกก็ต้องรอจนถึงค.ศ. 1997 ระหว่างนั้นมีรัฐบาลสองฝ่ายมาตลอด และแต่ละฝ่ายก็มีกองกำลังของตัวเอง ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเป็นแบบนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญปรับปรุงใหญ่ใหญ่โตกว่าเดิม "วันนี้ถ้าจะดูว่ากัมพูชามีการพัฒนาการดีขึ้นหรือไม่ ต้องเปรียบเทียบกับเมื่อ20 ปีที่แล้ว สมัยก่อนไม่ได้มีไฟฟ้าเช่นนี้ เพราะแค่ยุคพอล พต 3 ปี ก็ตายไปแล้ว 3 ล้าน แล้วยังมีสงครามต่อเนื่องคนอพยพอีก ปัญญาชนไหลออกไปนอกประเทศหมด กัมพูชาต้องมาสร้างประเทศใหม่จากศูนย์" แม้จะตั้งหลักช้า แต่กัมพูชามาได้ไกลมาก วันนี้ในสายตาทูตไทยมองนโยบายปริวรรติเงินตราของกัมพูชาถือว่าเสรีที่สุด ถือเงินดอลลาร์เข้ามาก็จ่ายเป็นดอลลาร์ เอาเงินออกก็ถือเงินดอลลาร์ออกไป อัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่แกว่งมาก อยู่ที่ 4,050 -4,100 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อันนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับนักลงทุน เพราะไม่ต้องไปรับอัตราเสี่ยงเสถียรภาพเงินเรียล หรือเสี่ยงว่านโยบาบจะเปลี่ยนหรือไม่ จะเอาเงินออกนอกประเทศได้หรือไม่ เหล่านี้ไม่ต้องกังวลเลย ที่นี่มีธนาคาร 36 แห่ง ธนาคารของไทยที่เข้ามาแล้วก็ได้แก่ กรุงไทย กัมพูชาพาณิชย์ (ไทยพาณิชย์) ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย นอกจากนี้ก็ยังมีธนาคารจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม เข้ามา เรียกว่าทุกคนมาที่นี่หมด เพราะเสรีทางการเงิน ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางแข่งกับสิงคโปร์ก็เป็นได้ เรายังได้สอบถามถึงสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของกัมพูชา กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งหลังสุดที่พรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะ ทูตณัฐฏวุฒิออกตัวก่อนว่าไม่ได้เข้าข้างผู้นำกัมพูชา แต่เข้าใจความรู้สึกถึงความยากลำบากในการสร้างประเทศ พูดอย่างยุติธรรม การที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซนปกครองประเทศมาก็สร้างสิ่งที่ดีให้กัมพูชาไม่น้อย เช่น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามามหาศาล เพราะเพียงแค่เงินในประเทศเองคงไม่สามารถทำอย่างทุกวันนี้ได้ ยกตัวอย่างสนามบิน ท่าเรือ ถนน สะพานต่างๆ ก็ล้วนเป็นการสร้างโดยต่างชาติ การมีนโยบายค่อนข้างเปิดเสรี และทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ บ้านเมืองมั่นคง สร้างบรรยากาศที่เสรีเอื้อประโยชน์แก่ผู้ลงทุน เงินทุนก็ไหลมา มีอาคารสูงผุดขึ้นใหม่ในกรุงพนมเปญจำนวนมาก ประเด็น "เสรีภาพสื่อ" ก็เป็นที่น่าจับตามองในฐานะที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ทูตณัฐฏวุฒิกล่าวว่า สื่อกัมพูชามีเสรีภาพในระดับหนึ่ง แน่นอนรัฐบาลนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการนำประเทศไปสู่การพัฒนาต้องเริ่มด้วยการมี "สันติภาพ" เมื่อมีสันติภาพ ก็จะสามารถทำให้มีเสถียรภาพได้ทั้งการปกครอง ระบอบกฎหมาย และระบบอื่นๆ โดยเฉพาะกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่ผ่านสงคราม ผ่านความขัดแย้งมาทั้งภายในเอง และกับต่างประเทศด้วย เป็นประเทศที่เคยอ่อนแอมาตลอด 30 - 40 ปี การจะให้มีเสรีภาพแบบตะวันตก 100 % คงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีบางส่วนต้องควบคุม เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เพราะหากไร้เสถียรภาพแล้ว การกำหนดนโนยบายต่างๆ ก็จะยาก เนื่องด้วยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ "สำหรับสื่อก็ไม่ได้ปิดช่องไม่ให้หายใจเลย ว่าไปแล้วแม้กระทั่งสื่อที่อยู่ภายใต้กำกับทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อมของพรรคก็ค่อนข้างเสรีระดับหนึ่ง รัฐมนตรีก็ดี ตำรวจ ทหารก็มีความเกรงกลัว เพราะสามารถถูกนำเสนอข่าวได้ตลอด ในสื่อต่างชาติ สื่อออนไลน์ ก็สามารถเข้าถึงได้ รัฐบาลไม่เคยไปบล็อค หรือตัดช่องทางรับรู้ของประชาชน สื่อออนไลน์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยม เช่น VOA RFA RFI รวมทั้ง BBC ก็ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ เพราะวิธีการนำเสนอทันสมัย ก้าวหน้า เครื่องมือพร้อมกว่า ส่วนสื่อกระแสหลักถ้าใครมีทุนอยากจะทำก็เปิดเสรี มีสิทธิทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่แน่นนอนก็มีความได้เปรียบเสียเปรียบ สื่อใหญ่สื่อเล็กไม่เท่ากัน" ช่วงที่ผ่านมานี้ จะเห็นได้ว่าตัวนายกรัฐมนตรีฮุน เซนเองก็ปรับตัว จากเมื่อก่อนที่เคยพูดไว้ว่าในชีวิตนี้จะไม่ใช้เฟซบุ๊ค จะไม่เป็นนักการเมืองตามอินเตอร์เน็ต วันนี้ก็กลับมาใช้ ซึ่งปัจจุบันหน้าเพจของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มียอดไลค์แล้ว 5.4 ล้าน และเมื่อปีที่ผ่านมาก็ได้มอบนโยบายให้แก่ผู้นำส่วนราชการ คณะรัฐมนตรีทุกคนต้องมีเฟซบุ๊ค และต้องมีการเคลื่อนไหวด้วย แต่ละสังเกตได้ว่าข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะไม่เป็นทางการอย่างเดียว แต่เป็นการนำเสนอสร้างภาพในฐานะคนธรรมดาในมุมสบายๆ อยู่กับครอบครัว ใกล้ชิดประชาชน เรียกว่า วันนี้ภาพลักษณ์เป็นผู้นำที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งการปรับตัวด้านสื่อของผู้นำเพื่อเข้าหาประชาชน คณะสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ