จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีลักษณะพื้นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะ และมีแม่น้ำไหลผ่าน 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อย จึงทำให้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอท่าเรือ อำเภอบ้านแพรก อำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอมหาราช ดังนั้น การเสริมองค์ความรู้จากภาควิชาการผ่านงานวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและทำให้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก สามารถรับมือและแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.กมลวรรณ วรรณธนัง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เล่าถึงที่มาของแผนบูรณาการวิจัยการเสริมสุขภาวะ และพัฒนาศักยภาพประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมเชิงบูรณาการตามแนวประชารัฐ โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ว่า จากการลงพื้นที่ของมหาวิทยาลัย พบว่าปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงนำไปสู่การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 คณะ ประกอบด้วย คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ โดยได้จัดทำแผนงานจำนวน 4 โครงการ ได้แก่
1.รูปแบบการบริหารจัดการภัยพิบัติในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2.รูปแบบการเฝ้าระวังป้องกันน้ำท่วมซ้ำซากในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3.รูปแบบของอากาศยานไร้คนขับที่เหมาะสมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และ
4.การเสริมสุขภาวะและพัฒนาศักยภาพประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมเชิงบูรณาการของอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยให้ท้องถิ่นสามารถเตรียมการรับมือ และบริหารจัดการภัยพิบัติพื้นที่น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยที่มาของรูปแบบการบริหารจัดการภัยพิบัติพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาจากการเก็บข้อมูลแบบสอบถาม และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระบบพิบัติ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนการเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังการเกิดภัย มีรายละเอียดดังนี้
1.ระยะก่อนเกิดภัย ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเกิดอุทกภัยขึ้นเป็นประจำทุกปี การดำเนินงานในระยะนี้ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเร่งดำเนินการ คือ การจัดทำแผนเผชิญเหตุน้ำท่วม ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับท้องถิ่น และระดับชุมชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำด้วย พร้อมเตรียมระบบการติดต่อสื่อสาร การให้ความรู้แก่ประชาชนในการเตรียมการเผชิญเหตุ การเตรียมจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การเตรียมปัจจัยสี่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสิ่งสำคัญคือการพัฒนาระบบการพยากรณ์ และการแจ้งเตือนภัยของระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ที่ข้อมูลถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว ตอบสนอง ต่อสถานการณ์
2.ระยะระหว่างเกิดภัย จะต้องตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเพื่อช่วยประชาชนทันที โดยจัดระบบการช่วยเหลือที่ต้องกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ และจัดระบบการรักษาสุขภาวะเพื่อดูแลผู้ประสบภัย รวมถึงการจัดระบบรักษาความปลอดภัยในช่วงเวลากลางคืน และสิ่งสำคัญที่สุด คือการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบทุกช่องทางอย่างทั่วถึง
3.ระยะหลังจากเกิดภัย จุดมุ่งหมายที่สำคัญ การให้ความช่วยเหลือการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ผู้ประสบภัยโดยเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว พร้อมจัดการสภาพแวดล้อม การฟื้นอาชีพให้แก่ผู้ประสบภัย สร้างขวัญ และกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมถ่ายทอดบทเรียน ทบทวนแผน และจัดแผนเผชิญเหตุ
สำหรับรูปแบบการเฝ้าระวังป้องกันน้ำท่วม ผศ.ดร.กมลวรรณ กล่าวว่า จะต้องให้ความรู้กับประชาชน หรือจัดทำเป็นสื่อประชาชนสัมพันธ์ ให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้รับรู้ข่าวสาร และรู้จักวิธีการป้องกันตนเองในภาวะที่เกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการดำเนินการเสริมสุขภาวะและพัฒนาศักยภาพประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมเชิงบูรณาการ คือบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.เป็นแกนนำหลักสำคัญในการแก้ปัญหาภายในชุมชน วิเคราะห์ สังเคราะห์ ปัญหาของชุมชน ร่วมวางแผน กำหนดกิจกรรมการเสริมสุขภาวะของประชาชน ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง


