เขียนโดย หลี่ เจิงขวุย, เริ่น เหวยตง, จาง เหล่ย, ไช่ หลิน และหยาง ยี่ฟู
การประชุมช่วงแรกของสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 15 (COP15) จัดขึ้นที่เมืองคุนหมิงของจีน
การประชุมช่วงที่ 1 ของสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 15 (COP15) จัดขึ้นที่เมืองคุนหมิงของจีน ระหว่างวันที่ 11 - 15 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ถือเป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติจัดการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับอารยธรรมทางนิเวศวิทยา โดยมีผู้แทนจำนวนกว่า 5,000 คนจากประเทศภาคีกว่า 140 ประเทศ ตลอดผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศกว่า 30 แห่งเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์
คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ภารกิจแห่งศตวรรษที่ 21
ประเด็นของการประชุมครั้งนี้ คือ “อารยธรรมทางนิเวศวิทยา ร่วมกันสร้างสรรค์ประชาคมสิ่งมีชีวิตบนโลก” ซึ่งมีความหมายแฝงอย่างลึกซึ้งที่มนุษยชาติกับระบบนิเวศมีชะตากรรมร่วมกันโดยจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสียหายพร้อมกัน
จากสถิติพบว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรจำนวนกว่า 3,000 ล้านคนบนโลกต้องพึ่งพาอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพของมหาสมุทรและชายฝั่งทะเล ประชากรจำนวนกว่า 1,600 ล้านคนต้องพึ่งพาอาศัยป่าและผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้ (Non Timber Forest Product: NTFP) ในการทํามาหากิน ส่วนประกอบของยาชนิดต่าง ๆ กว่า 50% บนโลกมาจากสัตว์ป่าและพืชป่า ทว่าสายพันธุ์ต่าง ๆ สูญพันธุ์เร็วยิ่งขึ้น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการเสื่อมสภาพของระบบนิเวศกลายเป็นความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อการดำรงอยู่และการพัฒนาของมนุษยชาติ
รายงานสหประชาชาติระบุว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1990 - 2020 พื้นที่ป่าไม้บนโลกถูกทำลายไป 1.78 ล้านตารางกิโลเมตร สัตว์และพันธุ์พืชนับหนึ่งล้านชนิดเผชิญการสูญพันธุ์ ในจำนวนนี้มีสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมายมีความเป็นไปได้ที่จะสูญพันธุ์ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ความเร็วของการสูญพันธุ์ในปัจจุบันคิดเป็นหลายสิบเท่าตลอดจนหลายร้อยเท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ล้านปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มจะรวดเร็วยิ่งขึ้น
นางอมีนา โมฮัมเหม็ด (Amina J. Mohammed) รองเลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า การอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติเป็นงานเชิงชี้ขาดในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงสำคัญ
ด้านนางเอลิซาเบท มูเรมา (Elizabeth Murema) เลขานุการฝ่ายบริหาร ประจำสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวเน้นว่า การคุ้มครองและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพต้องมีผลคืบหน้าเชิงรุกมากยิ่งขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า หากจะบรรลุเป้าหมายที่มนุษยชาติกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนภายในปี ค.ศ. 2050 ก็ต้องทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มฟื้นตัวในปี ค.ศ. 2030
ปฏิญญาคุนหมิงส่งผลต่ออนาคตของมนุษยชาติและชะตากรรมโลก
วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา การประชุมระดับสูงของ COP15 ผ่านปฏิญญาคุนหมิงอย่างเป็นทางการ โดยรวบรวมฉันทามติจากฝ่ายต่าง ๆ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นทางการเมืองของฝ่ายต่าง ๆ ที่จะใช้ปฏิบัติการรับมือความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและร่วมกันสร้างสรรค์ประชาคมของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งจะมีบทบาทชี้นำต่อการกำหนดและดำเนินกรอบความหลากหลายทางชีวภาพโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ตลอดจนกำหนดทิศทางการปรึกษาหารือและการเจรจาที่เกี่ยวข้องในวันข้างหน้า
ปฏิญญาคุนหมิง ระบุว่า จะประกันให้กำหนด ผ่าน และดำเนินกรอบความหลากหลายทางชีวภาพโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเปลี่ยนแนวโน้มการสูญเสียความหลากลายทางชีวภาพในปัจจุบัน รวมทั้งประกันให้ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการฟื้นฟูอย่างช้าสุดภายในปี ค.ศ. 2030 ตลอดจนบรรลุวิสัยทัศน์แห่งปี ค.ศ. 2050 อย่างรอบด้านที่มนุษยชาติกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
นายหลี่ จวุ่นเซิง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจีน ระบุว่า “ปฏิญญาคุนหมิงมีเอกลักษณ์ 3 ประการ ได้แก่ มีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์” ภายใต้สถานการณ์ที่โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก รวมไปถึงสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพโลกลดลงอย่างรวดเร็วยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น การผ่านปฏิญญาคุนหมิงเป็นเรื่องทันท่วงที ถือเป็นการชี้นำต่องานการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในอีก 10 ปี ตลอดจน 20 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันปฏิญญาฉบับนี้ยังทำให้เป้าหมายต่าง ๆ ทุกประการต่างมีการประเมินตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วย
ปฏิบัติการของจีนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้วยแนวทางจากแนวคิดอารยธรรมทางนิเวศวิทยาของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จีนยึดมั่นหลักการระบบนิเวศมาก่อนและการพัฒนาแบบสีเขียว ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพกับการบรรเทาความยากจนสอดประสานกัน เข้าร่วมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโลกอย่างลงลึก อีกทั้งยังมีประสิทธิผลอย่างเห็นได้ชัดในการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพจึงได้รับการรับรองในวงกว้าง
นางอินเก อันเตอร์สัน (Inge Anderson) ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ของจีนวางยุทธศาสตร์ครอบคลุมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่น่าศึกษาเรียนรู้ของประเทศต่าง ๆ ที่มุ่งสู่การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ
ด้านนางเอลิซาเบท มูเรมา (Elizabeth Murema) เลขานุการฝ่ายบริหาร สำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า จากการใช้มาตรการคุ้มครองทรงพลัง จีนได้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์สายพันธุ์ต่าง ๆ และอยู่ในบัญชีสีแดงของสหพันธ์อนุรักษ์ธรรมชาติสากล หรือ IUCN ให้ดีขึ้น ด้านการประมงจีนดำเนินโครงการห้ามจับปลาในแม่น้ำฉางเจียงเป็นเวลา 10 ปี นอกจากนี้ยังรณรงค์หยุดจับปลาและห้ามจับปลาทะเลในฤดูร้อนอีกด้วย ด้านการอนุรักษ์ป่าไม้จีนได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูและโครงการชดเชยทางระบบนิเวศเพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่อยู่รอบพื้นที่ป่ามีความกระตือรือร้นในการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพโดยการเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าของจีนอย่างต่อเนื่อง
ดังที่นางเอลิซาเบท มูเรมา ระบุว่า หลายปีมานี้จีนได้กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติประเภทต่าง ๆ ในระดับต่าง ๆ นับหมื่นกว่าแห่ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 18% ของเขตแดนบนบกทั้งหมดของจีน ช่วยให้สัตว์และพืชป่าสำคัญต่าง ๆ ที่รัฐบาลให้อนุรักษ์ถึง 71% ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ แพนด้าที่ใกล้สูญพันธุ์เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1,114 ตัว เป็น 1,864 ตัวในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จำนวนนกช้อนหอยหงอนในจีนเพิ่มจาก 7 ตัว เป็นกว่า 5,000 ตัวในปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้และจำนวนต้นไม้ต่างเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 30 ปี กลายเป็นประเทศที่มีทรัพยากรป่าไม้มากที่สุดในโลก สร้างความเป็นไปได้อย่างใหญ่หลวงในการฟื้นฟูระบบนิเวศ
หลังการประชุม COP15 นางเอลิซาเบท มูเรมา ชื่นชมการประชุมครั้งนี้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก บรรลุเป้าหมายทุกประการที่คาดไว้ เธอยังระบุด้วยว่า จีนประกาศจะลงทุน 1,500 ล้านหยวนตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพคุนหมิง เพื่อสนับสนุนภารกิจคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศกำลังพัฒนา “สำหรับเรานี่เป็นผลสำเร็จที่สำคัญ”
นางเอลิซาเบท มูเรมา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า จีนกลายเป็นผู้นำการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพโลก โดยจะแสดงบทบาทแกนนำนี้ต่อไป ประสบการณ์ของจีนเป็นที่ศึกษาเรียนรู้ของประเทศต่าง ๆ บนโลก ตลอดจนจะนำไปประยุกต์ใช้ตามสภาพความเป็นจริงของแต่ละประเทศ
แปลโดยโจว ซวี่
ตรวจแก้โดยทิม สันตสมบัติ