บทความโดย โจว เมิ่งสวง และ หยาง อี้ฟู ประเทศจีนมีอาณาเขตกว้างใหญ่ทั้งทางบกและทางทะเล มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ซับซ้อนและหลากหลายหล่อเลี้ยงระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีจำนวนชนิดของพืชพันธุ์สัตว์ป่ามากเป็นลำดับต้นๆของโลก การประชุมสมัชชาภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพครั้งที่ 15 แห่งสหประชาชาติ(COP15) ได้แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จอันโดดเด่นในการคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชของท้องที่ต่างๆ ในจีน ซึ่งถือเป็นแบบอย่างให้กับประชาคมระหว่างประเทศ ปกป้องเขตอนุรักษ์ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากที่สุดในโลก ใน สถานที่จัดการประชุมสมัชชาครั้งนี้ ก๋ง จื่อหลิง เจ้าหน้าที่วิจัยวิทยาศาสตร์จากศูนย์อนุรักษ์เสือดาวหิมะภูเขาโชโมลังมา แสดงภาพที่ใกล้จะตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อ "โชโมลังมา - ดินแดนลึกลับของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก" เพื่อแนะนำให้แขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมการประชุมได้รู้จักสัตว์พิเศษในเขตอนุรักษ์ ที่เจ้าหน้าที่วิจัยวิทยาศาสตร์ได้บันทึกไว้ในการสำรวจพิเศษภาคสนาม 5 ครั้ง เมื่อปี 2017 ด้วยใจรักในการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ก๋ง จื่อหลิง ในวัย 29 ปี เดินทางออกจากปักกิ่งเพื่อไปทำงานในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติภูเขาโชโมลังมาในทิเบตในตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารของศูนย์อนุรักษ์เสือดาวหิมะภูเขาโชโมลังมา “ในความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก พื้นที่โชโมลังมาอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากมีหิมะตกหนักและลมแรง เป็นสถานที่ที่ยากต่อการอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิต แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม” ก๋ง จื่อหลิง กล่าวว่าในเขตอนุรักษ์ภูเขาโชโมลังมานั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชและสัตว์ป่านานาชนิด มีสัตว์ป่าที่รัฐให้การคุ้มครองเป็นพิเศษอันดับหนึ่ง 20 สายพันธุ์ เช่น เสือดาวหิมะ ลิงอ้ายเงียะ และหิมาลายันทาร์ มีสัตว์ป่าที่รัฐให้การคุ้มครองเป็นพิเศษในลำดับที่สอง 64 สายพันธุ์ เช่น หมีดำ หมีสีน้ำตาล และเนื้อทรายทิเบต และมีพืชที่รัฐให้การคุ้มครองเป็นพิเศษ 81 สายพันธุ์ เช่น West Himalayan Yew และ Cypripedium elegans Rchb. f. เป็นต้น ในปี 2013 อดีตกรมป่าไม้เขตปกครองตนเองทิเบตและมูลนิธิวั่นเคอได้ร่วมกันประกาศ "แผนคุ้มครองเสือดาวหิมะภูเขาโชโมลังมา" และได้จัดตั้งศูนย์คุ้มครองเสือดาวหิมะโชโมลังมาขึ้นในปี 2014 โดยได้ให้การสนับสนุนเยาวชนที่มีความสามารถกว่า 30 คนเข้าร่วมงานวิจัยวิทยาศาสตร์ในศูนย์ฯ ให้ความรู้กับนักวิชาการเยาวชนระดับปริญญาโทและเอก 15 คน ได้สนับสนุนทีมงานบริหารและคุ้มครองมืออาชีพที่ประกอบด้วยเกษตรกรและปศุสัตว์ราว 200 คน ในการยกระดับความสามารถด้านการบริหารและคุ้มครอง ขณะเดียวกันพื้นที่แกนกลาง 8 แห่งในท้องถิ่นได้จัดตั้งสถานีบริหารจัดการหรือสถานีตรวจการเข้าถึงเขตภูเขาจำนวน 20 แห่ง นำมาซึ่งการเสริมสร้างการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนกลายเป็นพลังปกป้องที่สำคัญ จาง หย่งเซิง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอารยธรรมนิเวศวิทยาของสภาสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีนได้แนะนำในฟอรั่มเกี่ยวกับหัวข้อการประชุมสมัชชาครั้งนี้ว่า การสำรวจที่เสร็จสิ้นโดยทีมของเขาแสดงให้เห็นว่าประชาชนจีนประมาณ 55% เห็นว่า การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนำมาซึ่งโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจจำนวนมาก อนาคตแห่งการพัฒนาจะดีขึ้นเรื่อย ๆ มีประชาชนประมาณ 10% เห็นว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของการสร้างสรรค์อารยธรรมทางนิเวศวิทยาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนจีนทั่วไปได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อคุ้มครองป่าชายเลนที่สำคัญในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำริมชายฝั่งทะเลของจีน อุทยานเชิงนิเวศป่าชายเลนฝูเถียนในเมืองเซินเจิ้นได้พัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการศึกษาธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ให้บริการการศึกษาธรรมชาติแก่ประชาชนทั่วไปตามระยะเวลาที่กำหนด และได้จัดตั้งทีมอาสาสมัครมืออาชีพจำนวน 359 คน เข้าร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของอุทยาน ซึ่งถือเป็นรูปแบบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่ภาคสังคมมีส่วนร่วม ฐานข้อมูลออนไลน์ "ศูนย์บันทึกการดูนกแห่งประเทศจีน" ที่บริหารโดยสถาบันวิจัยนกจาบปีกอ่อนสีกุหลาบเมืองคุนหมิง โดยอาศัยสมาชิกฐานข้อมูลที่มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจำนวนเกือบ 15,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้ที่ชื่นชอบการดูนก เจ้าหน้าที่วิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ธรรมชาติด่านหน้า สามารถบันทึกนกจำนวน 1,321 สายพันธุ์ที่เคยพบในประเทศจีน สถานที่ในการบันทึกครอบคลุมหน่วยงานปกครองระดับอำเภอทั่วประเทศในสัดส่วน 71.44% ปัจจุบันโครงการนี้กำลังขับเคลื่อนการแบ่งปันข้อมูลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลสัตว์ป่าแห่งชาติและแพลตฟอร์มการคุ้มครองระหว่างประเทศ ข้อมูลที่รวบรวมและเรียบเรียงโดยประชาชนจีนได้ให้การสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการคุ้มครองนกป่า เมืองยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนานาชนิด "การพึ่งพาเขตอนุรักษ์ธรรมชาติเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอในการยับยั้งและเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ยังคงมีพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอาศัยอยู่ในเมืองเป็นจำนวนมาก มีศักยภาพอันมหาศาลในการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ" หลี่ว์ จื๋อ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวย้ำ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศจีนประสบผลสำเร็จอย่างมากในการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง ในการประกวด "100+ กรณีตัวอย่างของความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก"แห่งการประชุมสมัชชา COP15 มีหลายกรณี เช่น "ชุมชนอนุรักษ์ธรรมชาติภายในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง" และ "สุนัขแรคคูนถือเมืองเป็นบ้าน: ชาวบ้านผู้รักวิทยาศาสตร์ส่งเสริมการวิจัย คุ้มครองและการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง" ชนะการประกวด ในฐานะเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวในเมืองที่มีชนิดของพันธุ์พืชและสัตว์พื้นเมืองที่หลากหลายที่สุดในจีน ตามข้อมูลที่บันทึกไว้มีนกประมาณ 230 สายพันธุ์ พืชที่สูงกว่า 600 สายพันธุ์ สัตว์เดรัจฉาน 15 สายพันธุ์ ปลา 26 สายพันธุ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน 14 สายพันธุ์ ผีเสื้อ 27 สายพันธุ์ และแมลงปอ 26 สายพันธุ์ “หวังว่าจะใช้มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นต้นแบบ นำเสนอรูปแบบที่สามารถเผยแพร่เพื่อบรรลุการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติท่ามกลางกระบวนการขยายตัวของเมือง” ถัน หลิงตี๋ ผู้ยื่นเสนอโครงการและเจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติซานส่วยกล่าวว่าหวังว่าในอนาคตอันใกล้ มหาวิทยาลัย สวนสาธารณะและแม้กระทั่งพื้นที่สีเขียวในชุมชนทั่วประเทศจีนจะสามารถกลายเป็นสถานที่ทำความเข้าใจ สร้างความสุขและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของผู้คนทั่วไป สุนัขแรคคูนเป็นสัตว์ที่รัฐให้การคุ้มครองเป็นพิเศษในลำดับที่ 2 ซึ่งเกิดและเติบโตในประเทศจีน ในอดีตชาวเมืองเซี่ยงไฮ้เคยไม่เข้าใจสัตว์ชนิดนี้สร้างความตกใจให้กับชาวเมืองจำนวนมาก และเนื่องจากเคยให้อาหารแมวกับสุนัขแรคคูน ทำให้จำนวนสุนัขแรคคูนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความรำคาญให้กับชีวิตของชาวเมืองจำนวนมาก หวัง ฟ่าง นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพของมหาวิทยาลัยฝูตั้น กล่าวว่าทีมวิจัยได้ช่วยหน่วยงานป่าไม้ในการสร้างเครือข่ายตรวจสอบปริมาณและพฤติกรรมของสัตว์ป่าในเมือง กำหนดแผนรับมือเหตุฉุกเฉินการปะทะระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และได้ดำเนินการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและการปรึกษาหารือกันในชุมชนสำคัญจำนวนหนึ่ง ลดความตื่นตระหนกต่อสัตว์ป่าของชาวเมืองบางส่วน ทุกวันนี้จากการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครชาวเมืองหลายร้อยคน ทำให้ "การอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับสุนัขแรคคูน" กลายเป็นความจริง ซึ่งสะท้อนถึงผลสำเร็จในการสร้างสรรค์อารยธรรมนิเวศวิทยาในเมืองอย่างแท้จริง แปลโดย ลู่ หย่งเจียง ตรวจแก้โดย ศิวัตรา สินพสุธาดล