นายปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการด้านบูรพคดีศึกษา โพสต์ เฟซบุ๊กส่วนตัวเตือนว่า...พระ ๒ รูปทำผิดพระวินัยข้อไหน? ๑.พระสงฆ์เป็นบรรพชิตผู้ออกบวช ไม่มีเรือน และต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ปกครองประเทศ การใดที่ราชการให้อนุโลมตามที่ไม่ขัดด้วยหลักพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้อนุโลมตาม ดังพุทธวจนะว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชานํ อนุวตฺติตํฯ (วิ.มหา.๔/๒๐๙/๒๗๓) ‘ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อนุวัตรตามนโยบายรัฐบาล’คำว่า ราชานํ อนุวตฺติตุ ผมแปลว่า ‘ให้อนุวัตรตามนโยบายรัฐบาล’ เพื่อให้เหมาะแก่บริบทเนื่องจากในสมัยโบราณ บรรดาประเทศทั้งหลายส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยหรือสมบุรณาญาสิทธิราชย์เมื่อในปัจจุบัน อำนาจพระราชาถูกโอนมาสู่รัฐบาล นโยบายสงฆ์จึงต้องอนุวัตรตามนโยบายรัฐบาลแทน ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่างๆ นโยบายของรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรีใดๆ ออกมาใช้กับประชาชนชาวไทยและไม่ขัดกับวินัยสงฆ์ พระสงฆ์ก็ต้องปฏิบัติตามด้วย ๒.ถ้ามีพระไม่ชอบใจนโยบายรัฐบาล หันไปช่วยพรรคการเมืองบางพรรคเพื่อให้หัวหน้าฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาล เชิดชูพรรคการเมืองบางพรรค ต่อต้านรัฐบาลซึ่งเป็นอีกพรรค ก็จะต้องอาบัติกุลทูสกสิกขาบท สังฆาทิเสสข้อที่ ๑๓ ซึ่งห้ามมิให้พระภิกษุประจบคฤหัสถ์หรือยอมตนรับใช้คฤหัสถ์ เพราะกำลังทำให้พรรคการเมืองบางพรรคศรัทธาตนเพราะ ตนเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล ไม่ใช่ศรัทธาเพราะมีคุณธรรมคือศีล สมาธิและปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงลงโทษพระภิกษุฉัพพัคคีย์ที่ละเมิดพระวินัยข้อนี้ด้วยปัพพาชนียกรรม (วิ.มหา.๔/๖๒๘/๔๒๘) คือขับออกจากสำนักซึ่งจะเป็นที่รังเกียจของภิกษุสงฆ์อื่นๆ ทั่วไปด้วย สมัยนี้ เมื่อถูกขับออกจากวัดแล้ว ไม่เพียงจะอยู่วัดนั้นไม่ได้ ยังอยู่ในท้องที่ซึ่งตนประจบคฤหัสถ์นั้นไม่ได้ด้วย เช่น อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันไม่ได้ อยู่ในถนนเดียวกันไม่ได้ ฯลฯ ต้องอพยพไปที่อื่น หากพระภิกษุประจบสอพลอฆราวาสที่อยู่กรุงเทพมหานคร ก็จะอยู่ในกรุงเทพมหานครอีกไมได้ แปลว่าพระที่ไปขึ้นเวทีการเมืองเพื่อช่วยพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถถูกเจ้าอาวาสลงปัพพาชนียกรรม (ขับออกจากวัด) ได้ เมื่อพระในวัดอื่นๆ รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังแล้วไม่ต้อนรับ ท่านหาสำนักอยู่ไม่ได้ ก็ต้องถูกจับสึกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๓๕ มาตรา ๒๗ วรรค (๓) ที่ว่า ‘ไม่สังกัดอยู่วัดใดวัดหนึ่ง’ และวรรค (๔) ‘ไม่มีวัดใดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง’ ๓.ถ้าภิกษุที่ถูกขับออกจากวัดในข้อ ๒ ยังมีพระที่เป็นเพื่อนกันให้ที่พักพิงอยู่วัดใดวัดหนึ่งได้ แต่ก็ยังทำพฤติกรรมเดิม กล่าวคือไปพบปะกลุ่มการเมืองเพื่อให้กำลังใจอีกฝ่ายโจมตีรัฐบาล ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส ข้อกุลทูสกสิกขาบทซ้ำซาก คณะสงฆ์สามารถสั่งให้จับพระรูปนั้นสึกด้วยพรบ.คณะสงฆ์ฉบับเดิม มาตราที่ ๒๗ วรรค (๒) ‘ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ’ ได้ ๔.ภิกษุที่ละเมิดพระธรรมวินัยบ่อยๆ เช่น เข้าไปก้าวก่ายการเมือง เชิดชูพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือละเมิดสิกขาบทอื่นๆ แม้จะเล็กน้อย เมื่อมีสงฆ์วินัยวาทีที่รู้พระวินัยกว่าได้รับมอบหมายจากฝ่ายปกครองให้ตักเตือน ๓ ครั้ง (เทียบเท่ากับสวดสมนุภาสน์ ๓ ครั้ง)แล้วไม่ทำตาม ยังดื้อแพ่งเข้าไปข้องแวะทางการเมืองอยู่ ไม่เพียงแต่ต้องอาบัติกุลทูสกสิกขาบท ซึ่งเป็นสังฆาทิเสส ข้อ ๑๓ เป็นอาจิณ ยังต้องอาบัติสังฆาทิเสส ข้อทุพพจสิกขาบทที่ ๑๒ ซึ่งเป็นสิกขาบทที่ว่าด้วยภิกษุหัวดื้อหรือสอนยากอีกกระทงเพราะเหตุที่ต้องอาบัติต่างๆ หลายข้อ จึงสามารถถูกจับสึกด้วยพรบ.คณะสงฆ์ฉบับเดิม มาตราที่ ๒๗ วรรค (๒) ‘ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ’ ได้เช่นกัน ๕.ผมเคยติงว่าพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโตโฆษณาสินค้าชนิดหนึ่ง (https://www.youtube.com/watch?v=nSO_-HSm7QM) การโฆษณาสินค้าของท่านนี้ ทำให้ท่านต้องอาบัติสังฆาทิเสส ข้อกุลทูสกสิกขาบทไปเรียบร้อยแล้ว เพราะยอมตนให้คฤหัสถ์ใช้สอย เบื้องหลังจะได้เงินบริจาคจากฆราวาสที่ตนเองสนับสนุนหรือไม่ ไม่มีใครทราบอาบัติสังฆาทิเสสเป็นครุกาบัติ ไม่ว่าท่านจะยอมรับอย่างไรหรือไม่ ท่านต้องไปแล้ว ถ้าอยากกลับมาเป็นพระปกตัตตะหรือกลับมาเป็นพระปรกติ ท่านต้องสารภาพผิดต่อสงฆ์และอยู่ปริวาสกรรมและประพฤติมานัติ ฯลฯ ตามหลักพระวินัย จึงจะกลับมาเป็นพระปรกติเช่นเดิมได้ ลำพังแค่คำขอโทษไม่อาจทำให้ท่านเป็นพระปกติเหมือนพระทั่วไปได้ผมไม่แน่ใจว่าขณะนี้ พระสังฆาธิการฝ่ายปกครองได้โจทย์ท่านเพื่อให้ดำเนินการอยู่ปริวาสกรรมและประพฤติมานัติ ฯลฯ เสร็จเรียบร้อยแล้วหรือยัง? ถ้ายัง แปลว่าท่านต้องอาบัติแล้วปกปิดอาบัติไว้ ไม่ไปสารภาพต่อสงฆ์ ท่านยิ่งจะต้องมีจำนวนวันที่จะต้องอยู่กรรมมากขึ้น รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรต้องเข้าไปตั้งคำถามต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้วละครับว่าได้ดำเนินการไปทางสงฆ์ผู้ปกครองเพื่อชี้ว่าพระมหาสมปองได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสไปแล้วหรือยัง? ถ้ายัง แสดงว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ผิดมาตรา ๑๕๗ ๖.พระ ๒ รูปเปิดช่องยูทูปตนเอง ไม่แน่ใจว่าท่านมีรายได้จากการทำยูทูปหรือปล่าวนะครับ ถ้ามีรายได้ (ซึ่งปรกติจะมี) พฤติกรรมท่านก็เข้าข่ายประพฤตินอกรีต (อุปปถกิริยา) ที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นบรรพชิตไม่พึงทำอุปปถกิริยานี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๓ อย่างคือ ๑.อนาจาร หมายถึงการวางตัวไม่เหมาะสมต่อความเป็นพระ ผู้ดำรงเพศเป็นบรรพชิต ๒.ปาปสมาจาร หมายถึงคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์จนยอมตนไปอาสารับใช้หรือประจบสอพลอให้เขานับถือ ๓.อเนสนา หาเลี้ยงชีพที่ไม่เหมาะสมกับสมณเพศ ถ้าท่านได้เงินจากการทำยูทูปจากยอดไลค์ประจำ ก็แปลว่าท่านแสวงหาเงินด้วยอเนสนาวิธี จัดเป็นพระอลัชชีตามพระวินัยได้ พระวินัยปิฎก (วิ.ปริวาร.๘/๑๐๗๐/๓๙๓) อธิบายความหมายของ *พระอลัชชี* เอาไว้ว่าหมายถึงพระที่ ๑.รู้อยู่แต่ขืนทำ ๒.ปกปิดอาบัติ ๓.ลุอำนาจอคติ ไม่ยึดหลักพระวินัยอย่างตรงไปตรงมา (สญฺจิจฺจ อาปตฺตึ อาปชฺชติ อาปตฺตึ ปริคูหติ อคติคมนญฺจ คจฺฉติ เอทิโส วุจฺจติ อลชฺชิปุคฺคโล) ข่าวว่าพระทั้ง ๒ รูปบวชเรียนมานานจะปฏิเสธว่าไม่รู้พระวินัยไม่ได้ จึงเข้าข่ายเป็นพระอลัชชีตามพระวินัยข้อดังกล่าวเพราะรู้ว่าเป็นอาบัติแต่ก็ยังขืนทำ ควรจะไปหาศึกษาอาชีวปาริสุทธิศีล ๔ โดยเฉพาะให้กระจ่าง จะได้เป็นแนวปฏิบัติ การเปิดยูทูปเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองเข้าข่ายเป็นอเนสนา เป็นการทำมาหากินที่ไม่ชอบกับวิสัยบรรพชิต ผิดวิสัยสมณะ ต้องอาบัติทุกกฎ แม้ว่าอาบัตินี้จะเบา แต่ถ้ากระทำการล่วงละเมิดอยู่ซ้ำซากเป็นเวลาหลายปีแล้ว แสดงว่าไม่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย ไม่สนใจปฏิบัติตามหลักพระวินัยที่ตนเป็นพระควรปฏิบัติตาม จึงสามารถถูกจับจับสึกตามมาตรา ๒๗ วรรค (๒) ‘ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ’ ได้เช่นกัน ๗.ในการทำยูทูปในข้อที่ ๖ พระคงจับจ่ายใช้สอยเงินที่หามาได้ ท่านก็ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ข้อรูปิยสิกขาบท นิสสัคคียปาจิตตีย์ข้อที่ ๘ (ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดีซึ่งทองและเงินหรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์) ท่านต้องสละเงินที่ได้มาจากการประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะนี้ทั้งหมดจึงจะปลงอาบัติตก กลับมาเป็นพระตามปรกติได้ ถ้าท่านใช้เงินที่ได้นั้น ไปซื้อสินค้าต่างๆ ด้วยตนเองโดยไม่มีกัปปิยการกหรือไวยาวัจกร ท่านก็ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ข้อที่ ๙ (ภิกษุใด ถึงความแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ มีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์) ข้อรูปิยสังโวหารสิกขาบทหรือรูปิยสัพโยหารสิกขาบทอีกกระทง ตามพระบาลีว่า โย ปน ภิกฺขุ นานปฺปการกํ รูปิยสํโวหารํ สมาปชฺเชยฺย นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ (วิ.มหา.๒/๑๐๙/๗๔) ๘. ภิกษุที่หาเงินด้วยวิธีทำยูทูปถือว่าเป็น *อลัชชี* เพราะรู้อยู่ว่าเป็นอาบัติซึ่งไม่เหมาะแก่สมณสารูปแต่ขืนทำ การใช้เงินที่ได้มาด้วยวิธีที่ขัดต่อสมณสารูปนี้จัดเป็น ‘อลัชชีบริโภค’ (การใช้สอยแบบคนไร้ยางอาย) ถ้าพระรูปอื่นๆ ในวัดเดียวกันมาร่วมแสดงความยินดีที่มีชื่อเสียงจากการใช้ยูทูปหาเงินและร่วมใช้เงินหรือสินค้าที่ได้จากเงินที่มาจากการทำยูทูปก็เป็น อลัชชีบริโภค เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุรูปเดียวที่เป็นอลัชชี ประกอบอาชีพที่ขัดต่อสมณวิสัย ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักอาชีวปาริสุทธิศีล ๔ จึงสามารถกระทำให้พระอื่นๆ ในวัดเป็นร้อยเป็นอลัชชีตามได้ ตามคำอธิบายพระพุทธโฆสะที่ว่า เอวํ เอโกปิ อลชฺชี อลชฺชิสตํปิ กโรติ (สมนฺตปาสาทิกา, ทุติโย ภาโค, มหาวิภงฺควณฺณนา หน้า ๒๓๑) ถ้าพระสำนึกว่าตนใช้เงินทองจากอเนสนาวิธี ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์เข้าแล้วและต้องการให้หลุดออกจากอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ข้อนี้ ท่านต้องสละเงินที่ได้มาทั้งหมดจึงจะปลงอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ตกตามหลักพระวินัย แต่ว่าจะต้องไม่แสดงพฤติกรรมเหมือนเดิมอีก ถ้าไม่ยอมสละ ทำตามเงื่อนไขพระวินัย แถมต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ข้อนี้บ่อยๆ ซ้ำๆ ซากๆ แต่ไม่เคยแสดงอาบัติหรือรับสารภาพเพราะไม่แคร์พระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ก็สามารถถูกคณะสงฆ์จับสึกได้เพราะต้องอาบัติสังฆาทิเสส ข้อที่ ๑๒ ข้อทุพพจสิกขาบทซ้ำซาก และละเมิดพระวินัยเป็นอาจิณ ตามมาตรา ๒๗ วรรค (๒) ‘ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ’ ได้เช่นกัน ๙.การประจบสอพลอนักการเมืองที่ตนชอบ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสที่ ๑๓ ข้อกุลทูสกสิกขาบทเพราะประจบสอพลอนักการเมืองฝ่ายที่ตนถือข้างอยู่ดังกล่าวข้างต้น แต่ถ้าภิกษุกล่าวกระทบกระแทกแดกดันนักการเมืองอีกฝ่ายหรือฆราวาสที่ตนไม่ชอบ พระพุทธเจ้ายังทรงแนะนำให้สงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม มีปรากฏในวินัยปิฎก จุลลวรรค เล่ม ๖ (วิ.จุลฺล.๖/๑๕๙/๖๘) ซึ่งมีความว่า ‘ภิกษุใดขวนขวายเพื่อตัดลาภของคฤหัสถ์บางคน (ที่ตนไม่ชอบ), ขวนขวายเพื่อให้คฤหัสถ์บางคนเสียผลประโยชน์, ขวนขวายเพื่อมิให้คฤหัสถ์บางคนอยู่ไม่ได้, ด่าว่าเปรียบเปรยคฤหัสถ์บางคนที่ตนไม่ชอบ, ยุยงให้คฤหัสถ์แตกแยกกัน (คิหีนํ อลาภาย ปริสกฺกติ คิหีนํ อนตฺถาย ปริสกฺกติ คิหีนํ อนาวาสาย ปริสกฺกติ คิหี อกฺโกสติ ปริภาสติ คิหี คิหีติ เภเทติ อิเมหิ โข ภิกฺขเว ปญฺจหงฺเคหิ สมนฺนาคตสฺส ภิกฺขุโน อากงฺขมาโน สงฺโฆ ปฏิสารณียกมฺมํ กเรยฺย) ถ้าเข้ากรณีอย่างนี้ สงฆ์ต้องประกาศทำปฏิสารณียกรรมเพื่อให้พระที่ทำไปดำเนินการขอโทษบรรดาคฤหัสถ์ที่เคยรุกรานเสีย สมัยพุทธกาล มีพระรูปหนึ่งชื่อว่าสุธัมม์เคยพูดจาถากถางหรือกระแทกแดกดันจิตตคฤหบดี พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะให้สงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม กล่าวคือให้ไปขอโทษคหบดีที่ตนเองล่วงเกิน ถ้าเจ้าอาวาสหรือพระสังฆาธิการเห็นพระสงฆ์กล่าวถากถางคฤหัสถ์แล้วไม่ดำเนินการอะไร ท่านก็ถูกฟ้องด้วยข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ผิดมาตรา ๑๕๗ เพราะพระสังฆาธิการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย และเมื่อท่านมีพฤติกรรมแบบนี้บ่อยๆ เข้า แม้จะรู้พระวินัยดีแต่ไม่เอื้อเฟื้อพระวินัย ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม คณะสงฆ์สามารถจับสึกได้เพราะละเมิดพระวินัยเป็นอาจิณ ตามมาตรา ๒๗ วรรค (๒) ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขปรับปรุงพ.ศ.๒๕๓๕ ที่ว่า ‘ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ’ ได้เช่นกัน ๑๐.การไลฟ์สดด้วยอาการไม่สำรวมขัดหลักสมณสารูปต้องอาบัติทุกกฎ ข้ออุชชัคฆิกสิกขาบท ๒ ข้อไม่ว่าในอิริยาบถไปหรืออิริยาบถนั่ง ‘ภิกษุไม่พึงหัวเราะด้วยเสียงอันดังเมื่อไปในบ้าน ภิกษุใด ไม่เอื้อเฟื้อพระวินัยข้อนี้ หัวเราะส่งเสียงอันดังเมื่ออยู่ในบ้าน ต้องอาบัติทุกกฎ’ (น อุชฺชคฺฆิกาย อนฺตรฆเร คนฺตพฺพํฯ โย อนาทริยํ ปฏิจฺจ มหาหสิตํ หสนฺโต อนฺตรฆเร คจฺฉติ, อาปตฺติ ทุกฺกฎสฺส) ตามพระบาลีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒ (วิ.มหา.๒/๘๑๐/๕๓๖) ‘ภิกษุไม่พึงหัวเราะด้วยเสียงอันดังเมื่อนั่งในบ้าน ภิกษุใด ไม่เอื้อเฟื้อพระวินัยข้อนี้ หัวเราะส่งเสียงอันดังเมื่ออยู่ในบ้าน ต้องอาบัติทุกกฎ’ (น อุชฺชคฺฆิกาย อนฺตรฆเร นิสีตพฺพํฯ โย อนาทริยํ ปฏิจฺจ มหาหสิตํ หสนฺโต อนฺตรฆเร นีสีทติ, อาปตฺติ ทุกฺกฎสฺส) ตามพระบาลีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒ (วิ.มหา.๒/๘๑๑/๕๓๖) คำว่า ‘ไปในบ้าน’ หรือ ‘นั่งในบ้าน’ ก็ดีในภาษาพระวินัยในที่นี้ ตรงกันข้ามกับอยู่ในวัด หมายถึงเมื่อไปอยู่ต่อหน้าชุมชนสาธารณะซึ่งหากภิกษุไปหัวเราะส่งเสียงดัง ถือว่าเป็นอาการไม่สำรวม การเปิดไลฟ์สดก็คือการอยู่ต่อหน้าสาธารณชนนั่นเอง อาบัติทุกกฎแม้จะเป็นอาบัติเล็กน้อย แต่ทว่าก็แสดงว่าไม่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย เท่ากับลบหลู่พุทธบัญญัติ นอกจากนั้น ถ้ามีภิกษุผู้เป็นพระวินัยวาทีเข้ามาแนะนำตักเตือน ท่านก็ยังดื้อแพ่ง ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ท่านยังเข้าเกณฑ์ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ข้อทุพพจสิกขาบทที่ ๑๒ อีกด้วย เมื่อท่านมีพฤติกรรมแบบนี้บ่อยๆ เข้า คณะสงฆ์สามารถจับสึกได้เพราะละเมิดพระวินัยเป็นอาจิณ ตามมาตรา ๒๗ วรรค (๒) ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขปรับปรุงพ.ศ.๒๕๓๕ ที่ว่า ‘ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ’ ได้เช่นกัน สรุปบางส่วนจาก https://www.blockdit.com/posts/6139dd42579bf82e5d9770d0